ขายอะไร!? “คงโง กูมิ” ธุรกิจเก่าแก่สัญชาติญี่ปุ่น อายุกว่าพันปี

ทีมช่างไม้ของ "คงโง กูมิ" (หลัง) ภาพเขียนปราสาทโอซาก้า หนึ่งในผลงานของบริษัทแห่งนี้ (ภาพจาก Wikimedia Commons) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

คงโง กูมิ (Kongo Gumi) ถือว่าเป็นบริษัทเก่าแก่ที่สุด ไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่น แต่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทั้งไม่ใช่เก่าในแง่ของก่อตั้งเมื่อนานมาแล้วและยุติกิจการไปนานแล้ว แต่พวกเขาดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง มีการสืบทอดผู้นำภายในตระกูลแบบรุ่นสู่รุ่น และเป็นอิสระจากอำนาจรัฐอย่างยาวนาน

ถามว่าเก่าแค่ไหน คำตอบคือมากกว่า 1,400 ปี… แล้วพวกเขาทำธุรกิจอะไร ดำเนินงานอย่างไร เหตุใดเปิดกิจการข้ามยุคข้ามสมัยได้นานขนาดนี้?

คงโง กูมิ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับงานก่อสร้างอาคาร ซ่อมบำรุง ต่อเติม โดยเฉพาะ “วัด” หรือแม้แต่ “ปราสาท” ผู้ก่อตั้งคือ ชิเกะมิทสึ  คงโง (Shigemitsu Kongo) เขาไม่ได้อยู่บนแผ่นดินญี่ปุ่นตั้งแต่เกิด แต่เป็นผู้อพยพจากแคว้นแพคเจ (Baekje) คาบสมุทรเกาหลี ก่อนมาทำอาชีพช่างไม้ ณ ดินแดนอาทิตย์อุทัย

วันหนึ่ง ชิเกะมิทสึ  คงโง ได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าระดับ “Prince” นั่นคือ เจ้าชายโชโตกุ ไทชิ (Shotoku Taishi) แห่งราชสำนักญี่ปุ่น เจ้าชายวานให้เขาสร้างวัดทางพุทธศาสนาให้ ยุคนั้นญี่ปุ่นนับถือศาสนาชินโตที่เต็มไปด้วยเทพเจ้าและภูตผีมากมาย และยังไม่มี “วัดพุทธ” คนญี่ปุ่นจึงมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างวัดน้อยมาก และเป็นเจ้าชายโชโตกุ ไทชิ นี่เองเป็นชนชั้นสูงญี่ปุ่นคนแรก ๆ ที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในญี่ปุ่น จากความนิยมวัฒนธรรมจีน (แบบพุทธมหายาน) ของเจ้าชายเองด้วย

ชิเกะมิทสึ  คงโง จึงมีส่วนสำคัญในโปรเจกต์นี้อย่างยิ่ง เขาและทีมงานถือเป็นวิศวกรกลุ่มแรกที่สร้างวัดพุทธขึ้นในญี่ปุ่น และวัดดังกล่าวยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แม้อาคารหลังเก่าจะถูกซ่อมแซมบูรณะครั้งแล้วครั้งเล่า วัดนั้นคือ วัดชิเทนโนจิ (Shitennoji) ในจังหวัดโอซาก้า

ผลงานวัดชิเทนโนจิได้รับคำชื่นชมและถูกยกย่องไม่เพียงจากลูกค้าอย่างเจ้าชายโชโตกุ ไทชิ เท่านั้น ยังรวมชนชั้นสูงและชาวบ้านอีกจำนวนมาก 

กระแสตอบรับดังกล่าวทำให้ ชิเกะมิทสึ  คงโง เล็งเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ประกอบกับ “เทรนต์” ช่วงนั้นของราชสำนักญี่ปุ่นที่ส่งเสริมพุทธศาสนาแบบสุด ๆ ส่งผลให้กิจการสร้างวัดเติบโตทั่วทุกหนแห่ง เขาจึงก่อตั้งบริษัทชื่อ “คงโง กูมิ” ขึ้นใน ค.ศ. 578 (พ.ศ. 1121) ที่จังหวัดโอซาก้า เพื่อรับงานสร้างวัดอย่างเต็มตัว

กิจการของ คงโง กูมิ เติบโตอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับความนิยมในพุทธศาสนาทั่วแผ่นดินญี่ปุ่น หากไล่เรียงชื่อวัดดัง ๆ ของญี่ปุ่นแล้วถามถึงทีมก่อสร้าง แทบจะมีแต่ชื่อบริษัทนี้ทั้งสิ้น 

ที่สำคัญคือ บริษัทไม่ได้จำกัดการผลิตไว้ที่ “วัดพุทธ” เพียงอย่างเดียว พวกเขายังรับงานก่อสร้างอื่น ๆ ทั้ง ศาลเจ้า ประตู ตึก อาคาร รวมไปถึงปราสาทต่าง ๆ ด้วย

