ค้นกำเนิด เบนโตะ อาหารเพื่อการเดินทางของญี่ปุ่น เกี่ยวกับ “ปิ่นโต” ของไทยอย่างไร?

เบนโตะ ญี่ปุ่น ข้าวกล่อง ปิ่นโต อาหาร วัฒนธรรมการกิน การกิน
เบนโตะ แบบ "ปาร์ตี้" จัดแสดงในนิทรรศการอาหารและเครื่องดื่มญี่ปุ่น (Oishii Japan food and beverage) ที่สิงคโปร์ เมื่อ 22 ตุลาคม 2015 (ภาพจาก ROSLAN RAHMAN / AFP)

คำศัพท์ที่ไทยเรานำเข้ามาจากญี่ปุ่นนอกเหนือจากสุกี้ยากี้ คาราโอเกะ หรือบรรดายี่ห้อสินค้าต่าง ๆ อย่างฮอนด้า โตโยต้า แล้ว ยังมีคำญี่ปุ่นที่นำเข้ามานานจนฟังดูกลายเป็นไทยไปแล้วอย่างผ้าขาวม้า ซึ่งสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ฮะคะมะ” และคำว่าปิ่นโต ซึ่งมาจากคำว่า “เบนโตะ”

เบนโตะ ญี่ปุ่น ข้าวกล่อง ปิ่นโต อาหาร วัฒนธรรมการกิน การกิน
กล่องเบนโตะ (ศตวรรษที่ ๑๙) ทำจากไม้ไผ่สาน ใช้ในช่วงฤดูร้อน (ภาพจากเว็บไซต์ https://antique-boxes.com/price-guide/japanese-bamboo-boxes/)

แม้คำว่าปิ่นโตนี้จะสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากภาษาญี่ปุ่น แต่ใน “สัพะ พะจพนพ พาสาไท” พจนานุกรมสี่ภาษาของสังฆราชปาเลอกัว กลับให้ความหมายของปิ่นโตเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า “Chinese basket with three rows” โดยไม่มีเค้าของญี่ปุ่นอยู่เลย

เบนโตะของญี่ปุ่นเข้ามาในสังคมแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนกลายสภาพเป็นปิ่นโตตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปิ่นโตกับชาวญี่ปุ่นที่เก่าที่สุด เห็นจะเป็นจารึกใต้ภาพเขียนคนญี่ปุ่นที่วัดโพธิ์ซึ่งเขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัด โดยได้แต่งโคลงอธิบายภาพผู้คนจากดินแดนต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด 32 ภาพ

ในส่วนของภาพญี่ปุ่น ผู้แต่งได้กล่าวชื่นชมความสามารถในงานช่างของชาวญี่ปุ่นเอาไว้ ซึ่งงานจากช่างญี่ปุ่น อย่างเช่นดาบญี่ปุ่นนั้นเป็นที่นิยมของชนชั้นนำสยาม และเป็นสินค้าเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งปิ่นโตที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เขียนลายก็น่าจะถูกนำเข้ามาในลักษณะเดียวกัน ดังที่โคลงได้บรรยายความชื่นชมในงานช่างญี่ปุ่นไว้ว่า

อยู่เกาะญี่ปุ่นเวิ้งว้าง   วงเขา
เขาย่อมเป็นช่างดี   แปดด้าน
โดยต่ำแต่งตาวเงา   งามปลาบ
สบสิ่งสินค้าป้าน   ปิ่นโต

“เบนโตะ” กับการเดินทาง  

ความหมายของคำว่าเบนโตะในภาษาญี่ปุ่นนั้นไม่ตรงกับปิ่นโตในภาษาไทยเสียทีเดียว โดยที่คำว่าเบนโตะนั้น ไม่ได้หมายถึงภาชนะลักษณะเถาซ้อนกันหลายชั้น แต่หมายถึงอาหารที่จัดเตรียมไว้เพื่อพกพาไปกินในที่ต่าง ๆ

ภาพวาดการเดินทางของคนญี่ปุ่น (ภาพจากหนังสือ Toukai dou)

