“สกา” เกมพนันที่เดิมพันด้วยบ้านเมือง ใน “มหาภารตะ” คืออะไร?

สกา การพนัน มหาภารตะ
"The Fateful Game of Dice" การเล่น "สกา" ระหว่างฝ่ายเการพกับปาณฑพ ศิลปะโมกุล ผลงาน Sangha/Shankara, ปี 1599 (ภาพจาก Free Library of Philadelphia)

“มหาภารตะ” วรรณกรรมชิ้นเอกระดับมหากาพย์ของอินเดีย มีการกล่าวถึงเกมกระดานหรือ “บอร์ดเกม” ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการเดิมพันหรือพนันกันในระดับ “เอาเป็นเอาตาย” คือเล่นกันถึงขั้นเสียบ้านเมืองเลยทีเดียว… เกมนี้รู้จักกันในชื่อ “สกา”

สกา ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ และมีส่วนในการลิขิตทิศทางของตัวละครทั้ง 2 ฝ่ายในมหาภารตะ เพราะเป็นผลให้ตัวเอกฝ่ายธรรม คือ ปาณฑพ พ่ายแพ้ในการดวลสกา ถึงขั้นเสียเมือง และทรัพย์สมบัติทั้งปวง ส่วนฝ่ายอธรรมอย่าง เการพ ก็รุกไล่บดขยี้แบบ “เอาให้จมธรณี” ก่อนแรงกดดันทั้งหลายจะปะทุ จนนำไปสู่มหาสงครามแห่งทุ่งราบกุรุเกษตร ซึ่งก่อความเสียหายด้วยการสังเวยชีวิตของผู้คนมากมาย ทั้งที่สองฝ่ายล้วนแล้วแต่เป็นคณาญาติกันทั้งสิ้น

Advertisement

สกา คือเกมอะไร เล่นยังไงกันแน่?

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า คำว่า สกา กร่อนมาจาก “ปาสก” (ปา-สะ-กะ) ในภาษาบาลี แปลว่า “บาศก์” หรือลูกเต๋า 6 หน้า

ว่ากันง่าย ๆ สกา (Saca) หรือ ชัวปัร (Chaupar) ของอินเดีย คือเกมทอยลูกเต๋านั่นเอง วิธีการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย อยู่คนละด้านของ “กระดานสกา” หรือบอร์ดตารางสำหรับให้ “ตัวสกา” เดินตามจำนวนแต้มที่ได้จากการทอยลูกเต๋า ผู้เล่นจะผลัดกันทอยให้ลูกเต๋าตกลงบนบอร์ด แล้วนับแต้มจากลูกเต๋า ผู้เล่นที่ได้แต้มสูงกว่าจะได้สิทธิ์เดินตัวสกาก่อน 

ตำแหน่งต่าง ๆ บนบอร์ดจะมีสัญลักษณ์บ่งบอก “สถานการณ์จำลอง” หรือทางเลือกบางประการ เช่น สิทธิประโยชน์ในทางลัด หรือช่องที่อนุญาตให้ฝ่ายตรงข้าง “กิน” หรือ “ฆ่า” ตัวสกาของผู้เล่นได้ โดยการแพ้-ชนะ จะวัดจากจำนวน “ตัวสกา” ที่เหลืออยู่ของผู้เล่นทั้งสองฝ่าย 

สกาจึงเป็นเกมที่ต้องอาศัยโชคชะตาระดับหนึ่ง รวมถึงการใช้สมาธิ การอ่านใจ คาดการณ์ เหมาะกับคนใจเย็น หรือผู้ที่ชื่นชอบการใช้ความคิด และเป็นเกมพนันชั้นดี อันมีจุดกำเนิด และความนิยมจากอินเดีย ก่อนแพร่ไปสู่วัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะชนชั้นกษัตริย์ที่มักเดิมพันผล แพ้-ชนะ ด้วยทรัพย์สินศฤงคารมากมายตามศักดิ์ฐานะของตน

ในสังคมไทยเองรับการเล่นสกาจากอินเดียมาแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่าสมัยกรุงศรีอยุธยามีการเล่นสกากันแล้ว แต่กติกาจะเหมือนต้นฉบับมากน้อยเพียงใดนั้นไม่ทราบ นอกจากนี้ ยังปรากฏการเล่นสกาในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น พระนลคำหลวง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ที่เล่าถึงพระนลผู้เล่นพนันสกาจนเสียเมือง

