“ชาวจีนในนครปฐม” เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ทำอาชีพอะไรกันบ้าง?

พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปและรูปหล่อสำริด ชาวจีนในนครปฐม
ภาพมุมสูง "พระปฐมเจดีย์" จังหวัดนครปฐม

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวจีนอพยพเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก เมื่อตั้งถิ่นฐานในบางกอกจนมีฐานะและมีจำนวนมากขึ้น ก็เคลื่อนย้ายไปตั้งรกรากในพื้นที่อื่นๆ เช่น นครชัยศรี ที่ปัจจุบันคือนครปฐม โดยตั้งชุมชนติดแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวก แล้วชาวจีนในนครปฐมเมื่อร้อยกว่าปีก่อนประกอบอาชีพอะไรกันบ้าง?

อาชีพของชาวจีนในนครปฐม

ศิวพล เจริญกิตติยศ พูดถึงประเด็นนี้ในบทความ “การเติบโตของเมืองนครปฐมผ่านบทบาทของชาวจีน” ใน Silpakorn University e-Journal ว่า

สังฆราชปัลเลอกัวซ์ บาทหลวงฝรั่งเศส ชาวจีนในนครปฐม
สังฆราชปัลเลอกัวซ์ พร้อมด้วยเด็กไทยชื่อแก้ว และเด็กญวนชื่อชมถ่ายที่ปารีส เมื่อ พ.ศ. 2397 (ภาพ: Wikimedia Commons)

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ปรากฏชาวจีนจำนวนมากในพื้นที่นครชัยศรี ดังบันทึกของ สังฆราช ฌ็อง-บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) ที่เดินทางไปดูแลชุมชนชาวคริสต์ทางตะวันตกของสยามในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2386

ระหว่างเดินทาง สังฆราชปัลเลอกัวซ์แวะพักที่เมืองนครชัยศรี และบันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้ว่า

“ไร่อ้อยที่เห็นกินบริเวณกว้างอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ บอกให้เรารู้ว่ากำลังเข้าเขตนครชัยศรีแล้ว ไม่นานเราก็เห็นโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่เรียงรายต่อเนื่องกันไป แทบไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นคั่นกลาง ข้าพเจ้าลองนับดูได้มากกว่า 30 โรง แต่ละแห่งก็จะใช้แรงงานกรรมกรชาวจีนไม่น้อยกว่า 200-300 คน…”

การเกิดคลองเจดีย์บูชาใน พ.ศ. 2405 รวมทั้งการบูรณะพระปฐมเจดีย์ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดชุมชนชาวจีนที่นครปฐม เพราะมีการใช้แรงงานชาวจีนจำนวนมาก เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นก็ลงหลักปักฐานตามพื้นที่รอบคลองเจดีย์บูชา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และยังไม่มีใครถือสิทธิ์ครอบครอง

ศิวพล ระบุอีกว่า การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2447 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ชุมชนชาวจีนในเมืองนครปฐมมีชาวจีนอาศัยอยู่ถึง 33,992 คน นับว่าสูงมากในเวลานั้น

พระปฐมเจดีย์ ชาวจีนในนครปฐม
พระปฐมเจดีย์ในอดีต (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ชาวจีนในนครปฐมประกอบอาชีพอะไรกันบ้าง?

1. แรงงานรับจ้าง หรือที่เรียกว่า “กุลีจีน” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเมืองนครปฐม เพราะสร้างและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมที่ใช้ติดต่อกับกรุงเทพฯ ให้สะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งการขุดคลองเจดีย์บูชา สมัยรัชกาลที่ 4 หรือการสร้างทางรถไฟสายใต้ สมัยรัชกาลที่ 5

2. ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ถือเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ในพื้นที่ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และขยายมากขึ้นอีกในรัชกาลที่ 3 มีชาวจีนเป็นผู้ดำเนินกิจการในภาคธุรกิจนี้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่เป็นแรงงานปลูกอ้อย ตัดอ้อย และบุคลากรด้านต่างๆ ในโรงงาน เช่น ผู้จัดการ (หลงจู๊) นายโรงหีบ หัวหน้า คนงาน (จีนเตง) นายช่าง (ไส้หู้) เสมียน กุลี ฯลฯ

3. ธุรกิจอุตสาหกรรมข้าว ชาวจีนมีบทบาทเด่นคือเป็นพ่อค้าคนกลางและพ่อค้ารายย่อย เป็นผลมาจาก “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ระหว่างสยามกับอังกฤษใน พ.ศ. 2396 ที่มีการเปิดการค้าเสรี มีความต้องการข้าวในการส่งออกมากขึ้น สอดคล้องกับภูมิประเทศของนครชัยศรี ซึ่งเหมาะสมในการปลูกข้าว ธุรกิจนี้รุ่งเรืองมากหลังธุรกิจน้ำตาลซบเซา เป็นผลจากราคาอ้อยลดลง และธุรกิจน้ำตาลทำกำไรได้น้อยกว่าการค้าข้าว

4. เกษตรกร เมื่อชาวจีนที่เป็นแรงงานรับจ้างขุดคลองเจดีย์บูชาเสร็จสิ้นภารกิจ ก็ตั้งถิ่นฐานตามแนวคลอง และผันตัวเป็นเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชต่างๆ พร้อมกับนำวิธีเพาะปลูกแบบ “ยกร่อง” มาใช้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน

5. พ่อค้า ชาวจีนบางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย เริ่มจากการพายเรือขายสินค้าต่างๆ ไปตามแม่น้ำนครชัยศรี และคลองย่อยต่างๆ บริเวณรอบองค์พระปฐมเจดีย์ กระทั่งพัฒนากลายเป็นตลาดชุมชน เกิดเป็นตลาดปากคลองเจดีย์บูชา หรือที่เรียกว่า “ตลาดต้นสน”

6. เจ้าภาษีนายอากร มีที่มาจาก “สนธิสัญญาเบอร์นี” ใน พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 คราวนั้นทรงประกาศให้เก็บภาษีอากรใหม่เพิ่มอีก 38 ชนิด และทรงฟื้นฟูการผูกขาดภาษีอากรขึ้นมาใช้อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้มีรายได้เข้าท้องพระคลัง ทดแทนรายได้จากการค้าที่ลดลง ชาวจีนที่สั่งสมทุนมากพอจากการเป็นพ่อค้าจึงมักประมูลแข่งเป็นเจ้าภาษีสินค้าประเภทต่างๆ

ชาวจีนที่ปักหลักตั้งถิ่นฐานในนครปฐมยุคดังกล่าวจำนวนไม่น้อย มีลูกหลานสืบมากระทั่งทุกวันนี้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศิวพล เจริญกิตติยศ. “การเติบโตของเมืองนครปฐมผ่านบทบาทของชาวจีน” ใน, Silpakorn University e-Journal. ปีที่ 44 ฉบับที่ 5 (กันยายน – ตุุลาคม) พ.ศ. 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2568