เบนโตะในช่วงแรกนั้นพัฒนามาจากการคดข้าวติดตัวไปกินระหว่างเดินทางหรือระหว่างไปทำงานนอกบ้าน โดยห่ออยู่ในใบไม้ เช่น ใบไผ่ และด้วยคุณสมบัติของข้าวญี่ปุ่นที่มีความเหนียวกว่าข้าวเจ้าซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคกลางและภาคใต้ของไทยทำให้ง่ายต่อการปั้นเป็นก้อนแล้วปรุงรสด้วยการห่อสาหร่ายหรือใส่ไส้ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทั้งอร่อยและสะดวกในการพกพาเช่นเดียวกับบ๊ะจ่างของจีน ข้าวต้มมัดหรือข้าวหลามของไทยที่ใช้ข้าวเหนียวในการปรุง

การพัฒนาวัสดุที่ใช้ห่อข้าวจากใบไม้มาเป็นกล่องไม้เนื้อแข็งเขียนลายนั้นสันนิษฐานว่าเริ่มขึ้นในสมัยโตกุกาวะ หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2145 – พ.ศ. 2411) เนื่องจากในสมัยโตกุกาวะ ชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นต้องเดินทางไปมาระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้งอันเนื่องมาจากระบบการควบคุมเจ้าเมืองหรือขุนนางตามหัวเมืองใหญ่ที่กำหนดให้ต้องเดินทางกลับเมืองของตนก็ต้องส่งคนในครอบครัวเข้าไปอยู่ในเมืองเอโดะแทนในลักษณะเป็นตัวประกันเพื่อป้องกันการเอาใจออกห่างจากโชกุน ด้วยระบบดังกล่าวทำให้มีการเดินทางของชนชั้นปกครองตามเส้นทางต่าง ๆ ที่เชื่อมกับเมืองเอโดะอยู่เสมอ ๆ

จากระบบที่บังคับให้ชนชั้นปกครองหัวเมืองสำคัญต้องเดินทางเข้าเมืองเอโดะนี่เอง ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมภายในของญี่ปุ่นโดยมีเส้นทางหลักหรืออาจะเรียกว่าทางหลวงอยู่ 5 สายด้วยกัน คือโทไคโด (ถนนเลียบชายฝั่งทะเลเชื่อมเมืองเอโดะซึ่งเป็นที่อยู่ของโชกุนกับเมืองเกียวโตซึ่งเป็นที่อยู่ของจักรพรรดิ) นะคะเซนโด (เชื่อมเมืองเอโดะกับเกียวโตเช่นกัน แต่เป็นสายในที่ตัดผ่านภูเขา) โคะชูเซนโด (เชื่อมเมืองเอโดะไปโคฟุ) นิคโกะเซนโด (เชื่อมเมืองเอโดะกับเมืองนิกโกะซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้านิกโกของตระกูลโตกุกาวะ ลักษณะใกล้เคียงกับเส้นทางไปนมัสการพระพุทธบาท สระบุรี) และโอะชูเซนโด (เชื่อมเมืองเอโดะกับเมืองชิรากาวะ)

ในแต่ละเส้นทางนั้นจะมีสถานีพักแรม เติมเสบียงหรือผลัดเปลี่ยนม้า ลูกหาบเป็นระยะ ๆ ซึ่งจำนวนสถานีก็จะขึ้นอยู่กับระยะทางและความสำคัญของเส้นทางนั้น ๆ โดยมีหมู่บ้านที่ถนนตัดผ่านจะมีเป็นผู้คอยจัดเตรียมอาหาร ม้า รวมทั้งลูกหาบให้กับบรรดาชนชั้นขุนนางซามูไรที่เดินทางผ่าน ซึ่งหมู่บ้านนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นการตอบแทน

ส่วนสามัญชนทั่วไปมีกฎห้ามเดินทางออกนอกเมืองยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองเสียก่อน นอกจากมีความจำเป็นจะต้องไปประกอบพิธีทางศาสนาหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เท่านั้นจึงจะสามารถเดินทางออกนอกเมืองได้ ซึ่งการเดินทางของสามัญชนแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับด่านที่ต้องผ่านด้วย

