พระเพทราชา กับตำนาน “ชายนอนหลับ” ชื่อ “สิงห์” และ “เสลี่ยง” วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี

“เสลี่ยงพระเพทราชา” ที่วัดกุฎีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

จังหวัดสุพรรณบุรี มีวัดโบราณมากมายตั้งเรียงรายสองฟากฝั่งแม่น้ำสุพรรณ ทางใต้ของตัวเมืองสุพรรณ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณมีวัดโบราณอยู่วัดหนึ่งที่ชาวบ้านต่างเล่าขานเป็นตำนานความเป็นมาของวัดนี้ว่าเกี่ยวข้องกับพระเพทราชา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาผู้สถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้คือ วัดกุฎีทอง

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาววัดกุฎีทอง ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าประวัติวัดสืบต่อกันมาเป็นตำนานว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชายคนหนึ่งมานอนหลับอยู่ที่วัดเซิงหวาย (ชื่อเก่าของวัด) ชายคนนี้นอนกรนเป็นเสียงดนตรี ลูกศิษย์วัดเห็นแปลกประหลาด จึงไปบอกให้เจ้าอาวาสมาดู ปรากฏว่าเสียงกรนของชายคนนั้นเป็นเสียงดนตรีจริงๆ

พอดีชายผู้นั้นตื่นขึ้นก็ตกใจ เอามือขยี้ตาแล้วลุกขึ้นคุกเข่าพนมมือไหว้เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสจึงถามว่า ไปยังไงมายังไงจึงมานอนหลับอยู่ที่นี่

วัดกุฎีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชายผู้นั้นบอกว่า เขาเกิดที่บ้านพลูหลวง (ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ถนัดในการเลี้ยงช้าง จะเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อสมัครเป็นทหารในกองช้าง

เจ้าอาวาสวัดเซิงหวายพิจารณาดูลักษณะของชายผู้นั้นแล้วพูดขึ้นว่า “ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต่อไปวันข้างหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดิน ชายผู้นั้นพูดว่า “ถ้าเป็นจริงดั่งคำกล่าวของท่านอาจารย์ จะกลับมาสร้างกุฏิทองถวาย แล้วกราบลาเจ้าอาวาสวัดเซิงหวาย เดินทางมุ่งทิศตะวันออกบ่ายหน้าเข้ากรุงศรีอยุธยาต่อไป เข้าสมัครเป็นทหารในกองช้างของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาชายผู้นั้นมีพระนามว่า “พระเพทราชา” เป็นนายกองช้างที่มีความสามารถอย่างยิ่ง

พระเพทราชาเป็นที่รักใคร่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้เป็นผู้เลี้ยงดูพระโอรสลับของพระองค์ (หลวงสรศักดิ์) ซึ่งเกิดกับหญิงชาวบ้าน จึงมีความสำคัญอยู่มาก ต่อมาพระเพทราชาทราบว่าพฤติกรรมของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ฝรั่งชาติกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพฤติกรรมลับๆ ติดต่อกับฝรั่งเศส จะให้ฝรั่งเศสครอบครองกรุงศรีอยุธยา พระเพทราชาจึงชิงฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์เสียก่อน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนักและเสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา พระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรสอย่างเป็นทางการที่จะสืบพระราชสมบัติ พระเพทราชาจึงราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นรัชกาลที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2231-2246

“เสลี่ยงพระเพทราชา” ที่วัดกุฎีทอง

พระเพทราชาเป็นชาวสุพรรณ มีเนื้อความหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงพระญาติวงศ์ ซึ่งอยู่บ้านพลูหลวง ของเมืองสุพรรณบุรี พอทราบว่าพระเพทราชาได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็พากันไปเยี่ยม นำเอาปลาและลูกตาลอ่อนขึ้นถวาย พระเพทราชาทรงให้การต้อนรับพระญาติวงศ์เป็นอันดี ทรงพูดจาภาษาชาวบ้าน (พูดเสียงเหน่อ) ที่เคยพูดมาแต่ก่อนโดยไม่ทรงถือพระองค์ ทรงเลี้ยงข้าวปลาอาหารและสุราจนเมามาย โปรดฯให้มหาดเล็กพาชมพระราชวัง แล้วพระราชทานเงินทองพร้อมทั้งของฝากให้แก่ผู้ที่ไม่ได้มาด้วย

ที่บ้านพลูหลวง (ปัจจุบันทางราชการเรียกเพี้ยนเป็นบ้านโพธิ์หลวง ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ถิ่นพระราชสมภพของพระเพทราชาก็มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา 4-5 ชั่วคนเช่นกัน ว่า มีชายชื่อ “สิงห์” เป็นคนเก่งในการเลี้ยงช้างไปสมัครเป็นทหารในกองช้างของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ถ้าเป็นจริงดั่งตำนานเล่าขานกันมา “สิงห์” ก็น่าจะเป็นชื่อเดิมของพระเพทราชาก็เป็นได้

กลับมาที่ตำนาน “ชายนอนหลับ” ประวัติวัดกุฎีทอง เล่าว่าต่อมาเมื่อเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา พระเพทราชาโปรดฯให้คนมาสร้างกุฏิเป็นทอง (น่าจะเป็นว่าสร้างกุฏิแล้วลงรักปิดทองด้วยแผ่นทองคำมากกว่าที่จะสร้างด้วยทองคำ) ถวายให้วัดเซิงหวาย และทรงเปลี่ยนชื่อวัดเซิงหวายเป็น “วัดกุฎีทอง”

นอกจากเรื่องกุฏีทองแล้ว ที่วัดกุฎีทองนี้ยังมีหลักฐานตามตำนาน คือ “เสลี่ยง” (คานหาม) ที่ชาวบ้านกุฎีทองต่างร่ำลือเชื่อกันว่าเป็นพระราชยานที่พระเพทราชาประทับมาเมื่อครั้งเสด็จมาสมโภชเฉลิมฉลองวัดกุฎีทอง และมิได้ทรงนำกลับไป ทรงถวายเสลี่ยงไว้เป็นสมบัติของวัด ซึ่งเสลี่ยงนั้นทางวัดยังเก็บรักษาและบูรณะปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันนี้ (นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะให้ข้อสังเกตว่า รูปทรงของเสลี่ยงจัดว่างามพอใช้ ลักษณะของลวดลายมีเค้าของลายเก่า แต่เชื่อว่าเป็นเสลี่ยงใหม่ที่อาจทำตามต้นฉบับเก่า อาจกำหนดอายุได้ประมาณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ผู้ใดสนใจเชิญไปเที่ยวชมได้ที่วัดกุฎีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชม รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน: ชิงอำนาจการเมือง GAME OF THRONES พระเพทราชา “บ้านพลูหลวง”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก เอกสารประกอบการเสวนาของ สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 18 กันยายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2561