
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? ตอนที่ 2
ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงหลักปักฐานในสยามในสมัยกรุงธนบุรี จำนวนหนึ่งมีทายาทสืบทอดเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน แล้ว 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี มีสายสกุลใดบ้าง? หนังสือ “ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” (สำนักพิมพ์มติชน) โดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร มีคำตอบ
อ่านเพิ่มเติม : 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? (ตอนที่ 1)
สกุล “ณ สงขลา” และ “สุวรรณคีรี”
จีนเหยี่ยง แซ่เฮา ต้นตระกูล ณ สงขลา ออกเดินทางจากบ้านเส้หิ้นเหนือเมืองเอ้หมึง เขตจางโจว มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อ พ.ศ. 2293 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) มาทำกินที่บริเวณเขาแดง เมืองสงขลา

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำทัพหลวงเสด็จไปตีนครศรีธรรมราช จีนเหยี่ยงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตั้วแปะ” ซึ่งขณะนั้นอายุมากแล้ว และก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะมั่นคง ได้ถวายตัวพร้อมบัญชีทรัพย์สิ่งของและยาแดง 50 หีบ ขอพระราชทานทำรังนกบนเกาะสี่เกาะห้า
พระเจ้าตากทรงรับไว้แต่ยาแดง แล้วตั้งตั้วแปะเป็นหลวงอินทคีรีสมบัติ เป็นเจ้าภาษีรังนกตามที่กราบบังคมทูลขอ ให้หลังอีก 7 ปี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองสงขลา ตำแหน่ง หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง) มีลูกหลานสืบมาในสายสกุล ณ สงขลา และ สุวรรณคีรี
สกุล “รัตนกุล”
จีนกุน แซ่อึ้ง ดำรงตำแหน่งพระราชประสิทธิ์ เจ้ากรมพระคลังวิเศษในสมัยกรุงธนบุรี ย้ายถิ่นฐานจากบ้านปรก ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำแม่กลอง มาอยู่แถววัดเลียบฝั่งบางกอก ต่อมาทำความดีความชอบจนได้ดำรงตำแหน่งพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 1 และได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) เป็นต้นตระกูล “รัตนกุล”
สกุล “สมบัติศิริ”

เต๊กงึ้ง แซ่ตั้ง เกิดที่ตำบลกัวตึ้ง เมืองแต้จิ๋ว เมื่อเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนได้เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่งงานกับ พูน แซ่จู ซึ่งเป็นลูกจีน มีบุตรด้วยกัน 6 คน มีหลานและเหลนที่ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน ในรัชกาลที่ 2
เต๊กงึ้งตั้งใจทำมาค้าขายสร้างฐานะจนเป็น “เจ๊สัว” และได้เป็น พระยาศรีราชอากร ส่วนบุตรชายของเจ๊สัวเต๊กงึ้งที่มีชื่อจีนว่า เงี้ยบสุง หรือชื่อไทยว่า บุญศรี แซ่ตั้ง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสมบัติวานิช
ล่วงเข้ารัชกาลที่ 6 ศรีเสนา สมบัติศิริ เมื่อครั้งเป็นหลวงศักดิ์เสนา (ฮะ) มหาดไทยมณฑลปราจีน กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุลว่า “วานิชากร” โดยใช้คำหลังของพระยาสมบัติวานิชและพระยาศรีราชอากร แต่รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่าควรใช้คำหน้ามารวมกัน จึงพระราชทานนามสกุลว่า “สมบัติศิริ”
สกุล “สวัสดิบุตร”
มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ กล่าวถึง เจ๊สัวหลิน แซ่โหงว จีนบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ว่า มีแซ่เดียวกับกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) พระบรมราชชนนีในพระเจ้าตาก และเจ๊สัวหลินเป็นนายสำเภาคนสำคัญที่บรรทุกสินค้าไปค้าขายที่เมืองจีน เจ๊สัวหลินเป็นปู่ของพระยาสวัสดิวารี (ฉิม) ในรัชกาลที่ 3 และเป็นต้นตระกูล “สวัสดิบุตร”
สกุล “สุนทรเวช”

สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า ต้นตระกูล “สุนทรเวช” เป็นคนจีนแซ่ลี้ อาศัยอยู่ที่เมืองจันทบูรในรัชกาลพระเจ้าตาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้สันทัดภาษาจีนไปศึกษาจารึกบนศิลาหน้าหลุมศพในค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี ก็เห็นว่าบรรพบุรุษของอดีตนายกฯ เป็นสตรีแซ่ลี้ มีฐานะเป็นเอกภรรยาของสามีแซ่ตั้ง ดังนั้น หากอิงตามขนบธรรมเนียมเดิมของชาวจีน ต้นตระกูลสุนทรเวชควรเป็นตระกูลแซ่ตั้ง เพราะสืบต่อแซ่ทางฝ่ายชาย
หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของสมัคร ระบุว่า ต้นตระกูลของอดีตนายกฯ ผู้นี้เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เคยค้าขายอยู่ระหว่างฮกเกี้ยนกับเวียดนาม ต่อมาลงหลักปักฐานที่เมืองหมีทอ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของเวียดนาม แล้วย้ายไปอาศัยที่เมืองจันทบูร ก่อนจะเดินทางมาตั้งรกรากที่สำเพ็ง ในกรุงเทพฯ
9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรีทั้งหมดนี้มีเชื้อสายสืบต่อมาอีกกว่า 200 ปี โลดแล่นในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะแวดวงการเมืองและเศรษฐกิจ
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของชาวจีนแต้จิ๋ว อ่าวจังหลิน อพยพมาไทยระยะแรก ถึงครอบครัวของแต้สิน (ตากสิน)
- ชาวจีนในร้อยเอ็ดกลุ่มแรกคือใคร เป็นต้นตระกูลใดในปัจจุบัน
- การตั้งชื่อของคนจีน 7 ประการ ตั้งแบบไหนเป็นมงคล ตั้งแบบไหนห้ามเด็ดขาด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่ม 1 สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568
สั่งซื้อหนังสือชุดนี้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2568