จากเบนโตะถึงปิ่นโต

สำหรับภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารหรือที่เรียกกันว่า “เบนโตะบาโคะ” (กล่องเบนโตะ) มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากการเดินทางของชนชั้นปกครองในสมัยเอโดะที่ทำให้มีการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้บรรจุอาหารจากใบไม้ที่ใช้อย่างชั่วคราวมาเป็นภาชนะที่คงทนถาวรซึ่งมีทั้งกล่องเบนโตะที่ทำจากไม้ไผ่สาน กระดาษ เซรามิก แต่ที่พบมากที่สุดคือกล่องเบนโตะที่ทำจากไม้เนื้อแข็งเขียนลายแล้วทาด้วยน้ำมันชักเงาเนื่องจากภูมิอากาศของญี่ปุนในรอบหนึ่งปีนั้นมีฤดูร้อนเพียงสามเดือนทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องอาหารเสีย ซึ่งในช่วงฤดูร้อนกล่องเบนโตที่นิยมใช้ก็จะเปลี่ยนเป็นชนิดที่ทำจากไม้ไผ่สานเพื่อช่วยในการระบายอากาศเพื่อยืดอายุของอาหาร

การใช้ไม่ไผ่มาสานเป็นภาชนะบรรจะอาหารสำหรับเดินทางเช่นนี้ ดูจะใกล้เคียงกับกระติบและแอบข้าวของทางภาคเหนือและอิสานของไทย

กล่องเบนโตะของญี่ปุ่นมีรูปพรรณสัณฐานแตกต่างกันไปทั้งทรงกลมและสี่เหลี่ยม โดยทั่วไปกล่องเบนโตะที่ใช้พกพาออกนอกสถานที่จะเป็นประเภทชั้นเดียว ส่วนที่ซ้อนกันหลายชั้นแบบปิ่นโตของไทยนั้นเรียกว่า “จูบาโคะ” ซึ่งจะใช้เฉพาะในงานเทศกาลพิเศษอย่างเช่นวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น แต่ส่วนมากไม่มีหูคล้องสำหรับหิ้วแบบปิ่นโตของไทย

เบนโตะ ญี่ปุ่น ข้าวกล่อง ปิ่นโต อาหาร วัฒนธรรมการกิน การกิน
กล่องเบนโตะแบบชุดใหญ่ใช้ในเวลาชมดอกไม้ เขียนลายแบบ makie คือการเขียนลายในขณะที่น้ำมันชักเงายังไม่แห้งแล้วพ่นสีฝุ่นลงทับ (ภาพจากหนังสือ Folk Tradition in Japanese Art)

ลักษณะใกล้เคียงกับปิ่นโตของไทยเท่าที่ผู้เขียนค้นได้เป็นกล่องเบนโตะแบบชุดใหญ่สำหรับชนชั้นสูงใช้ในโอกาสเดินทางไปชมดอกไม้ โดยภายในกล่องจะบรรจุกล่องเบนโตะขนาดเล็กไว้หลายใบ

จนเมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศรับการเข้ามาของประเทศตะวันตกทำให้วัสดุที่นำมาทำกล่องเบนโตะเปลี่ยนแปลงไปโดยนิยมใช้โลหะมาทำกล่องเบนโตะมากขึ้น ดังนั้นภาพของทหารหรือลูกเสือญี่ปุ่นในช่วงต้นสมัยโชวะ (พ.ศ. 2469 – 2532) ที่มีกล่องข้าวอะลูมิเนียมหรือเหล็กเคลือบอย่างที่เห็นในปัจจุบันก็น่าจะได้รับอิทธิพลในช่วงเดียวกัน

อย่างไรก็ตามจากวิถีที่ปรับเปลี่ยนไปทำให้ภาพของกล่องเบนโตะไม้เขียนลายดูจะไม่ใช่สิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทางอีกต่อไป ในปัจจุบันกล่องเบนโตะไม้เหลือให้เห็นเฉพาะในโรงแรม ร้านอาหารหรือในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่นปีใหม่เท่านั้น เช่นเดียวกับปิ่นโตของไทยที่นับวันดูจะมองให้หาได้ยากขึ้นตามท้องถนนเนื่องจากมีกล่องโฟมและถุงพลาสติกเข้ามาแทนที่

ยกเว้นก็เพียงแต่ในวัดเท่านั้นที่ปิ่นโตได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องบริขารสำหรับพระสงฆ์บวชใหม่ไปแล้ว…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘เบนโตะ’ ของญี่ปุ่นถึง ‘ปิ่นโต’ ของไทย อาหารกับการเดินทาง” เขียนโดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2561