ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ธรรมเนียมการตั้งชื่อของคนจีนค่อนข้างคล้ายคลึงกับคนไทย ที่นิยมตั้งให้มีความหมายมงคล รวมทั้งมีข้อห้ามในการตั้งชื่อ ซึ่งเมื่อจำแนกแล้วมีหลักเกณฑ์ 7 ประการ มีอะไรบ้างไปดูกัน
ธรรมเนียมการตั้งชื่อของคนจีน
ผศ. ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมจีน เล่าไว้ในผลงาน “ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า คนจีนจะมีชื่อตัว หรือ “หมิง” ปกติหมายถึง “ต้าหมิง” ซึ่งเป็นชื่อจริงใช้เป็นทางการ มีระเบียบและคตินิยมในการตั้งหลายประการ บางทีเกี่ยวข้องไปถึงชื่อรอง (จื้อ) ชื่อเล่น (เสี่ยวหมิง) ตลอดจนสมญา (เปี๋ยเฮ่า) ด้วย พอสรุปเป็นหลักการสำคัญได้ 7 ประการ ดังนี้
1. ห้ามใช้อักษรเดียวกับบุพการีและบุคคลที่พึงเคารพ
เหตุผลเพราะถือว่าล่วงเกินผู้ใหญ่ พ้องเสียงต่างอักษรใช้ได้แต่ไม่ค่อยนิยม หลักข้อนี้มาจากจารีตเรื่อง “ปี้ฮุ่ย” คำนี้ตามรูปศัพท์แปลว่า “เลี่ยงอักษรต้องห้าม” แต่โดยสาระหมายถึง “เลี่ยงคำที่พึงเคารพ”

ในยุคศักดินาห้ามผู้น้อยใช้ชื่อพ้องอักษรกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามพ้องกับฮ่องเต้ ซึ่งถือว่ามีสถานะสูงสุด พระนามของพระองค์ถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้อื่นใช้ร่วม แม้ชื่อของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่แปลความหมายเป็นชื่อภาษาจีนว่า “กวนสี่อิม” (จีนกลางคือ กวนสื้ออิน) เมื่อพ้องกับพระนามตัวของพระเจ้าถังไท่จงที่ว่า “หลีสี่หมิน” (หรือ หลีสื้อหมิน) ก็ต้องตัดคำว่า “สี่” (สื้อ) ออก ให้เหลือแค่ “กวนอิม” ทั้งๆ ที่ชื่อพระโพธิสัตว์มีมาก่อน
ฉะนั้นถ้าคำว่า “หมิง” ที่แปลว่า สว่าง รุ่งเรือง เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบุพการีคนใดคนหนึ่งแล้ว ลูกหลานจะใช้อักษรนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อตนไม่ได้ การเอาส่วนหนึ่งของชื่อพ่อแม่มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อลูกอย่างที่คนไทยนิยม เช่น พ่อชื่อเฉลิม หรือเฉลิมศักดิ์ ลูกชื่อเฉลิมพันธุ์ ในวัฒนธรรมจีนถือเป็นข้อห้ามมาตลอดถึงปัจจุบัน
2. นิยมให้มีความหมายสอดคล้องกับความมุ่งหวัง อุดมคติ ปณิธานของพ่อแม่ วงศ์ตระกูล หรือเจ้าตัว
ถือกันว่าชื่อดีจะช่วยชี้นำอนาคต ในยุคศักดินาการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการดูกันตั้งแต่ชื่อ ถ้าชื่อไม่เหมาะสมอาจถูกคัดตกทันที บางคนจึงนิยมเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหวัง หรือเรื่องที่ตนเกี่ยวข้อง