การเล่นสกาแบบไทย จะใช้ลูกเต๋าทอดในอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เติ่ง” แล้วเดินตัวสกาตามแต้มลูกเต๋า แต่ละฝ่ายมีช่องสำหรับเดินตัวสกาฝ่ายละ 12 ช่อง ตรงกลางระหว่าง 12 ช่อง มีช่องใหญ่สำหรับเก็บตัวสกา เรียกว่า “เมือง”

อย่างไรก็ตาม ในอินเดียมีบอร์ดเกมลักษณะเดียวกับสกาในอีกหลายชื่อด้วยกัน ได้แก่ ปาจีสี (Pachisi) ชัวสัร (Chausar) ซี่งมีหลักฐานการเล่นในอินเดียอย่างชัดเจนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทั้งมีตำนานเล่าว่าพระศิวะเคยเล่นเกมคล้ายกันนี้กับพระแม่ปารวตี บ้างเรียกว่า ธะยุต (Dhyuta) มาจากคำว่า “Dhyutamandala” คือวงกลมที่ขีดล้อมรอบผู้เล่น ตามกติกาที่ระบุว่า ผู้เล่นจะออกนอกวงไม่ได้หากยังไม่ได้จ่ายหนี้

สกา การพนัน มหาภารตะ
พระศิวะ กับ พระแม่ปารวตี เล่นสกา (Chaupar) ผลงาน Devidasa of Nurpur, ปี 1694-1695 ภาพจาก Metropolitan Museum of Art)

ปาจีสี มีความหมายว่า 25 คือจำนวนของแต้มสูงสุดที่สามารถทอยได้จากลูกเต๋า 4 หน้า บ้างกำหนดให้มีแต้มสูงสุดถึง 30 หรือ 35 แล้วแต่พื้นที่ ส่วนลูกเต๋าที่ใช้ในการเล่นสกามีความหลากหลายมาก มีทั้งแท่ง 4 ด้านแบบยาว ๆ เปลือกหอย หรือแม้แต่ลูกนัท รวมถึงเต๋า 6 หน้าแบบปัจจุบัน

ปานฑพพ่ายอุบาย “สกา”

แล้วฝ่ายปานฑพแพ้พนันสกา ถึงขั้นเสียบ้านเสียเมืองได้อย่างไร?

มหากาพย์มหาภารตะเล่าถึงเนื้อเรื่องตอนนี้ว่า ทุรโยธน์ พี่ใหญ่ของกลุ่มเการพ ได้ท้าผู้นำพี่ใหญ่ของฝ่ายปาณฑพ คือ ยุธิษฐิระ ให้มาเล่นสกากับ ศกุนิ ลุง (พี่แม่) ของทุรโยชน์ ด้วยเกียรติยศของกษัตริย์ในคติฮินดู ยุธิษฐิระไม่อาจปฏิเสธคำเทียบเชิญได้ 

ฝ่ายเการพเองอาศัยค่านิยมนี้ในการเอาเปรียบฝ่ายปานฑพ และเป็นศุกุนินั่นเองที่เสนอแผนการนี้แก่ทุรโยธน์ ดังปรากฏเป็นถ้อยแนะนำระหว่างลุง-หลาน จากหนังสือ มหาภารตะยุทธ ผลงานการแปลและเรียบเรียงของ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ดังนี้ 

“…หลานย่อมรู้ว่าสกาเป็นกีฬาในร่มซึ่งกลุ่มชนในวรรณะกษัตริย์โปรดปรานเป็นหนักหนา และเมื่อได้เชิญใครแล้ว ก็ยากที่ผู้รับเชิญจะปฏิเสธได้ เพราะจะเป็นการเสียมารยาทและผิดประเพณีของวรรณกษัตริย์ไป ก็และยุธิษฐิระนั้นใคร ๆ ก็รู้ว่าชอบสกามา ลุงจึงแนะนำให้หลานจงไปขอร้องให้พ่อของหลาน เป็นผู้เชิญให้ ยุธิษฐิระกับน้อง ๆ มาเล่นสกากันในบ้านเมืองของเรา…”

ข้อความนี้สะท้อนว่า สกา ได้รับความนิยมมากในวรรณะกษัตริย์ หากไม่มองในแง่ของ “การพนัน” ก็อนุมานได้ว่าเป็นกิจกรรมแสดงออกถึงมิตรไมตรีระหว่างผู้เล่น เพราะตัวยุธิษฐิระเป็นโอรสของ “พระธรรมเทพ” ผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมทั้งปวง ยังโปรดปรานการเล่นสกา