ผลงานระดับตำนานที่โด่งดังมาก ๆ ของคงโง กูมิ คือ ปราสาทโอซาก้า (Osaka Castle) หนึ่งในปราสาทที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น และ วัดโฮริว หรือ โฮริวจิ (Horyu-ji) ที่เมืองอิการูงะ วัดพุทธที่ถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลกและเป็นสมบัติแห่งชาติญี่ปุ่น นั่นเอง

ปราสาทโอซาก้า (Osaka Castle), ภาพปี 2005 (ภาพจาก Wikimedia Commons / Public Domain)

นอกจากความนิยมในการสร้างวัดและปราสาทในญี่ปุ่นแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยาวนานในระดับที่นับรุ่นกันแทบไม่หวาดไม่ไหว ส่วนหนึ่งมาจากธรรมเนียมการเลือกผู้สืบทอดหรือผู้นำกิจการจากลูกหลานที่มีความสามารถเหมาะสมที่สุด (เท่าที่มี) มารับช่วงต่อ 

ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาว ไม่เกี่ยงลำดับอาวุโสว่าเป็นลูกคนเล็กหรือคนโต แม้แต่ลูกเขยก็สามารถรับช่วงกิจการต่อได้ แต่เขาและลูก-หลานจะต้องใช้สกุล “คงโง” ของฝ่ายหญิง เรียกง่าย ๆ ว่าต้องแต่งเข้าบ้านเท่านั้น

สู่ตำนานบริษัทพันปี

หลังประกอบกิจการอย่างต่อเนื่องกว่าพันปี บริษัทเริ่มประสบปัญหาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อความสนใจทั้งหมดมุ่งไปที่สงคราม ไม่มีใครต้องสร้างวัด บริษัทจึงปรับไปทำ “หีบศพ” ขายตามสภาวการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากภัยสงคราม ก่อนจะกลับมาดำเนินงานเน้นการ “บูรณะ” วัดและศาลเจ้าที่ถูกทำลายไปในช่วงสงคราม

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะสงคราม ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนการใช้คอนกรีตเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างแทนไม้ เพราะทนทานต่อไฟไหม้ ทั้งลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวด้วย

กลุ่ม คนงาน ทีมช่างไม้ ของ คงโง กูมิ
กลุ่มคนงาน ทีมช่างไม้ของ “คงโง กูมิ”, ภาพถ่ายราวปี 1930 (ภาพจาก Wikimedia Commons / Public Domain)

บริษัทได้กู้เงินจำนวนมากมาลงทุนก่อนช่วงวิกฤตฟองสบู่แตก พ.ศ. 2523 ทำให้ต้องเผชิญกับภาวะสินทรัพย์ร่วงลงอย่างหนักจนเต็มไปด้วยหนี้สิน รวมถึงการเติบโตของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นและเทรนต์สร้างวัดไม่ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอีกต่อไปแล้ว วัดวาอารามและงานสร้างแบบจารีตแทบทั้งหมดอยู่ในภาวะอิ่มตัว เมื่อขาดรายได้ส่วนนี้ซึ่งคิดเป็น 80% ของทั้งหมด ในที่สุดบริษัทก็เข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2549

คงโง กูมิ ถูกบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของญี่ปุ่นชื่อ Takamatsu Construction Group เข้าซื้อกิจการ เหตุผลหลักคือพวกเขาต้องการรักษาตำนานที่หายใจอย่างรวยรินนี้ไว้ต่อไป เป็นผลให้บริษัทในตำนานนี้กลายเป็นบริษัทลูกในเครือทากะมัตซึ และปิดตำนานธุรกิจของตระกูลคงโงอย่างสมบูรณ์ ศิริอายุ 1,429 ปี รวมสมาชิก 40 ชั่วคน กับผังตระกูลที่มีความยาว 3 เมตร

เทียบง่าย ๆ กับบริษัทเก่าแก่สุดของไทย ยังมีอายุราว 145 ปี เท่านั้น เรียกว่ามีประวัติศาสตร์อันยาวนานทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิชชารัศมิ์, www.marumura.com. (6 พฤษภาคม 2564) : Kongo Gumi บริษัทเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการได้นานถึง 1,428 ปี”. <https://www.marumura.com/kongo-gumi/>

ลงทุนแมน (3 พฤษภาคม 2563) : “Kongō Gumi บริษัทที่สร้างปราสาทโอซากะ”. <https://www.longtunman.com/22849>

KONGOGUMI CO., LTD. (Retrieved Mar 10, 2023) : “Kongo Gumi [ประวัติศาสตร์]”. <https://www.kongogumi.co.jp/about_history.html>

Irene Herrera, Works That Work. (Retrieved Mar 10, 2023) : “Building on Tradition – 1,400 Years of a Family Business”. <https://worksthatwork.com/3/kongo-gumi>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2566