เช่น หวางฉงหยาง (เฮ้งเต้งเอี๋ยงในนิยายกำลังภายในเรื่อง “มังกรหยก”) ผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋านิกายฉวนเจิน เดิมชื่อ “ฟู” แปลว่า มีสัตย์ เชื่อถือได้ ชื่อรองว่า “อวิ่นชิง” แปลว่า ขุนนางผู้สุจริต ทั้งนี้เพราะมุ่งสอบเข้ารับราชการ (ฝ่ายบุ๋น) เมื่อล้มเหลวก็หันไปสอบด้านการทหาร (ฝ่ายบู๊) และเปลี่ยนชื่อเป็น “เต๋อเวย” แปลว่า น่าเกรงขามด้วยคุณธรรม ธรรมเดชา มีชื่อรองว่า “สื้อสยง” แปลว่า วีรชนของโลก

ต่อมาใฝ่ใจในทางธรรม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “เจ๋อ” แปลว่า พุทธิปัญญา เมธา มีชื่อรองว่า “จือหมิง” แปลว่า รู้แจ้ง ส่วน “ฉงหยาง” เป็นสมญา หมายถึงดวงตะวันที่กลับเจิดจ้า และ “หวาง” เป็นแซ่ คนนิยมเรียกท่านผู้นี้ตามสมญาว่าหวางฉงหยางมากที่สุด
3. นิยมใช้คำที่มีความหมายดีงาม เป็นสิริมงคล หรือแสดงความสวยงามน่ารักในกรณีของชื่อหญิง ซึ่งการตั้งชื่อของคนจีนข้อนี้คล้ายกับคนไทย
ชื่อประเภทนี้มีเช่น “เหลียง” แปลว่าดีงาม “เต๋อ” แปลว่าคุณธรรม “เสียง” แปลว่าสิริมงคล “เซี่ยว” แปลว่ากตัญญู “เต๋อฉวน” แปลว่าสืบทอดคุณธรรม “เซี่ยวเสียง” แปลว่ากตัญญูมงคล “อี้ว์อิง” แปลว่ายอดของหยก
ตัวอย่างของชื่อจีนแต้จิ๋วที่เราได้ยินบ่อยๆ เช่น “เล้ง” แปลว่ามังกร “โฮ้ว” แปลว่าเสือโคร่ง “เคี้ยง” แปลว่าเข้มแข็ง “ย้ง” แปลว่าเกียรติยศ “ฮวด” แปลว่าเจริญ “เฮง” แปลว่าโชคลาภ “เส็ง” แปลว่ามั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ “ไช้” แปลว่าปัญญา “หลี” แปลว่าคมคาย เป็นต้น
ชื่อผู้หญิงมักเป็นชื่อดอกไม้ ผลไม้มงคล แพรพรรณหรือของสวยงาม เช่น “ลั้ง” แปลว่ากล้วยไม้ “ท้อ” คือดอกท้อ ผลท้อ “บ๊วย” แปลว่าดอกเหมย “ไน้” แปลว่าดอกบัว “ฮวย” แปลว่าดอกไม้ “เง็ก” แปลว่าหยก “ยู้” คือหยกชนิดหนึ่ง “กิ้ม” แปลว่าแพร บางชื่ออาจเป็นคำผสม เช่น “กิมเน้ย” แปลว่าบัวทอง “เง็กลั้ง” แปลว่ากล้วยไม้หยก “ชุนท้อ” แปลว่าดอกท้อในฤดูใบไม้ผลิ
4. นิยมตั้งชื่อให้มีความหมายสัมพันธ์กับแซ่ไปในทางที่ดีงาม
แม้บางแซ่มีความหมายไม่ดีเด่น แต่ผู้มีความรู้ก็สามารถตั้งให้ได้ชื่อที่ไพเราะ เช่น “แซ่หลิน” แปลว่าป่าไม้ หนาแน่นดังป่าไม้ ก็ตั้งชื่อว่า “หลินไฉเซิ่ง” แปลว่ามีทรัพย์หนาแน่นดังป่าไม้ “แซ่สือ” หมายถึงหิน ศิลา ก็ตั้งชื่อว่า “สือหญูอี้ว์” แปลว่าหินดั่งหยก “แซ่เหมย” แปลว่าต้นเหมย ก็ตั้งชื่อว่า “เหมยอี้เส่ว์” หมายถึงเหมยเจอหิมะ ปกติเหมยออกดอกงามในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีหิมะตก ชื่อนี้จึงมีนัยว่างามยิ่งดังเหมยผลิดอกงามสะพรั่งกลางหิมะ

แม้แซ่ทั่วไปก็นิยมเอาความหมายของแซ่ไปเสริมชื่อ หรือเป็นส่วนหนึ่งของชื่อให้มีความหมายเด่นชัดขึ้น เช่น ชื่อภาษาจีนของ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ว่า “หลีกวงหยง” นั้น หมายถึงผู้สร้างเกียรติให้แก่แซ่หลี ผู้เป็นเกียรติแก่แซ่หลี “แซ่เกา” หมายถึงสูง สูงส่ง ก็อาจตั้งชื่อว่า “เกาจื้อฮุ่ย” หมายถึงพุทธิปัญญาอันสูงส่ง หรือ “เกาไฉเทา” หมายถึงคลื่นปัญญาอันสูงส่ง
