ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
บันทึก “ลาลูแบร์” เผยเรื่อง “หย่าร้าง” สมัย กรุงศรีอยุธยา ชายหญิงสยามไม่ค่อย “หึงหวง”
เรื่อง หึงหวง ของชาย-หญิงยุคโบราณ สามารถศึกษาได้จากบันทึกชาวต่างชาติ ส่วนการมีครอบครัวสะท้อนผ่านงานเขียนหรือวรรณคดีของไทยเราเองอยู่แล้ว หญิงชาวบ้านใน กรุงศรีอยุธยา มีผัวตั้งแต่อายุน้อย จะเห็นว่านางเอกในวรรณคดีทุกเล่ม แต่งงานอายุไม่เกิน 15 ส่วนผู้ชายก็ราวอายุ 18 การกินอยู่กันอย่างเสรีโดยไม่ได้แต่งงานถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องอับอาย เมื่อได้อยู่กินกันก็เสมือนว่าได้แต่งงานกันแล้ว โดยฝ่ายชายจัดพิธีขอขมาต่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเท่านั้น
แต่ผู้หญิงชาวกรุงศรีอยุธยาจะไม่ยอมแต่งงานกับชาวต่างชาติ แม้จะพูดจาวิสาสะกับชาวต่างชาติก็ไม่ยอม ถ้าใครทำอย่างนั้นจะถูกประณามว่า หญิงเพศยา ส่วนผู้หญิงชาวมอญซึ่งมีอยู่ส่วนมาก ล้วนยินดีแต่งงานกับชาวต่างชาติ และออกที่จะภาคภูมิใจที่จะได้แต่งงานกับชาวยุโรปผิวชาวเสียด้วยซ้ำ กรณี หย่าร้าง และเรื่อง หึงหวง ของผัวเมียใน กรุงศรีอยุธยา มีรายละเอียดมาก และน่าสนใจอย่างยิ่งอยู่ใน บันทึกของ ลาลูแบร์ ดังต่อไปนี้
การหย่าร้าง
การกินอยู่ฐานสามีภรรยาในประเทศสยามนั้นแทบจะราบรื่นกันทั่วทุกครัวเรือนอันจะพิจารณาได้จากความจงรักภักดีของภรรยา ซึ่งหาเลี้ยงสามีตลอดระยะเวลาที่ต้องเกณฑ์ไปรับราชการงานหลวง อันเป็นทำนองบังคับเกณฑ์แรงงานมีระยะไม่เพียงชั่วปีละ 6 เดือนเท่านั้น แต่ลางครั้งก็นานตั้ง 1-5 หรือ 3 ปี ทีเดียว
แต่ถึงแม้ว่าสามีภรรยาจะไม่สามารถทนอยู่ร่วมกันได้ด้วยประการใดก็ตาม ก็มีทางแก้ไขด้วยการหย่าร้างกันได้อยู่ เป็นความจริงที่ว่า การหย่าร้างนี้กระทำกันแต่ในหมู่ราษฎรชั้นสามัญเท่านั้น คนมั่งมีที่มีภรรยาหลายคนก็ยังเลี้ยงดูนางภรรยาที่ตนไม่รักแล้ว หรือที่ตนยังรักอยู่ไว้ทั้งโขยง
กฎหมายการหย่าร้าง
สามีนั้นธรรมดาเป็นตัวสำคัญในการหย่าร้าง (คือจะยอมหย่าก็ได้หรือไม่ยอมหย่าก็ได้) แต่เขาก็ไม่เคยปฏิเสธในเมื่อฝ่ายภรรยามีเจตนาอันแรงกล้าที่จะหย่ากับตน เขาจะคืนเงินกองทุนสินเดิมให้นางไป ส่วนพวกบุตร ๆ ที่เกิดด้วยกันก็แบ่งกันรับไปในทำนองนี้ หญิงผู้มารดาได้บุตรคนที่ 1-3-5 และต่อ ๆ ไปตามจำนวนคี่ ถ้าบังเอิญบุตรโทนคนเดียวก็ได้แก่มารดาไป
