ย้อนการค้าในไทยยุค 2420-2510 จีนครองโรงสี ถึง “ผูกขาดการค้า” ฝรั่งรับว่าสู้ไม่ได้

สำเพ็งในอดีต (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543)

การค้าของคนจีนในไทยช่วงระหว่าง พ.ศ. 2420-2510 เรียกได้ว่าเป็นพลังที่ส่งอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเชิงการผลิตเมื่อฉายภาพผ่านกิจการร้านค้าและโรงสี ขณะที่ในเชิงการค้า นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาซึ่งเป็นห้วงที่เศรษฐกิจทุนนิยมโลกกำลังแผ่ขยายเข้ามาในหลายพื้นที่ในไทยและส่งผลกระทบ โดยเฉพาะในชนบทภาคกลาง ไปจนถึงนายทุนพ่อค้าชาวจีน

เรื่องราวของกิจการคนจีนที่อยู่ในภาคกลางอย่างกรุงเทพฯ นครสวรรค์ (ภาคเหนือตอนล่าง บางกลุ่มเคยจัดให้เป็นภาคกลางตอนบน) หรือในพื้นที่ชนบทจุดอื่นในภาคกลางตั้งแต่พ.ศ. 2503 เป็นต้นมาเป็นช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้บริบทเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกซึ่งส่งผลต่อการผลิตและความสัมพันธ์การผลิต ช่วงที่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกแผ่เข้ามาในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ชนชั้นนายทุนที่เติบโตชัดเจนคือ นายทุนพ่อค้าจีน และนายทุนขุนนาง

ในภาพกว้างของเศรษฐกิจไทยช่วง พ.ศ. 2503-2516 ผลการศึกษาการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ส่งผลต่อสังคมชนบทภาคกลางระหว่าง พ.ศ. 2503-2516 โดยวิทยากร เชียงกูล พบว่า นายทุนพ่อค้าจีน และนายทุนขุนนาง (ข้าราชการชั้นสูงที่ได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุน) ร่วมมือกันผูกขาดการส่งออกในลักษณะการผูกขาดกลุ่ม (Obligopoly) การพัฒนาทุนนิยมในไทยก็ยังไม่เคยผ่านช่วงทุนนิยมแข่งขัน (Competitive capitalism) อย่างจริงจัง

รายงานการศึกษาบรรยายว่า พ่อค้าจีนในช่วงเวลานั้นสามารถใช้ช่องว่างในระบบเกณฑ์แรงงานไพร่ของไทยพัฒนาตัวเองจากนายทุนพาณิชย์ นายทุนเงินกู้ขึ้นมาเป็นนายทุนสมัยใหม่ซึ่งควบคุมการส่งออกและการค้าส่งสินค้าเกษตรสำคัญไว้แทบทั้งหมด

คลิกอ่านเพิ่มเติมทำไมคนไทยค้าขายสู้คนจีนไม่ได้ ถ้า “ขยัน-ประหยัด-อดทน”เท่ากัน?

ที่มาที่ไปจากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 

หากพูดถึงการผูกขาดทางการค้า ที่มาที่ไปของโอกาสทางการค้าของคนจีนในไทยซึ่งนำมาสู่การผูกขาดควบคุมการค้าหลายประเภทในช่วง พ.ศ. 2503 เป็นต้นมานั้น เชื่อมโยงกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทยครั้งสำคัญอีกช่วงระหว่าง พ.ศ. 2353-2453 ซึ่งหากยกตัวอย่างการค้าบางชนิด อาทิ การค้าข้าว หรือกิจการโรงสีอาจพอทำให้เห็นภาพได้

ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษระหว่าง พ.ศ. 2353-2453 ที่ว่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจหลายประการ ซึ่งตามทัศนะของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการประวัติศาสตร์มองว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของชาวจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม

การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือ การเดินเรือของชาวจีนที่ขยายตัวมาจนถึง พ.ศ. 2383 เริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็วจนเกือบถึงขั้นสูญสิ้นในช่วงการค้าเสรียุคใหม่

