“สมถะ เรียบง่าย ปัญญาชน พิเศษ” บุคลิกพระสงฆ์ที่ชนชั้นกลางใฝ่ฝัน

พระสงฆ์ คณะสงฆ์ พระสงฆ์ไทย บุคลิกพระสงฆ์ที่ชนชั้นกลางใฝ่ฝัน
ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร

“สมถะ เรียบง่าย ปัญญาชน พิเศษ” บุคลิกพระสงฆ์ที่ชนชั้นกลางใฝ่ฝัน

ข่าวฉาวในวงการผ้าเหลืองหรือพระสงฆ์ของไทยเป็นเรื่องที่มีมานานและไม่เคยแก้ได้จวบจนปัจจุบัน อย่างในช่วงทศวรรษ 2530 อย่างเช่น ข่าวทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของวัดหลวงในกรุงเทพฯ, พ.ศ. 2533 ข่าวฉาวของพระนิกร ธรรมวาที หรือ พ.ศ. 2537 ข่าวพระภาวนาพุทโธล่วงละเมิดสีกา ฯลฯ

อาสา คำภา ผู้เขียนหนังสือ “ลอกคราบพุทธแท้ ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” (สำนักพิมพ์มติชน) ได้วิเคราะห์ถึงบุคลิกของพระสงฆ์ที่ชนชั้นกลางไทยใฝ่ฝันไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มดังกล่าว นั่นคือ “พระเซเลบ พระน้ำดี ถึงข่าวพระฉาว: รสนิยมมวลชนชาวพุทธไทย การไขว่คว้าแสวงหาและความผิดหวัง”

พระสงฆ์ (ภาพจาก : pixabay)

อาสาเล่าว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 2530-2540 นั้น เห็นได้ว่าชาวพุทธชนชั้นกลางไทยต่างชื่นชมพระสงฆ์ที่มีบุคลิก “สงบสมถะเรียบง่าย ไม่ก็มีภาพลักษณ์ที่เป็นปัญญาชน หรือไม่ก็ต้องมีความพิเศษหรือกิมมิคอันโดดเด่นที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและน่าดึงดูดในการเข้าสู่ธรรมะ”

นี่คือบุคลิกพระสงฆ์ที่ชนชั้นกลางใฝ่ฝัน

แต่พระสงฆ์ในช่วงนี้ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับความสนใจจากสื่อค่อนข้างมากและมีหลายคนที่โด่งดังจากการไปออกสื่อต่าง ๆ บางรูปจึงเกิดและดับในระยะเวลาอันรวดเร็ว

เขายังเล่าต่อไปอีกว่า ภาพของพระน้ำดี พระเซเลป ดังกล่าว เริ่มทำให้กลายเป็นรูปปฏิมาที่จับต้องได้และเข้าไปอยู่ในกระบวนการขวนขวายแสวงหาพระดี-พระแท้ของชาวพุทธที่ต้องการที่ยึดเหนี่ยว ในช่วงที่สังคมและเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนไป

ทั้งยังเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ช็อปปิงครูอาจารย์” ที่แม้แต่กลุ่มชนชั้นกลางที่ดูจะมีสติปัญญาที่สุดก็ยังบริโภค

พระสงฆ์ หอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร
ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร

ผู้เขียนหนังสือดังกล่าววิเคราะห์ไว้ว่า การที่ชาวพุทธชนชั้นกลางไทยพยายามสร้างหรือจินตนาการรูปปฏิมาพระสงฆ์ที่ดีและพึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่เป็นระยะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข่าวฉาวของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปในช่วงต้น

อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์บางรูปที่ชนชั้นกลางไทยมองว่าน่านับถือและยึดเหนี่ยวก็ทำพวกเขาผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตอนนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องแก้ไม่หาย ดังที่เกิดเรื่องมากมายในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาสา คำภา. ลอกครอบพุทธแท้ ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน, มีนาคม 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2568