อาหารในไทยเก่าสุด 3,000 ปี

ซากปลาช่อน หลักฐาน อาหาร ยุคแรก ข้าวกับปลา
ซากปลาช่อนทั้งตัวขดอยู่ในหม้อดินเผา นักโบราณคดีขุดพบที่บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา มีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

หลักฐานเก่าสุดที่แสดงว่าคนเรากิน “ข้าวกับปลา” มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ คือก้อนขี้ 3,000 ปี มาแล้ว (เป็นอย่างน้อย) มี “อาหารมื้อสุดท้าย” เป็นข้าวและปลา มีก้างปลาและแกลบข้าวปลูกปนอยู่ด้วย นักโบราณคดีขุดพบที่บ้านโคกพนมดี ต.โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

ยังพบกาก “อาหารมื้อสุดท้าย” อีกชุดหนึ่งมีข้าวกับปลา โดยพบเกล็ดปลา, ก้างปลา และแกลบข้าวป่า (เพราะบริเวณนั้นน้ำเค็ม ปลูกข้าวไม่ได้)

บนที่ราบสูงโคราช พบซากปลาช่อนทั้งตัวขดอยู่ในหม้อดินเผา แล้วยังมีปลาดุก ปลาหมอ ปลาไหล ฯลฯ  รวมกับสิ่งของและอาหารอย่างอื่นฝังอยู่กับศพ มีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้วนักโบราณคดีขุดพบที่บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

“อาหารมื้อสุดท้าย” ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบในช่องท้องของศพผู้หญิง มีข้าวเปลือก กระดูก เกล็ด และก้างปลาหมอ บ้านโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี (ภาพจาก สยามดึกดำบรรพ์ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์ สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊ค พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542)

แสดงว่าคนยุคนั้นกินข้าวกับปลา แล้วใช้ปลาช่อนเป็นเครื่องเซ่นวักเลี้ยงผี

มีคำพูดในชีวิตประจำวันว่าข้าวปลา, กินข้าวกินปลา (หมายถึงข้าวอย่างหนึ่ง กับปลาอีกอย่างหนึ่ง) และข้าวกับเกลือ (หมายถึงข้าวอย่างหนึ่ง กับเกลืออย่างหนึ่ง)

คำทักทายของคนทั่วไปเมื่อพบกัน คือไปไหนมา? (เป็นคำทักทายเชิงคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ) แต่จะมีคำถามทุกข์สุขตามมา ว่ากินข้าวปลาหรือยัง? หรือกินข้าวกินปลาหรือยัง?

นอกจากนั้นยังมีคำคล้องเป็นสุภาษิตหรือคำพังเพยเก่าแก่ของกลุ่มชนเผ่าดินแดนภายใน เช่น ภาคเหนือของเวียดนาม, ลาว เกี่ยวกับข้าวและปลา ดังนี้

กินข้าวอย่าลืมเสื้อนา กินปลาอย่าลืมเสื้อน้ำ

หมายความว่า เมื่อกินข้าว ต้องไม่ลืมบุญคุณของผีนาที่คุ้มครองเมล็ดข้าวในท้องนาให้คนกิน เมื่อกินปลา ต้องไม่ลืมบุญคุณของผีน้ำที่คุ้มครองปลาในท้องน้ำให้คนกิน

ทั้งหมดนี้ยืนยันว่าเก่าสุดของอาหารไทย คือ ข้าวกับปลา และน่าจะเป็นอาหารเก่าสุดของคนในอุษาคเนย์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ขัอมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “อาหารไทย มาจากไหน”, สำนักพิมพ์นาตาแฮก


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2561