ทวารกา เมืองโบราณใต้น้ำในมหากาพย์ “มหาภารตะ” แอตแลนติสแห่งอินเดีย

ทวารกา เมือง พระกฤษณะ ใน มหาภารตะ
ภาพเขียน กรุงทวารกา นครของพระกฤษณะ ในมหาภารตะ ศิลปะแบบโมกุล, ผลงานของ Kesu Kalan ปี 1585 (ภาพจาก National Museum of Asian)

ทวารกา เมืองโบราณใต้น้ำในมหากาพย์ “มหาภารตะ” แอตแลนติสแห่งอินเดีย ที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลกใต้น้ำในเส้นทางสายไหม 

ทวารกา (Dvaraka, Dwaraka, Dwarka) เป็นเมืองชายฝั่งของรัฐคุชราต ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำคอมตี (Gomti River) บริเวณปากอ่าวคุตช์ (Gulf of Kutch) ติดกับทะเลอาหรับ ในเขตเทวภูมิทวารกา (Devbhumi Dwarka District) และเป็น 1 ใน 7 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ที่มีผู้จาริกแสวงบุญมาสักการะ พระกฤษณะ หรือ พระวิษณุ ประจำทุกปี

ผลพวงของคำสาป

ตามเนื้อหาในหนังสือหริวงศ์ หลังจากสังหารราชากังสะผู้เป็นลุง และเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบกับราชาชราสัณธ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อตาของราชากังสะ พระกฤษณะ ได้ตัดสินใจอพยพเชื้อพระวงศ์วฤษณีและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจากเมืองมถุรามาสร้างมหานครอันยิ่งใหญ่ริมทะเล บนดินแดน “ทวารวดี” (Dvaravati) หรือ ทวารกา ในท้ายเรื่องมหาภารตะ มหานครแห่งนี้ต้องมาจมอยู่ใต้บาดาล ภายหลังการตายของพระกฤษณะตามคำสาปของพระนางคานธารี

36 ปีหลังมหาสงครามล้างวงศ์เครือญาติที่ทุ่งกุรุเกษตร ทวารกา กลายเป็นอาณาจักรที่นอนนิ่งสงบใต้ทะเล ดุจเดียวกับที่พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในวงขนดพญาอนันตนาคราชนานนับหลายพันปี

กระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 หน่วยโบราณคดีทางทะเล (The Marine Archaeological Unit-MAU) ของสำนักงานการสำรวจทางโบราณคดีอินเดีย (the Archaeological Survey of India-ASI) กระทรวงวัฒนธรรม นำโดย เอส. อาร์. เรา (S.R. Rao) หนึ่งในนักโบราณคดีคนสำคัญของอินเดีย ได้เริ่มการสำรวจโบราณสถานใต้ทะเลรอบ ๆ บริเวณเมืองโลธาล (Lothal) รัฐคุชราต ซึ่งเป็นศูนย์กลางท่าเรือของอารยธรรมฮารัปปา ที่มีอายุอยู่ในช่วง 1570 ปีก่อนคริสตกาล จนขุดพบสิ่งประดิษฐ์โบราณกับเครื่องปั้นดินเผาที่เกิดขึ้นก่อนอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในบริเวณนี้มากมาย

นอกจากนี้ ในปี 1930 เอส. เอส. เรา ยังเคยนำทีมสำรวจบริเวณรอบ ๆ เกาะ “Bet Dwarka” (หรือ Beyt Dwarka) ในทะเลอาหรับ ซึ่งตั้งอยู่ปากอ่าวคุตช์ ห่างจากชายฝั่งทวารกาออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร แต่หยุดชะงักไปโดยไม่ทราบสาเหตุ อีกด้วย

วิหาร พระกฤษณะ ทวารกา
วิหารพระกฤษณะ ในพื้นที่เมืองทวารกาสมัยใหม่ (ภาพโดย Emmanuel DYAN จาก flickr สิทธิ์การใช้งาน CC BY 2.0)

ปลุก “ทวารกา” นครที่หลับใหล

การค้นพบโบราณวัตถุใต้ทะเลที่เมืองโลธาล จุดประกายให้ทีมสำรวจโบราณคดีตัดสินใจออกตามหานครทวารกาในตำนานอันยิ่งใหญ่นี้

การสำรวจครั้งแรกในปี 1963 ที่สถาบันทางด้านโบราณคดี เดคแคน คอลเลจ ของเมืองปูเน่ ร่วมกับหน่วยงานโบราณคดีของรัฐคุชราต ได้เผยให้เห็นสิ่งประดิษฐ์โบราณที่มีอายุหลายศตวรรษ ต่อมาในปี 1979 หน่วยงาน MAU นำโดย เอส. อาร์. เรา ซึ่งเคยมีผลงานที่เมืองโลธาล ก็ได้นำทีมขุดสำรวจแหล่งโบราณนี้อีกครั้งหนึ่ง