การจะตั้งชื่อให้สอดคล้องกับแซ่ได้ไพเราะ ต้องใช้ภูมิปัญญาทางอักษรศาสตร์และวัฒนธรรมมาก แต่ก็เป็นความนิยมอย่างยิ่งประการหนึ่งในการตั้งชื่อของคนจีน
5. นิยมใช้ชื่อที่มีความหมายลึกซึ้ง ซึ่งบางทีแฝงอยู่ในชื่อรอง
บางกรณีมีที่มาจากวรรณกรรมอมตะ ต้องอาศัยพื้นความรู้ทางอักษรศาสตร์หรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องจึงจะช่วยให้เข้าใจชัด เช่น ชื่อ “กุยเหนียน” แปลว่าอายุเต่า “เฮ่อเหนียน” แปลว่าอายุนกกระเรียน เพราะคนจีนเชื่อว่าสัตว์ 2 ชนิดนี้อายุยืน
ชื่อ “เล่าปี่” ที่แปลว่าพร้อม ความหมายที่ลึกซึ้งสมบูรณ์อยู่ในชื่อรองว่า “เหี้ยนเต๊ก” หมายถึงคุณธรรมอันลึกซึ้ง รวมชื่อตัวและแซ่แล้วหมายถึงผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมอันลึกซึ้งแห่งแซ่เล่า หรือชื่อ “โจโฉ” ที่แปลว่าปฏิบัติ ธำรงรักษา เมื่อรวมกับชื่อรองว่า “เบ้งเต๊ก” ก็หมายถึงผู้ธำรงธรรมแห่งแซ่โจ
6. ใช้คำบอกลำดับเป็นส่วนหนึ่งของชื่อ
ความนิยมอีกประการหนึ่งในการตั้งชื่อ ทั้งชื่อเล่น (เสี่ยวหมิง) ชื่อจริง (ต้าหมิง) และชื่อรอง (จื้อ) คือการใช้คำบอกลำดับที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ ตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจวมานิยมใช้คำว่า “ป๋อ” หรือ “เมิ่ง” “จ้ง” “ซู่” “จี้” ซึ่งเป็นคำบอกลำดับที่ของลูกมาเป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อ เช่น “ขงจื๊อ” ชื่อรองว่า “จังหนี” แสดงว่าเป็นลูกคนรอง เป็นต้น
7. ถ้าเชื่อโชคลางก็ต้องตั้งให้ถูกเคล็ด
คนจีนถือธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ไม้ ไฟ และโลหะ เป็นองค์ประกอบของชีวิต วันเดือนปีเกิดและเวลาตกฟากมีธาตุประจำอยู่ หากดวงกำเนิดของคนขาดธาตุใด ต้องตั้งชื่อที่มีอักษรของธาตุนั้นอยู่ด้วย เพื่อเติมส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์ เช่น ถ้าดวงเกิดขาดธาตุน้ำ ชื่อก็ต้องใช้อักษรที่มีอักษรน้ำประกอบ เช่น ชายอาจชื่อ “ไฉยวน” แปลว่าห้วงปัญญา เพราะอักษร “ยวน” มีอักษรน้ำประกอบอยู่ด้วย
อาจารย์ถาวรบอกด้วยว่า ยังมีหลักหรือความนิยมปลีกย่อยในการตั้งชื่ออีก บางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและท้องถิ่น แต่หลักการสำคัญในการตั้งชื่อของคนจีนมี 7 ประการดังว่ามาข้างต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้ดีกรุงเก่า ลูกเจ้า-โอรสลับ หรือลูกจีนกันแน่?
- คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน? คนจีนในไทย-จีนแผ่นดินใหญ่-จีนไต้หวัน ล้วนไม่รู้จักคำนี้
- “แซ่” นามสกุลของคนจีนมีที่มาจากไหน “แซ่” บอกอะไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2568