เดิมทีคนจีนครอบครองธุรกิจการค้าและการเดินเรือของสยามทำให้ชาวจีนมีอภิสิทธิ์ในทางการค้าเป็นพิเศษ เสียภาษีสำเภาและสินค้าของตนเองเพียงเล็กน้อยและที่สำคัญคือพวกเขายอมเสียอย่างยุติธรรม ขณะที่ชาวตะวันตกถูกเรียกเก็บด้วยอัตราสูงกว่าทั้งสินค้าเข้าและออก ประกอบกับลักษณะของชาวจีนที่กล้าเสี่ยงและชำนาญการเดินเรือ มีประสบการณ์โชกโชน ชาวจีนยังติดต่อกับพ่อค้าปลีกชาวจีนในไทย เรียกได้ว่าเข้าถึงตลาด ซึ่งชาวตะวันตกไม่สามารถแข่งขันได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างโดยคร่าวเท่านั้น

ชาวตะวันตกเพิ่งได้รับสิ่งที่ต้องการจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) ซึ่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง ทูตอังกฤษทำกับสยาม ภายหลังสยามก็เริ่มทำสัญญาลักษณะคล้ายกันกับประเทศที่ทำการค้าระดับใหญ่โตทั้งในยุโรปและอเมริกา ชาวตะวันตกจึงได้รับความคุ้มครองของกงสุล มีเสรีภาพ และสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

สนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นผลทำให้ยุติการผูกขาดการค้าของกรมพระคลังสินค้า และยุติการผูกขาดการค้ากับชาวจีน ช่วงเวลานี้เรือสำเภาจีนที่ทำการค้าต่างประเทศลดน้อยลง เนื่องจากเจอการแข่งขันจากเรือกำปั่นของไทยและตะวันตก ใน พ.ศ. 2422 ระวางเรือที่จอดท่ากรุงเทพฯ มี 490,000 ตัน เป็นเรืออังกฤษ 242,000 ตัน และเรือสำเภาเพียง 10,000 ตัน ซึ่งในบรรดาเรือสำเภาก็ไม่ได้เป็นสำเภาจีนทั้งหมดด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม วิลเลียม อธิบายว่า ความเสื่อมของการเดินเรือของจีนไม่ได้หมายความถึงความเสื่อมทางการค้าต่างประเทศของจีน เมื่อดูจากการค้าต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งก็ตกในมือของคนจีน การศึกษาโดยกงสุลอังกฤษพบว่า พ.ศ. 2433 ตัวแทนการค้าในกรุงเทพฯ มีชาวจีนมากที่สุดที่ร้อยละ 62 อังกฤษร้อยละ 26 อินเดียร้อยละ 8 และอื่นๆ ร้อยละ 4

ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปแบบการผูกขาดของคนจีนเนื่องจากความคุ้นเคยในตลาดและการติดต่อกับพ่อค้าปลีกและส่งที่เป็นชาวจีน แม้แต่บริษัทตะวันตกยังต้องเลือกพ่อค้าจีนที่มั่งคั่ง และได้รับอบรมแบบตะวันตก มีความสำคัญในชุมชนจีนให้เป็นตัวแทนผู้ติดต่อของบริษัท คนจีนบางรายพูดได้ทั้งจีนแต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน แถมยังพูดไทยและอังกฤษได้บ้าง แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคยในพื้นที่

โรงสีเครื่องจักรไอน้ำ

ในช่วงพ.ศ. 2422 เป็นช่วงเวลาที่การสีข้าวโดยใช้เครื่องจักรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในมือของชาวจีนในสยาม เจมส์ ซี. อินแกรม นักวิชาการประวัติศาสตร์ซึ่งศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจในไทย อธิบายว่า ข้าวที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยามตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2398 และสินค้าออกที่ว่านี้ก็มาจากโรงสีข้าวของคนจีนแทบทั้งสิ้น และการส่งออกข้าวก็เพิ่มขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเจ้าของโรงสีชาวจีน