เมื่อการดวลสกาดำเนินขึ้น เดิมพันจึงเกิดตามมา โดยเริ่มจากทรัพย์ไม่มากมายอะไร ก่อนจะค่อย ๆ ลุกลามเป็นท้องพระคลังของฝ่ายปานฑพ นครอินทรปรัศถ์ อาณาจักรของฝ่ายปานฑพ และค่อย ๆ เลยเถิดไปถึงขั้นเดิมพันด้วยเหล่าน้องชายทั้ง 4 หรือแม้แต่นางเทราปตี ผู้เป็นมเหสีของยุธิษฐิระด้วย

ศกุนิเป็นผู้ช่ำชองในการเล่นสกาชนิดหาใครเปรียบได้ยาก ยุธิษฐิระจึงเหมือนถูกล่อลวงให้มาตกหลุมพรางแห่งความสูญเสีย ในหนังสือ มหาภารตยุทธ์ สำนวนของ ร.อ. หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) เล่าถึงฉากการเล่นสกา โดยบรรยายถึงความ “หน้ามืดตามัว” ของยุธิษฐิระ ผู้ติดบ่วงบาศแห่งการพนันของฝ่ายเการพเข้าอย่างจังจนถอนตัวไม่ได้ ดังนี้

“การแข่งขันพนันสกาได้ตั้งต้น กระดานต้นยุธิษฐิรเสียเดิมพัน ที่จริงท้าวเธอรองเขาทุกกระดานในวัน​เคราะห์ไม่ดีนั้น วันรุ่งขึ้นท้าวเธอทรงอีกก็แพ้เขาอีก ทุก ๆ กระดานที่แพ้เขามันเร้าความกระหายของท้าวจัดขึ้นทุกที ทอง, เพชรพลอย, ม้า, รถ, คชสาร, เอาลงวางเป็นเดิมพันขันพนันกับเขา และแพ้สารพัด หลุดลอยไปจากหัตถ์ ราวกับเหรียญทองของเทพดาฉะนั้น ต่อนั้นท้าวเธอเอาสมบัติในท้องพระคลังลงกองเป็นเดิมพัน และต่อจากนั้น พระราชอาณาจักร และทั้งสองสิ่งนี้เล่าก็เนาในทางอันเดียวกัน หลุดมือไปเหมือนกัน

“ถึงกระนั้นความกระหายก็มิได้เหือดลง ท้าวเธอเอาอนุภราดาทั้งสี่องค์ลงเป็นเดิมพัน เอาตัวพระองค์เอง และในที่สุดเอาเทราปที เป็นที่อัปยศอดสูแก่ผู้ที่นั่งดูอยู่พร้อมหน้า และได้เสียภราดา และน้องสะใภ้แก่เขาภีษม โทรณ และวิทุร นั่งดูอยู่ด้วยใจอันเศร้าสลด ฝ่าย ‘กรรณ’ ทุหศาสน และผู้คิดคดทรยศอีกหลายคน นั่งอมยิ้มอยู่ด้วยร่าเริงใจ” 

จะเห็นว่าการเล่นสการะหว่างยุธิษฐิระกับศกุนิดำเนินอย่างต่อเนื่องถึงสองวัน จนเป็นผลให้พี่น้องปานฑพต้องเสียเมืองให้ทุรโยธน์ มเหสีผู้งดงามโดนลบหลู่เกียรติ ก่อนจะต้องจำใจต้องออกบวชเป็นพราหมณ์พเนจรเป็นเวลาถึง 13 ปี 

ยุธิษฐิระ ในฐานะผู้นำ และพี่ใหญ่ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็น “ฝ่ายดี” จึงสูญสิ้นทุกสิ่ง แม้แต่สถานะกษัตริย์และความเป็นไทของตน จากการพนัน “สกา” ครั้งนี้…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย แปลและเรียบเรียง. (2533). มหาภารตยุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา.

ณัฐวัตร จันทร์งาม ; อภิวัฒน์ สุธรรมดี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (กรกฎาคม – ธันวาคม 2560). “มิติทางวัฒนธรรมและการเล่น ‘สกา’ ในวรรณคดีไทย”. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 11 ฉบับที่ 2. (PDF Text)

ร.อ. หลวงบวรบรรณรักษ์. (ไม่ระบุปี). มหาภารตยุทธ์ (แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับของ ฐากูรราเชนทรสิงห์). E-Book โดย ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (15 กรกฎาคม 2552) : “สกา”. (ออนไลน์).

Cyningstan (Oct 25, 2018) : “Chaupar”. <http://www.cyningstan.com/game/1457/chaupar>

W. Norman Brown, The Penn Museum (Retrieved Mar 24, 2023) : “THE INDIAN GAMES OF PACHISI, CHAUPAR, AND CHAUSAR”. <https://www.penn.museum/sites/expedition/the-indian-games-of-pachisi-chaupar-and-chausar/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2566