“คนจีน” ในนครสวรรค์มาจากไหน? ดูยุคอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ และจุดเสื่อมทางเศรษฐกิจ

บริเวณปากน้ำโพ ชุมทางการค้าในอดีต (ภาพจากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครสวรรค์, 2542)

นครสวรรค์ เป็นอีกหนึ่งท้องถิ่นที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สืบค้นย้อนกลับไปได้ยาวนาน พบหลักฐานบ่งชี้สถานะ “รัฐกึ่งกลาง” ตั้งแต่สมัยทวารดี สุโขทัย และอยุธยา ด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยหลายประการทำให้นครสวรรค์พัฒนาสืบเนื่องจนมี “คนจีน” หลั่งไหลมาขายแรงงานและค้าขายในช่วงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคนจีนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วย

หลักฐานทางโบราณคดีในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา (จาก พ.ศ. 2562 ถึง 2527) บ่งชี้ถึงร่องรอยการเข้ามาตั้งถิ่นฐานและใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในบริเวณละแวกนี้ตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ คาดว่าประมาณ 3,000-2,700 ปี บางจุดเชื่อว่าอาจย้อนไปไกลถึง 4,500-3,500 ปี อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล ตำบลสร้อยทอง อำเภอตาคลี (สุรพล นาถะพินธุ, 2539)

Advertisement

การตั้งชุมชนในพื้นที่นครสวรรค์เชื่อว่า เริ่มตั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เริ่มจากหมู่บ้านขนาดเล็กที่หาเลี้ยงตัวด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นชุมชนที่ใช้โลหะ อย่างสำริด และเหล็ก สังคมก็เริ่มขยายตัวเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ โดยข้อมูลที่รวบรวมโดยคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ระบุว่า มีข้อสังเกตเกี่ยวกับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายว่ามักอยู่ในเขตที่ดอนใกล้แหล่งน้ำที่มีน้ำซึม น้ำซับ อันเรียกกันว่า พุ หรือ ซับ ไม่ไกลจากแหล่งแร่เหล็กและทองแดง เช่น บ้านใหม่ชัยมงคล บ้านจันเสน ในอำเภอตาคลี ชุมชนเหล่านี้ก็สร้างเครือข่ายติดต่อถึงกัน ลักษณะหลายประการของชุมชนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากอินเดียที่เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมพื้นเมือง หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาเป็นชุมชนเมืองที่มีผังเมืองชัดเจนในสมัยประวัติศาสตร์

เมื่อชุมชนรับอิทธิพลจากอินเดียเข้ามาปรับปรุงก็กลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งมักถูกเรียกกันว่าวัฒนธรรมทวารวดี ลักษณะของชุมชนโบราณ โบราณสถาน และโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณเมืองโบราณมีลักษณะคล้ายหรือมีลักษณะร่วมสมัยกับเมืองสมัยทวารวดีแห่งอื่นซึ่งเป็นที่รู้จัก อาทิ อู่ทอง นครปฐม และพงตึก

ข้อมูลอีกจุดคือ ดินแดนนครสวรรค์สมัยทวารวดีคือเป็นชุมชนที่ติดต่อกับภายนอกหรือมีการค้าทางไกลสูงพอสมควร เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางศิลปะ ศิลปวัตถุเช่นลูกปัด และสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับอินเดีย ทำให้คาดการณ์ได้ว่าบทบาทของนครสวรรค์มีความสำคัญในฐานะ “รัฐกึ่งกลาง” เชื่อมต่อระหว่างทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก

สุโขทัย

เมื่อมาถึงสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18-20) บทบาทและความสำคัญของนครสวรรค์ในอดีตย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี อันเป็นเมืองศูนย์กลางของวัฒนธรรมเขมรในภาคกลางของไทย ขณะที่มีชื่อเมืองพระบาง ขึ้นมาแทนที่เมืองดงแม่นางเมืองที่เคยรุ่งเรืองและเสื่อมลงไป

ศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักเอ่ยถึงเมืองนี้ในฐานะเมืองสำคัญทางใต้ของอาณาจักรสุโขทัย ขณะที่ศิลาจารึกหลักที่ 8 กล่าวถึงเรื่องราวพระมหาธรรมราชาลิไทยพาไพร่พลจากเมืองต่างๆในอาณาเขตมานมัสการพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏสุโขทัย แสดงให้เห็นว่าเมืองพระบางเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยกั้นหัวเมืองทางใต้ที่จะขึ้นมาสุโขทัย

ในแง่ “รัฐกึ่งกลาง” ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงที่แสดงสถานะนี้ชัดขึ้นเนื่องจากเป็นทางผ่านในการขยายอำนาจของสุโขทัยมาสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสักทางเขตเมืองศรีเทพขึ้นไป แต่ในแง่นี้เป็นรัฐกึ่งกลางระหว่างทิศเหนือและใต้ มากกว่าตะวันตกและตะวันออก

อยุธยา

หลังจากที่อาณาจักรสุโขทัยถูกราชวงศ์สุพรรณบุรีพิชิต นครสวรรค์กลายเป็นรัฐกึ่งกลางในอาณาจักรอยุธยา โดยหันหน้าไปทางทิศใต้ ส่วนเมืองพระบางก็น่าจะขึ้นกับอยุธยาแล้ว จากที่ศิลาจารึกสมัยหลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทยไม่ได้กล่าวถึงเมืองพระบางเลย ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่า เมืองพระบางอยู่ใต้อำนาจของอยุธยา

ในสมัยอยุธยา นครสวรรค์มีสถานะเป็นชุมทางสินค้า เนื่องจากเป็นที่รวมของแม่น้ำที่ปากน้ำโพ จึงทำให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคเหนือกับภาคกลาง

นอกจากนี้ นครสวรรค์ยังมีบทบาทเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “เมืองประชุมพล” อันเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดสงครามระหว่างอยุธยากับพม่าตามเส้นทางที่พม่ายกทัพมาทางตำบลระแหง แขวงเมืองจาก ลงมาทางกำแพงเพชรถึงนครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม เมืองประชุมพลที่ว่านี้เอื้อประโยชน์เข้ากับฝั่งพม่ามากกว่า เมื่อทัพพม่ามักใช้นครสวรรค์เป็นฐานตั้งทัพที่ประชุมพล เนื่องจากเป็นจุดรวมเส้นทางคมนาคมทางบกและน้ำ สะดวกต่อการขนส่งลำเลียงไพร่พลและสิ่งของต่างๆ แถมยังมีเส้นทางตัดไปพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอื่น ๆ ได้

เมื่อผ่านสงครามในพ.ศ. 2129 ซึ่งพม่าไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าโจมตีอยุธยา พม่าก็เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาใช้เส้นทางด่านเจดีย์สามองค์

ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ สู่การหลั่งไหลของคนจีน

ในสมัยธนบุรี ไทยขึ้นไปรับศึกเหนือเมืองนครสวรรค์ สถานะเมืองนครสวรรค์กลายเป็นเพียงเมืองส่งกำลังบำรุงทัพหลวงที่ขึ้นไปตั้งรับพม่าในเขตหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้นครสวรรค์เป็นเมืองที่ระวังเส้นทางลำเลียงและระวังข้าศึกที่ยกมาทางลำน้ำปิงเมื่อครั้งสงคราม พ.ศ. 2318 เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานะของเมืองนครสวรรค์จึงเป็นเมืองพักทัพบ้าง หรือเป็นเมืองหน้าด่านในการป้องกันข้าศึกจากทางเหนือบ้าง

ครั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงเวลาที่สถานะ “รัฐกึ่งกลาง” ของนครสวรรค์รุ่งเรืองในแง่เศรษฐกิจ หลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ระบบการค้าแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยมเข้ามา นครสวรรค์กลายเป็นแหล่งรวมสินค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้าวและไม้สักจากภาคเหนือซึ่งเตรียมส่งไปกรุงเทพฯ

ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาวร์ริงอีกประการคือฝั่งตะวันออกคือฝั่งแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น มีบริษัทต่างชาติอย่างอีสต์เอเชียติก และโรงสี กิจการการค้าอีกหลายอย่างเกิดขึ้น และที่ส่งผลต่อนครสวรรค์คือ ข้าว ซึ่งส่งมาลงที่แม่น้ำน่านผ่านทางเรือเป็นจำนวนมาก และในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มมีขนส่งทางรถไฟ

การขยายตัวทางการค้านี้เองเป็นผลให้มีชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาขายแรงงานและประกอบการค้าในนครสวรรค์มากขึ้น ชาวจีนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเจริญทางเศรษฐกิจในนครสวรรค์ในฐานะรัฐกึ่งกลาง ในพ.ศ. 2447 ตัวเลขชาวจีนในนครสวรรค์โดยประมาณเชื่อว่ามีมากถึง 6,000 คน ใกล้เคียงกับภาคกลาง (กรณีที่ไม่นับกรุงเทพฯ) มีคนจีนราว 10,000 คน จำนวนคนจีนในเวลานั้นมาเป็นอันดับ 3 รองจากกรุงเทพฯ และภูเก็ต

คนจีน ในนครสวรรค์ช่วงเวลานั้นเป็นกลุ่มแต้จิ๋วและไหหลำ ซึ่งถือว่าเป็นฐานทางเศรษฐกิจสำคัญสำหรับนครสวรรค์ ทั้งในแง่กิจการรายย่อยและการค้าขนาดใหญ่ มีกิจการ อาทิ โรงสี ป่าไม้ โรงเลื่อย บันทึกทางวัฒนธรรมบรรยายว่า เศรษฐกิจในนครสวรรค์รุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงต้นรัชกาลที่ 7 ภาพสะท้อนที่เห็นได้คือความคึกคักของบริเวณปากน้ำโพ อันถือเป็นพื้นที่ชุมนุมของเรือค้าข้าวแห่งใหญ่ใกล้เคียงกับที่กรุงเทพฯ พ่อค้าจากหลากหลายแหล่งจะมาชุมนุมกันที่ปากน้ำโพเพื่อเลือกซื้อและประมูลสินค้าอย่างไม้สัก ผลสืบเนื่องตามมาคือทำให้เกิดตลาดอันเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญอย่าง ตลาดลาว, ตลาดสะพานดำ และตลาดท่าชุด

เศรษฐกิจในนครสวรรค์เริ่มดิ่งลงเมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ขณะเดียวกันการสร้างทางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ในพ.ศ. 2465 และสร้างสถานีรถไฟที่ตำบลหนองปลิง (สถานีรถไฟนครสวรรค์) ทำให้การเดินทางทางน้ำลดลง ต่อมาในพ.ศ. 2493 เมื่อมีการสร้างทางรถยนต์และเปิดใช้สะพานเดชาติวงศ์ นครสวรรค์ กลายเป็นเมืองผ่าน สินค้าไม่จำเป็นต้องมารวมกันที่นครสวรรค์อีก สถานะรัฐกึ่งกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าก็เริ่มเสื่อมลง

แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ทำให้คนจีนต้องปรับตัว คนจีนชนชั้นนำในนครสวรรค์ต้องพัฒนาตัวเองให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป กลุ่มคนจีนชนชั้นนำในนครสวรรค์สะสมทุนจากการค้ารูปแบบต่างๆ อย่างพ่อค้าคนกลาง นายทุนเงินกู้ กลายเป็นเจ้าของทุนในหลายด้าน ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม และธนาคาร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุรพล นาถะพินธุ. “วัฒนธรรมสมัยโบราณที่บ้านใหม่ชัยมงคล,” ใน สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลพบุรี-ป่าสัก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แก้วการพิมพ์, 2539), หน้า 122-151

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครสวรรค์. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กระทรวงศึกษาธิการ, กรมศิลปากร. 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2562