ชาวจีนในร้อยเอ็ดกลุ่มแรกคือใคร เป็นต้นตระกูลใดในปัจจุบัน

บึงพลาญชัย ร้อยเอ็ด อีสาน ตำนานเมืองร้อยเอ็ด ชาวจีนในร้อยเอ็ด
บรรยากาศในอดีต บริเวณบึงพลาญชัย ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น มีชาวจีนอีกไม่น้อยที่เดินทางบุกป่าฝ่าดงไปตั้งถิ่นฐานในเมืองอื่นๆ ของสยาม เช่น นครปฐม (อ่านเรื่องราวของ “ชาวจีนในนครปฐม” ได้ที่ลิงก์ท้ายบทความนี้) รวมไปถึงในภาคอีสาน อย่าง เมืองร้อยเอ็ด แล้วชาวจีนในร้อยเอ็ดเมื่อ 100 กว่าปีก่อนเป็นใครบ้าง และเป็นต้นตระกูลใดในปัจจุบัน

ชาวจีนเดินทางสู่ภาคอีสานด้วยวิธีไหน

พีรวัฒน์ พูนสวัสดิ์พงศ์ ระบุในวิทยานิพนธ์ “คนเชื้อสายจีนกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของเมืองร้อยเอ็ด ทศวรรษ 2470 ถึง ทศวรรษ 2530” ว่า

ชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้าสู่ภาคอีสานในช่วงแรก ก่อนการสร้างทางรถไฟกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มักเดินทางจากจีนด้วยเส้นทางทะเลเป็นหลัก ด้วยการโดยสารเรือจากเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน โดยเฉพาะจากเมืองซัวเถามาขึ้นที่กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ติดทะเลอื่นๆ

หากเดินทางไปภาคอีสาน มักนิยมใช้ 2 เส้นทาง คือ เดินทางมาตามแนวแม่น้ำถึงสระบุรี แล้วอาศัยเกวียนข้ามเทือกเขาดงพระยาเย็นไปยังเมืองนครราชสีมา อีกเส้นทาง คือ เดินทางตามแนวคลองแสนแสบ คลองบางขนาก บางปะกง ถึงปราจีนบุรี แล้วเข้าสู่หัวเมืองอีสานใต้

พอถึงอีสานแล้วก็จะอาศัยเส้นทางเกวียน ซึ่งเป็นการคมนาคมรูปแบบเดียวที่สามารถเดินทางเข้าสู่เมืองร้อยเอ็ด เนื่องจากในเมืองร้อยเอ็ดไม่มีเส้นทางแม่น้ำลำคลองเชื่อมต่อกับหัวเมืองอื่นในภูมิภาค

อีกเส้นทางที่น่าสนใจ คือ ทางบก อาศัยการเดินเท้าจากภูมิลำเนาเดิมทางตอนใต้ของจีน เข้าลาว ข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสานตอนบน แล้วใช้เกวียนไปยังเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนตอนใต้ อาณาจักรล้านช้าง ภาคอีสานตอนบน เขมร และเวียดนาม มาตั้งแต่อดีต

เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสายอีสาน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แล้วเสร็จด้วยแรงงานชาวจีนเป็นหลัก และเปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2443 ชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว รองลงมาเป็นจีนแคะ และจีนกวางตุ้ง ก็ใช้เส้นทางนี้เดินทางสู่อีสานแทนเส้นทางแบบเดิม

ชาวจีนในร้อยเอ็ดกลุ่มแรกคือใคร และเป็นต้นตระกูลใดบ้าง

พีรวัฒน์ ซึ่งศึกษาเรื่องราวชาวจีนในร้อยเอ็ดบอกในวิทยานิพนธ์ว่า หลักฐานที่ระบุถึงชาวจีนกลุ่มแรกที่มีถิ่นฐานชัดเจนในเมืองร้อยเอ็ดไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่จากการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น สามารถสืบย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

เหียบสูน แซ่ตั้ง ชาวจีนในร้อยเอ็ด
นายเหียบสูน แซ่ตั้ง (ภาพจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด และวีระ วุฒิจำนงค์ ในวิทยานิพนธ์ของพีรวัฒน์)

ช่วงนั้นมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำการค้าที่เมืองร้อยเอ็ด นำโดย นายเหียบสูน แซ่ตั้ง ที่บ้านเกิดเมืองนอนเจอภัยธรรมชาติจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงนั่งเรือสำเภาจากจีนมาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นกุลีท่าเรือได้สักพักก็ชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนชาวจีนรวม 18 คน เดินทางสู่อีสานเพื่อหาลู่ทางทำมาหากิน

นายเหียบสูนและคณะใช้การเดินเท้าและเกวียนไปยังเมืองนครราชสีมา แล้วเดินทางไปเมืองสุรินทร์และเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) แต่ระหว่างทางมีผู้เสียชีวิต ตั้งบ้านเรือนในเมืองที่เดินทางผ่าน และบางส่วนแยกไปเมืองยโสธร ทำให้เมื่อถึงเมืองร้อยเอ็ดมีเพียงนายเหียบสูนและเพื่อนอีก 8 คนเท่านั้น

