พระกฤษณะกับราธา รักบริสุทธิ์ที่พร้อมแลกทุกสิ่ง ตำนานเบื้องหลังเทศกาลสาดสี “โฮลี”

พระกฤษณะกับราธา
พระกฤษณะกับราธา (ภาพ Zedge.net)

เรื่องราวความรักระหว่างพระกฤษณะกับราธา ตำนานความรักที่แม้ไม่ครองคู่กันในบั้นปลาย แต่เต็มเปี่ยมด้วยพลังรักที่ท่วมท้น จนอุปสรรคใดก็ไม่อาจพรากดวงจิตของทั้งคู่จากกันได้

พระกฤษณะ คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ เพื่อมาปราบ “พญากังสะ” อสูรที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว เมื่อพญากังสะรู้ว่าทารกที่เกิดในครรภ์นางเทวากี ลูกพี่ลูกน้องของตนจะเติบโตมาสังหารตัวเองในอนาคต จึงคอยปลิดชีพลูก ๆ ของนางทุกคน แต่กุมารน้อยคนที่ 7 คือ พลราม (อวตารพญาอนันตนาคราช) กับคนที่ 8 พระกฤษณะ สามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือพญากังสะ โดยถูกฝากให้คนเลี้ยงวัวช่วยเลี้ยงดู

พระกฤษณะจึงเติบโตท่ามกลางหมู่คนเลี้ยงวัว และมีชีวิตวัยเยาว์ที่ต้องต่อสู้กับอสูรที่พญากังสะส่งมาทำร้ายพระองค์เรื่อย ๆ แต่ก็สามารถกำราบได้ทุกครั้ง

เมื่อพระกฤษณะเติบโตเป็นหนุ่ม พระองค์เป็นที่หมายปองของเหล่านางโคปี (ภรรยาคนเลี้ยงวัว) แต่มีหญิงเพียงคนเดียวที่ได้เป็นคู่รักของพระกฤษณะ นางมีนามว่า “ราธา”

พระกฤษณะกับราธาชอบพอและหลงรักกันอย่างจริงจัง ราธาเป็นสาวคนเลี้ยงวัว (วรรณะต่ำ) แต่รูปโฉมงดงาม ผิวกายขาวผ่อง ส่วนพระกฤษณะผิวคล้ำ แม้ระลึกได้ว่าตนเป็นอวตารเทพเจ้าและเป็นวงศ์กษัตริย์ แต่ก็อดน้อยใจเรื่องสีผิวไม่ได้ จึงไปตัดพ้อกับมารดาว่าทำไมตนกับราธาจึงต่างกันนัก ไม่ยุติธรรมเสียเลย

มารดาจึงแกล้งบอกให้พระกฤษณะเอาสีไปป้ายหน้าราธา พระกฤษณะทำตามนั้นจริง ๆ แต่เพราะทั้งคู่รักกันอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ จึงป้ายสีกันไปมา เปรียบเสมือนการรับรักของกันและกัน

เรื่องราวนี้เป็นที่มาของเทศกาล “โฮลี” เทศกาลสาดสีของชาวฮินดู

เทศกาลโฮลี อินเดีย
เทศกาลโฮลี หรือเทศกาลสาดสีในอินเดีย (ภาพโดย Pavan Prasad ใน Pixabay)

แม้พระกฤษณะจะต้องไปทำภารกิจปราบอสูรและปกครองบ้านเเมือง จนมีชายาเป็นชนชั้นสูงมากมาย แต่ความรักที่พระองค์มีต่อราธา และความรักของราธาต่อพระองค์ ยังหนักแน่นไม่เสื่อมคลาย

เมื่อต้องอยู่ห่างไกล พระกฤษณะมักจะเอ่ยนามหรือรำพึงรำพันถึงนางด้วยความรักมั่นที่มีต่อกัน พอบรรดารานีชายาของพระองค์ เช่น พระนางรุกมณี และคนอื่น ๆ ได้ยินจึงพากันริษยาราธา ได้แต่ถามพระกฤษณะว่า “ราธามีดีอะไร พระองค์จึงถวิลหาและหมกมุ่นถึงนางทั้งที่อยู่กับพวกเรา” พระองค์ก็ทรงบอกเพียงว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่งพวกนางจะเข้าใจเรื่องนี้