และถ้าบุตรทั้งหมดนั้นรวมกันเป็นจำนวนคี่ หญิงผู้เป็นมารดาก็จะได้บุตรมากกว่าผู้เป็นบิดาไปหนึ่งคน จะเป็นด้วยท่านวินิจฉัยเห็นว่ามารดาย่อมเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่าบิดาหรือว่านางเป็นฝ่ายอุ้มท้องและเลี้ยงบุตรด้วยนมของนางมาอย่างใดอย่างหนึ่ง นางจึงมีสิทธิเหนือผู้เป็นบิดาด้วยประการฉนี้ หรือท่านจะเห็นว่าสตรีเพศที่อ่อนแอ ย่อมจะต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูลจากพวกบุตร ๆ มากกว่าก็เป็นไปได้เหมือนกันอีก
ผลของการหย่าร้าง
เมื่อได้หย่าร้างค้างขาดกันแล้ว ย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่สามีและภรรยาจะไปแต่งงานใหม่กับใครก็ได้ตามปรารถนาและเป็นอิสระแก่ข้างสตรีที่จะแต่งงานใหม่ได้ในวันที่หย่าร้างกับสามี (เดิม) นั่นทีเดียว โดยไม่คำนึงถึงข้อกังลขาจะเกิดขึ้นได้กับบุตรคนแรก (ที่เกิดเมื่ออยู่กินกับสามีใหม่) ว่าจะเป็นบุตร (ของสามีเดิม) ติดท้องมา โดยเชื่อเอาตามคำที่ภรรยาบอกเป็นประมาณ อันเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าชาวสยามมีความหึงหวงน้อยเป็นที่สุด
แต่ถึงแม้ว่าการหย่าร้างนั้นเป็นการที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่วายที่จะเห็นว่าเป็นข้อชั่วร้ายอย่างใหญ่หลวงและเป็นผลเสียหายแก่พวกบุตร ๆ แทบทุกรายไป เพราะตามธรรมดามักจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูดีถ้าบิดามารดาแต่งงานใหม่ ด้วยประการฉะนี้แล จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่อนุมานเอาได้ว่า เหตุไฉนประเทศนี้จึงมีพลเมืองน้อยนัก แม้หญิงสยามจะมีลูกดกอยู่ก็ตาม และมักจะคลอดลูกแฝดเอาบ่อย ๆ เสียอีกด้วย
อำนาจของบิดา
สามีเป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในครอบครัว ถึงขนาดอาจขายบุตรและภรรยาทั้งหลายเสียได้ ยกเว้นภรรยาหลวงแต่ผู้เดียวเท่านั้น ภรรยาม่ายได้รับช่วงอำนาจจากสามีของนาง แต่มีข้อจำกัดว่า นางไม่อาจขายบุตรที่นับเป็นเลขคู่ได้ ถ้าญาติพี่น้องข้างบิดาคัดค้าน เพราะตัวบุตรเองคงไม่กล้าขัดขืน (ความประสงค์ของมารดา) ภายหลังการหย่าร้าง บิดาและมารดาอาจขายบุตรของตนที่ได้รับการแบ่งสันปันส่วนตามวิธีที่ข้าพเจ้ากล่าวมาข้างต้นได้
อ่านเพิ่มเติม :
- ตาม “แม่หญิงการะเกด” เปิดแผนที่อยุธยาใน “จดหมายเหตุลาลูแบร์”
- บันทึกเรื่อง “ทุเรียน” ในประวัติศาสตร์ไทย ลาลูแบร์บอก “กลิ่นเกินทน”
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. “แต่งงาน-หย่าร้าง” ใน, อยุธยา ยศยิ่งฟ้า ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วยวิถีชีวิตไพร่ฟ้าข้าไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในออนไลน์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562