นายเหียบสูนสร้างตึกดินขนาด 6 คูหา ทำการค้าบริเวณถนนผดุงพานิชใกล้กับจวนเจ้าเมือง ใช้ชื่อร้านว่า “ตั้งซุ่นฮะ” บริเวณนั้นจึงเกิดเป็นชุมชนจีน และเป็นย่านการค้าแห่งแรกของเมืองร้อยเอ็ด

เขาสร้างครอบครัวและทำการค้าอยู่หลายสิบปี และกลับประเทศจีนใน พ.ศ. 2437 สร้างคุณประโยชน์ให้บ้านเกิดจนได้รับพระราชทานตำแหน่งขุนนางฝ่ายบุ๋นจากราชสำนักชิง กระทั่งถึงแก่กรรมที่นั่นใน พ.ศ. 2449 แต่ลูกหลานยังอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย นายเหียบสูนเป็นต้นตระกูล “เกษมทรัพย์”

นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนอีก 3 ราย ที่เดินทางมาในคณะเดียวกับนายเหียบสูน คือ นายซือฮ้วง แซ่ตั้ง นายกาสี แซ่เซีย และนายแช แซ่เตีย

ซือฮ้วง แซ่ตั้ง นางหนูแดง ชาวจีนในร้อยเอ็ด
นายซือฮ้วง แซ่ตั้ง และนางหนูแดง ภรรยา (ภาพจากอโนชา ทับทิม, ปกิณกะเมืองร้อยเอ็ดจากภาพถ่ายเก่า (เอกสารประกอบการนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด) หน้า 37 ในวิทยานิพนธ์ของพีรวัฒน์)

นายซือฮ้วง แซ่ตั้ง แม้จะมีชื่อแซ่เดียวกับนายเหียบสูน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันหรือไม่ พบแต่เพียงว่ามาจากหมู่บ้านเดียวกันเท่านั้น เมื่อถึงเมืองร้อยเอ็ด นายซือฮ้วงเปิดร้านค้าปลีกชื่อ “ฮ่วงหลี” เป็นตึกขนาดใหญ่ 8 คูหา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของคุ้มสระสิม ริมถนนผดุงพานิชฝั่งเหนือ ต่อมาได้แต่งงานกับนางหนูแดง ธิดาของนายแช แซ่เตีย

เขามีความสามารถด้านการค้าอย่างยิ่ง ประกอบกับมีบ้านติดกับจวนเจ้าเมือง จึงได้รับความไว้วางใจจากพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) ให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง และได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้ผูกขาดสัมปทานต้มสุรา นับว่ามีฐานะมั่งคั่งและเป็นที่พึ่งพิงให้ญาติพี่น้องที่อพยพเข้ามาในภายหลัง เป็นต้นตระกูล “อิฐรัชฏ์”

นายกาสี แซ่เซีย เข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย ตั้งร้านค้าชื่อ “ตั้งเฮี่ยนเซ้ง” ที่ถนนผดุงพานิช ต่อมาแต่งงานกับนางเหง่า ธิดาหลวงโภคา (หลวงโภคาเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน อพยพจากนครเวียงจันทน์เข้ามาอีสาน) นายกาสีมีบทบาทสำคัญในการช่วยงานราชการอยู่เสมอ ทางการจึงแต่งตั้งให้เป็น “หลวงนุกูลกิจคดีจีน” มีหน้าที่ดูแลชาวจีนในเมืองร้อยเอ็ด เป็นต้นตระกูล “นุกูลการ”

ชาวจีนในร้อยเอ็ดอีกคน คือ นายแช แซ่เตีย ประกอบอาชีพค้าขายและตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ถนนผดุงพานิช ภายหลังแต่งงานกับนางแจ้ น้องสาวของนางเหง่า ภรรยาหลวงนุกูลกิจคดีจีน (กาสี แซ่เซีย) หลังจากมีพระราชบัญญัตินามสกุล ทายาทของนายแชและนางแจ้ได้ใช้นามสกุล “จุฑางกูร”

เมื่อการเดินทางระหว่างเมืองหลวงกับภาคอีสานสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งชาวจีนกลุ่มแรกในเมืองร้อยเอ็ดลงหลักปักฐานมั่นคงแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ญาติพี่น้องของชาวจีนกลุ่มนี้รวมทั้งชาวจีนกลุ่มอื่นๆ จึงมาตั้งรกรากในเมืองร้อยเอ็ด เป็นต้นตระกูลต่างๆ ที่สืบมาถึงปัจจุบัน อาทิ “ไชยโภค” “อิฐรัตน์” “วรามิตร” “อัตถากร” จุรีมาศ” ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พีรวัฒน์ พูนสวัสดิ์พงศ์. คนเชื้อสายจีนกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของเมืองร้อยเอ็ด ทศวรรษ 2470 ถึง ทศวรรษ 2530. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2568