หลังจากนั้น พระกฤษณะเกิดประชวรปวดพระนาภี (สะดือ) อย่างรุนแรง ไม่ว่ารักษาอย่างไรก็ไม่หายจากความเจ็บปวด เมื่อฤๅษีนารทมุณีมาเยี่ยมพระองค์ เหล่าชายาจึงเข้าไปถามฤๅษีว่าจะรักษาอาการของพระสวามีอย่างไรได้บ้าง ฤๅษีตอบกลับว่า โรคนี้รักษาไม่ยาก เพียงบุคคลที่รักพระกฤษณะมากที่สุดเอาทรายใต้เท้าหรือที่เหยียบอยู่มาจุ่มน้ำ แล้วเอาน้ำนั้นมาให้พระกฤษณะเสวย เท่านี้พระองค์ก็จะหายจากประชวร

…แต่บุคคลนั้นจะต้องตกนรกอย่างน้อยหนึ่งกัลป์

ปรากฏว่าเหล่าชายาพากันกลัวตกนรก จึงออกอาการบ่ายเบี่ยงที่จะออกตัวให้การรักษา แล้วส่งคำแนะนำของฤๅษีนารทมุณีไปถึงหูของราธาแทน เมื่อนางทราบเรื่องก็เกิดกระวนกระวายใจอยากช่วยพระกฤษณะให้พ้นความทุกข์ทรมานอย่างที่สุด

ราธากล่าวว่า “ไม่ว่าต้องตกนรกกี่กัลป์ก็ยอม เพราะไม่อาจทนดูพระกฤษณะเจ็บปวดได้”

ราธา
ราธา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เมื่อนางเอาทรายที่สัมผัสเท้าใส่น้ำ แล้วมอบให้ฤๅษีนารทมุณีทูลถวายพระกฤษณะ พระองค์ได้เสวยก็หายจากประชวรทันที แล้วจึงบอกแก่ชายาทั้งหลายที่ห้อมล้อมอยู่นั้นถึงเหตุผลที่พระองค์ยังทรงคิดถึงแต่ราธาไม่เสื่อมคลาย เพราะความรักที่นางมีต่อพระองค์นั้นบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ เป็นความรักที่ไม่แสวงหาความสุขทางโลกและหนักแน่นอย่างแท้จริง

“นางมีหัวใจที่แน่วแน่ต่อเรา ท่องนามของเราตลอดเวลา เราต้องตอบแทนด้วยการระลึกถึงนางตลอดเวลาเช่นกัน พระกฤษณะกล่าว เหล่าชายาได้ทราบเรื่องจึงรู้สึกละอายใจ

ราธาจึงเป็นตัวอย่างของการหลุดพ้นจากความอยากทางโลก ปราศจากความเห็นแก่ตัว มอบกายถวายใจอย่างสมบูรณ์ต่อพระกฤษณะ และได้รับการกราบไหว้บูชาคู่กับพระองค์เสมอ

พระกฤษณะกับราธา
พระกฤษณะกับราธา (ภาพโดย Infinite Eyes ใน Flickr)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Britannica. Radha. Retrieved February 7, 2025. From https://www.britannica.com/topic/Radha-Hindu-mythology

ศรีมณเฑียร ทรรศน์, สมาคมฮินดูสมาช. พระนางราธา ยอดสาวกผู้ภักดีของพระกฤษณะ. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568. จาก https://www.siamganesh.com/krishna.html

ปัทมน ปัญจวีณิน, National Geographic Thailand. โฮลี : เทศกาลสาดสีแห่งแดนภารตะ. 25 เมษายน 2561. จาก https://ngthai.com/cultures/10026/the-story-of-holi-festival/2/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568