“จีวรสีแดง” ทำไมถึงเสื่อมความนิยม ในคณะสงฆ์เถรวาทของไทย

พระสงฆ์ ห่ม จีวรสีแดง
ครูบาน้อย เตชปัญฺโญ วัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่ พระครูสิริศีลสังวร (ครูบาน้อย เตชปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่ (ภาพจาก : fb วัดศรีดอนมูล Watsridonmoon)

เมื่อแวะเวียนไปยังพุทธสถาน จะเห็นพระสงฆ์หลายรูปห่มจีวรสีเหลืองบ้าง ส้มบ้าง สีน้ำตาลอมเหลืองก็มี แต่ในวงสงฆ์เถรวาทของไทยยังมีจีวรอยู่อีกสีหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ค่อยได้เห็นกัน นั่นคือ “จีวรสีแดง”

จีวรสีนี้เป็นสีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มักใช้ในคณะสงฆ์ไทยที่ไม่ได้ขึ้นกับคณะสงฆ์ส่วนกลาง และส่วนใหญ่กระจายตัวในภาคเหนือ

แล้วจีวรสีนี้เริ่มเสื่อมความนิยมเมื่อใด

คาดว่าเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในช่วงนั้นเกิดปัญหาจลาจลมากมาย ทั้งภัยทางพระราชอาณาจักรและพุทธจักร ปัญหาอย่างหลังมี 2 ประการ ได้แก่ ภิกษุมีความรู้น้อย และภิกษุที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๑

พระองค์จึงทรงจัดการคณะสงฆ์ให้กลับมาเป็นปกติ เรื่องภิกษุมีความรู้น้อย พระองค์ก็ทรงจัดการด้วยการรวบรวมสังคายนาพระไตรปิฎกพระราชทานไปยังวัดต่าง ๆ

ส่วนอีกข้อหนึ่งที่พระสงฆ์ประพฤติผิดวินัย ก็ทรงตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อห้ามไม่ให้พระภิกษุกระทำการดังกล่าวอีก ชื่อว่า “กฎพระสงฆ์” มีทั้งหมด 10 ข้อ

หากไปดูกฎข้อ 10 ที่กฎพระสงฆ์บัญญัติไว้จะพบว่า ห้ามพระภิกษุประพฤติไม่เหมาะสมแก่สมณเพศ เช่น ดูโขน หนัง ดื่มสุรายาเมา ซื้อผ้าแพรมาตัดย้อมทำจีวรและฉันอาหารในยามวิกาล รวมถึงนุ่งห่มผ้าในลักษณะไม่สุภาพ พกพาอาวุธ

ดังที่ว่าบางส่วน ดังนี้…

“…ลางพวกก็เที่ยวซื้อผ้าแพรพรรณในพ่วงแพแลร้านแขก ร้านจีน เอาไปเย็บย้อมเปนผ้าพาด ผ้าจีวร สบง สใบกราบพระ รัดประคต อังษะ กระทำเปนศรีแสด สีชมภู นุ่งคลองให้ต้องอาบัติ เปนมหานิดสักคียาทุกครั้ง ลางพวกก็นุ่งแดงห่มแดง ลางพวกก็นุ่งห่มเปนแต่ศรีกร้ำกรุ่นอำปลัง คาดรัตคตบ้าง ไม่คาดรัตคตบ้าง คลุมศีศะ สูบบุหรี่ดอกไม้ ห้อยหู เดินกรีดกรายตามกัน ดุจฆะราวาษ…

…ลางจำพวกเปนนักสวดสับปรุษ ทายกนิมนสวดพระมาไลย ไม่สวดต้องตามเนื้อความพระบาฬี ร้องเปนลำนำแขก จีน ญวน มอญ ฝารัง แล้วฉันสาคูเปียก แกงบวด เมี่ยงซ่ม เมี่ยงไบ กล้วยอ้อยก็มีบ้าง…

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าถ้าผู้ใดเหนพระสงฆ์กระทำอุลามกเปนอละชี อภิกษุ เสพสุรายาเมา กินน้ำตานซ่ม แลตะหลกขะนอง เล่นเบี้ยชนไก่ กระกระทำให้ผิดสมณะ ไม่ต้องด้วยพระวิไนยบัญญัติ ให้ว่ากล่าวตักเตือนถ้ามิฟังให้บอกเจ้าอะธิการเจ้าคณะ…

ห้ามอย่าไปอนาประชาราษฎร ลูกค้าร้านแพแขก จีน ไทย ขายผ้าแพรพรรณแก่พระสงฆสามเณรเปนอันขาดทีเดียว

ถ้าผู้ใดมิฟังยังขีนคบหาพระสงฆ์สามเณร ให้สวดพระมาไลยเล่นตะหลกขะนอง แลขายผ้าแพรพรรณแก่พระสงฆ์สามเณร ดุงหนึ่งแต่หลัง จะเอาตัวเปนโทษจงหนัก…

ด้วยกฎนี้เองทำให้สีแดงกลายเป็นสีต้องห้ามสำหรับสงฆ์ในยุคนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

นอกจากสมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่เป็นช่วงแห่งการกำเนิดธรรมยุติกนิกาย ยังปรากฏข้อความหนึ่งในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม ว่า 

“เครื่องนุ่งห่มของภิกษุนั้นประกอบด้วยสบงสีเหลือง รัดประคด จีวร และสังฆาฏิสีเดียวกัน ท่านจะต้องโกนศรีษะและโกนคิ้วเสมอ…”

สะท้อนว่าการห่มจีวรสีแดงไม่เป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์แล้ว เฉกเช่นในอดีต

ยิ่งเข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ทำให้พระองค์ทรงรวมอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง โดยเน้นย้ำถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก เกิดการปฏิรูปต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ การรวมศูนย์อำนาจของคณะสงฆ์

จะเห็นว่ามีการออกพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 และหลังจากนั้นก็เกิดการรวมศูนย์อำนาจการปกครองสงฆ์ทั่วประเทศ เข้าสังกัดกระทรวงธรรมการ จัดให้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรกลาง มีอำนาจบัญชาการสูงสุด

ครูบาบุญชุ่ม ตัวอย่างพระสงฆ์ที่ห่มจีวรสีแดง (ภาพจาก : มติชน)

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงส่งผลต่อคณะสงฆ์ในล้านนา ซึ่งปกติจะเป็นการปกครองด้วยระบบหัววัด แต่ละหัววัดมีอิสระต่อกัน เมื่อรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์แล้ว พระสงฆ์จากมณฑลพายัพ (หรือจังหวัดในภาคเหนือปัจจุบัน) ต้องปรับตัวตาม ระเบียบ จารีตต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนไป หมายรวมถึงการนุ่มห่มแดงของคณะสงฆ์ล้านนาด้วย

กฎต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย จึงทำให้การนุ่งห่มจีวรแดงลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงมีหลงเหลือบ้างในแถบภาคเหนือ อย่างน้อย ๆ ก็ในวัดที่เชียงใหม่ อย่าง วัดกู่เต้า, วัดราชมณเฑียร, วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2021/TU_2021_6206031624_15789_20635.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2568