การขุดค้นเมืองทวารกาที่หลับใหลอยู่ใต้ทะเลรอบที่สองนี้ ได้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาสำริด ที่มีอายุมากกว่า 3,000 ปี จากนั้นทีมของเอส. อาร์. เรา ก็มีการสำรวจต่อเนื่องมาอีกยาว โดยระหว่างปี 1983-1990 ที่มีการสำรวจทั้งบนบกและใต้น้ำรอบ ๆ Bet Dwarka ได้ขุดพบโครงสร้างอาคาร ประกอบด้วย ซากกำแพง ก้อนหินขนาดมหึมา ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคาร และเสา ที่อาจมีอายุตั้งแต่ช่วง 3,000-1,500 ปีก่อนคริสตกาล

ทั้งหมดนี้ล้วนยืนยันถึงการดำรงอยู่ของเมืองที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล พิจารณาถึงเหตุผลที่เป็นไปได้แล้ว เอส. อาร์. เรา ก็มั่นใจว่าเมืองที่จมอยู่ใต้น้ำนี้คือ “ทวารกาในมหาภารตะ”

ตำนานที่มีอยู่จริง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการค้นพบซากปรักหักพังช่วงปี 1983-1990 ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นโครงสร้างของกำแพงเมือง กำแพงวัด หรือเป็นชิ้นส่วนของสิ่งก่อสร้างใด ในปี 2007 กองโบราณคดีใต้น้ำ (The Underwater Archaeology Wing-UAW) ของ ASI นำโดย อโลก ตริปาถิ (Alok Tripathi) ผู้อำนวยการ UAW จึงได้มีการขุดค้นทวารกาอีกครั้งทั้งบนบกและใต้น้ำ เพื่อศึกษาโบราณสถานแบบองค์รวม

การขุดหาซากโบราณสถานในครั้งนี้ ทำให้ค้นพบโครงสร้างหินรูปครึ่งวงกลมและสี่เหลี่ยมจำนวนมาก รวมถึงการค้นพบสมอหินมากมาย ที่ชี้ให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเมืองท่าสำคัญทางการค้าระหว่างอินเดียและอาหรับในช่วงศตวรรษที่ 15-18 จากนั้นซากปรักหักพังที่ค้นพบทั้งหมดก็ได้รับการประกาศให้เป็นซากของนครทวารกาที่ล่มสลาย

จากการวิจัยยังพบว่าภัยพิบัติได้กลืนกินทั้งเมืองเมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน ทำให้ทวารกาจมดิ่งลงสู่ก้นสมุทร นักโบราณคดีได้ตั้งสมมุติฐานถึงเหตุแห่งภัยพิบัติที่ทำให้อาณาจักรจมสู่ใต้ทะเลอยู่ 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นใต้ทะเล แผ่นดินไหวหรือสึนามิ หรืออาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างกะทันหัน ก่อนจะเปิดเผยสู่สาธารณชนโดยพิจารณาจากสภาพซากอาคารว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันนี้ได้เกิดขึ้นที่บาห์เรนในช่วงเวลาเดียวกัน

ความสำเร็จที่น่าตื่นตาตื่นใจของการสำรวจทางโบราณคดีครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่พิสูจน์ว่าเมืองทวารกาของพระกฤษณะในตำนานมีอยู่จริง แต่ยังเป็นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า มหาภารตะไม่ใช่เรื่องราวในเทพนิยาย!

คำว่า “ทวารกา” มาจากคำว่า “ทวาร” ในภาษาสันสกฤตแปลว่า “ประตู” ดังนั้นเมืองท่าโบราณแห่งนี้จึงอาจเป็นประตูสำหรับลูกเรือต่างชาติที่เดินทางมาถึงอินเดีย ปัจจุบันองค์การยูเนสโกยังได้ขึ้นทะเบียนทวารกาให้เป็นเมืองมรดกโลกใต้น้ำในเส้นทางสายไหม ซึ่งสะท้อนถึง “ความศิวิไลซ์ของมนุษยชาติ” ในฐานะเป็นเส้นทางโบราณทางการค้าและวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อกับภูมิภาคตะวันตกและตะวันออก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เฟซบุ๊กเพจ อ่านมหาภารตะ. ทวารกา-แอตแลนติสแห่งอินเดีย มรดกโลกใต้น้ำในเส้นทางสายไหม. เข้าถึงเมื่อ 3 มกราคม 2567. โดยได้รับอนุญาตจากเพจ อ่านมหาภารตะ ให้นำเนื้อหามาเผยแพร่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2567