แม้ว่าการใช้เครื่องจักรของตะวันตกจะเข้ามาท้าทายผลประโยชน์ของชาวจีน การขยายตัวของกิจการโรงสีข้าวของตะวันตกไม่พัฒนาเพิ่มจำนวนไปเกินกว่า 5 โรง และเจ้าของกิจการชาวจีนก็สั่งเครื่องสีข้าวไอน้ำจากอังกฤษมาใช้เองในช่วง พ.ศ. 2420 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชาวยุโรป

พ.ศ. 2422 โรงสีข้าวไอน้ำของชาวจีนมีจำนวนใกล้เคียงกับชาวตะวันตก เมื่อถึงพ.ศ. 2455 โรงสีข้าวของชาวจีนในกรุงเทพฯ และเมืองใกล้เคียงก็มีรวมกันมากกว่า 50 โรงแล้ว ในเวลาเดียวกันชาวตะวันตกก็ขายกิจการโรงสีของตัวเองให้เจ้าของโรงสีชาวจีนด้วย ในช่วง พ.ศ. 2455 มีโรงสีของชาวตะวันตกเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น

ในช่วงแรกชาวจีนรู้ว่าเครื่องจักรไอน้ำมีประสิทธิภาพมาก จึงซื้อโรงสีเครื่องจักรไอน้ำ ขั้นแรกเริ่มซื้อเครื่องขนาดเล็ก และว่าจ้างวิศวกรชาวตะวันตก (โดยเฉพาะชาวสกอต) มาควบคุมเครื่อง ชาวจีนกวางตุ้งเฉลียวฉลาดเรื่องเครื่องยนต์อยู่แล้ว ยิ่งทำให้ไม่ต้องพึ่งพาชาวตะวันตกโดยตรง ตลาดต่างประเทศที่ซื้อข้าวสยามอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และภาคใต้ของจีน มีบริษัทที่สั่งซื้อที่เป็นของชาวจีนเสียเป็นส่วนมาก

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้กงสุลอังกฤษถึงกับระบุในหนังสือรายงานว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวยุโรปจะแข่งขันกับคนจีนที่มีเล่ห์เหลี่ยมในด้านการค้า (ข้าว) โดยเฉพาะนี้ได้”

โรงสีข้าวในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดดำเนินงานโดยชาวจีนแต้จิ๋ว โรงสีโดยชาวจีนไหหลำ หรือกว้างตุ้งเป็นเจ้าของและดำเนินงานมีเพียงโรงสีขนาดเล็ก 5 แห่ง ส่วนโรงสีทางภาคเหนือถูกผูกขาดโดยจีนแต้จิ๋ว มีจีนไหหลำ กว้างตุ้ง และจีนแคะอยู่เล็กน้อย แต่คนจีนที่เกิดในจีนและเป็นเจ้าของ/ผู้จัดการโรงสีลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง คนจีนที่เกิดในจีนซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการในโรงสีมีไม่ถึงร้อยละ 50 โรงสีที่ดำเนินงานโดยคนจีนที่เกิดในไทยมักใช้ชื่อไทยแทนชื่อจีน อีกทั้งยังเริ่มถูกพิจารณาว่าเป็นกิจการของคนไทยมากกว่าคนจีน

หลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว ในช่วง พ.ศ. 2489-2493 โรงสีข้าวในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 925 แห่ง การจ้างงานในโรงสีที่จ้างกรรมกรชาวจีนเพิ่มขึ้นในเฉพาะกรุงเทพฯ โรงสีในกรุงเทพฯ ยังใช้วิศวกร ช่างเครื่อง ช่างตีเหล็กและช่างไม้เป็นชาวจีนกวางตุ้ง แต่ทางภาคเหนือ กรรมกรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้งานคนจีน งานที่ต้องใช้ความชำนาญเริ่มถูกคนไทยเข้ามาแทนที่คนจีนกวางตุ้ง แต่วิลเลียม ระบุว่า คนงานประจำสำนักงานในโรงสีข้าวจะเป็นชาวจีนรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูกแทบเกือบทุกแห่ง

ทางภาคเหนือถูกประชาชนท้องถิ่นเข้ามาทำงานแทนเนื่องจากค่าแรงที่แตกต่างกันมาก โดยส่วนใหญ่แล้วชาวจีนไม่ยอมทำงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าเดือนละ 400 หรือ 500 บาท

แต่หากกล่าวโดยรวมในภาพระดับประเทศแล้ว ในช่วง พ.ศ. 2492 คนงานในโรงสีข้าวส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจีนอีกต่อไป

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง รัฐบาลไทยประกาศผูกขาดการค้าข้าวเพื่อส่งให้รัฐบาลต่างประเทศได้ตามจำนวนที่ตกลง และเพื่อควบคุมราคาขายปลีกในประเทศ ตลอดพ.ศ. 2497 รัฐบาลสามารถจัดส่งข้าวในราคาสูง และซื้อข้าวจากเจ้าของโรงสีโดยไม่คิดค่าส่งจากโรงสี แล้วขายให้ผู้ส่งออกด้วยราคาสูงกว่าราคาซื้อร้อยละ 20 การฉวยโอกาสจากความแตกต่างเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนกับอัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาด (เช่น พ.ศ. 2494 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับอัตราทางการ 12.5 บาท แต่อัตราในท้องตลาดเท่ากับ 21 บาท) เป็นผลทำให้รัฐบาลได้กำไรมากมาย อินแกรม มองว่า การผูกขาดค้าข้าวส่งผลต่อสภาพตลาด พ่อค้าคนกลางชาวไทยและผู้ส่งออกมีจำนวนมากขึ้น

นโยบายการค้าข้าวของรัฐบาลก็ปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ปลายปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลประกาศเลิกผูกขาดค้าข้าว แล้วใช้กฎใหม่ที่ประกาศต้นปี พ.ศ. 2498 ผู้ส่งออกต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมตันละ 200 ถึง 400 บาทแก่กระทรวงเศรษฐการ และยกเงินตราต่างประเทศจำนวนหนึ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อัตราขึ้นกับประเภทข้าว อยู่ระหว่างตันละ 14-84 ดอลลาร์สหรัฐ) หลังจากนั้น ผู้ส่งออกข้าวได้รับอนุญาตขายเงินตราต่างประเทศในอัตราตลาดเสรี นั่นเป็นผลเท่ากับการเพิ่มการแข่งขันระหว่างเจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวชาวจีนจากการหมดอภิสิทธิ์และหลักประกันราคาข้าวเปลือกคงที่ พ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออกข้าวชาวไทยได้รับความลำบาก

ในช่วงเวลาที่ไทยเริ่มเข้าสู่นโยบาย “ไทยนิยม” ก็เป็นอีกช่วงที่กิจการชาวจีนถูกบีบคั้น จนกระทั่งถึงช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาจากการเดินทางรอบโลก เมื่อ พ.ศ. 2498 วิลเลียม มองว่า ทัศนะของคนจีนช่วงนั้นเห็นว่าบรรยากาศทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นบ้างเช่นเดียวกับบรรยากาศการเมือง ระดับการบีบกดดันของรัฐบาลต่อนักธุรกิจจีนอยู่ในเกณฑ์ปกติ


อ้างอิง :

สกินเนอร์, จี วิลเลียม. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. มูลนิธิโตโยต้า, 2548

วิทยากร เชียงกูล. การเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคกลาง : ผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยม 2503-2523. เอกสารวิชาการหมายเลข 22 ประกอบการสัมมนา สองศตวรรษรัตนโกสินทร์ : ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย วารสารธรรมศาสตร์, 2525

Siam Consular Report 1897, 3


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 5 มีนาคม 2561