9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? (ตอนที่ 1)

จิตรกรรม พระราชประวัติ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบเนื้อหา เจ้าฟ้าจุ้ย พระราชโอรสองค์ใหญ่พระเจ้าตาก ตระกูลจีนกรุงธนบุรี
จิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? ตอนที่ 1

ความสัมพันธ์ไทย-จีน ยาวนานหลายร้อยปี หลักฐานหนึ่งที่ปรากฏชัดคือชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งสามารถสืบค้นรากเหง้าของตนได้ถึงสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งหลักๆ แล้วมี 9 ตระกูลด้วยกัน ตระกูลจีนกรุงธนบุรีเหล่านี้มีตระกูลใดบ้าง และทุกวันนี้เชื้อสายแผ่ขยายใช้นามสกุลอะไรกัน เรื่องนี้มีคำตอบในหนังสือ “ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” (สำนักพิมพ์มติชน) โดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร 

อ่าน 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? (ตอนที่ 2) ได้ท้ายบทความ

สกุล “พนมยงค์”

หนึ่งในสมาชิกของสกุลนี้ที่คนไทยคุ้นชื่อกันดีคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เขาเขียนบันทึกเล่าความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับ ก๊ก แซ่ตั้ง บรรพบุรุษฝ่ายชายของสกุลพนมยงค์ไว้ว่า ก๊กเป็นลูกของเส็ง เส็งเป็นลูกของเฮง เฮงไปเมืองไทยเมื่อเส็งยังเล็กอยู่ แม่ของเฮงเป็นอาของ “แต้อ๋อง” (จีนแต้จิ๋วเรียกพระเจ้าตากด้วยนามนี้) เฮงช่วยแต้อ๋องรบพม่าตาย

ปรีดี พนมยงค์ สืบสาย ตระกูลจีนกรุงธนบุรี
ปรีดี พนมยงค์

นายปรีดีเล่าตำนานในครอบครัวอีกว่า เฮงเข้ามาสยามในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ มาพักอยู่กับญาติฝ่ายจีนของพระเจ้าตากบริเวณคลองสวนพลู ข้างฝ่ายญาติของเฮงที่หมู่บ้านเอ้ตัง อำเภอเถ่งไฮ่ ไม่ได้รับข่าวคราวของเฮงนานหลายปี แม่ของเฮงจึงฝากจดหมายมากับนายเรือเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าตาก แสดงความชื่นชมยินดีที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ และถามข่าวคราวของเฮง

เมื่อพระเจ้าตากทรงทราบความ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตอบไปว่า เฮงได้สิ้นชีพในการรับใช้พระองค์ต่อสู้กับศัตรู และพระราชทานเงินพดด้วงจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัวของเฮง

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ด้วยการทำมาหากินที่ฝืดเคือง เส็ง (ลูกของเฮง) จึงส่งก๊กมาสยาม เมื่อก๊กเดินทางมาแล้วก็อยู่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง แล้วไปอยู่อยุธยา ประกอบอาชีพทำแป้งหมักแบบจีน เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ตั้งแพขายอยู่ใกล้วัดพนมยงค์

ต่อมาเส็งแต่งงานกับ ปิ่น สาวอยุธยา ซึ่งทางบ้านฝ่ายหญิงเชื่อว่าพวกตนสืบสายจากพระนมที่ชื่อ ประยงค์ ผู้สร้างวัดพนมยงค์ สืบมาถึงรุ่นนายเสียง บิดาของนายปรีดี จึงไปจดทะเบียนนามสกุล “พนมยงค์”

หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่ม 1 สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เล่า เรื่อง หลินเต้าเฉียน ต้นเค้า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม พี่ชายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี
หนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่ม 1 สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์” (สำนักพิมพ์มติชน) ที่ส่วนหนึ่งเล่าเรื่องนี้ไว้

สายสกุลของ “เจ้าคุณจอมมารดาเอม” ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าคุณจอมมารดาเอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดา เจ๊สัวบุญมี บุตรเจ๊สัวอ๋องไซ ซึ่งประวัติตระกูลอ๋องสืบเชื้อสายจาก “อ๋องเฮงฉ่วน” ผู้ดูแลกรมท่ามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก เจ๊สัวอ๋องไซคุมเรือไปค้าขายที่กัมปงโสม แต่การเดินทางไม่ปลอดภัยจึงร่นมารอดูเหตุการณ์ที่เมืองจันทบูร

เมื่อพระเจ้าตากทรงกรีธาทัพเข้าเมืองจันทบูร เจ๊สัวอ๋องไซก็นำเรือไปเทียบท่าถวายข้าว ซึ่งถือเป็นเสบียงสำคัญยามรบ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ๊สัวอ๋องไซเป็น “พระยารัตนราชเศรษฐี” ช่วยงานกรมท่าสมัยกรุงธนบุรี

ลูกชายคนหนึ่งของเจ๊สัวอ๋องไซ คือ เจ๊สัวบุญมี ตั้งบ้านเรือนอยู่ปากคลองบางกอกน้อย ครอบครัวที่สืบเชื้อสายจากเจ้าคุณจอมมารดาเอมอยู่ในราชสกุล กาญจนะวิชัย, วรวุฒิ, รัชนี, นวรัตน เป็นต้น

สกุล “ไกรฤกษ์”

ตระกูลจีนกรุงธนบุรีอีกตระกูลที่สำคัญ คือ ไกรฤกษ์ ต้นตระกูลเป็นลูกจีนแซ่หลิม ชื่อ เริก มีตำแหน่งเป็น “ขุนท่องสื่ออักษร” ล่ามในคณะทูตกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2324 เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ก็ผลัดแผ่นดินเป็นรัชกาลที่ 1 แล้ว พระองค์ทรงพอพระทัยการทำงานของเริก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น “พระยาไกรโกษา” ที่จตุสดมภ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล

พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ) สืบ เชื้อสาย ตระกูลจีนกรุงธนบุรี
พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ) (ภาพ : Wikimedia Commons)

ทองจีน บุตรชายคนโตของพระยาไกรโกษา (เริก) ได้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีในสมัยรัชกาลที่ 3 ลูกหลานรับราชการสืบมา กระทั่งเมื่อรัชกาลที่ 6 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระองค์ได้พระราชทานนามสกุล “ไกรฤกษ์” แก่ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) อธิบดีกรมชาวที่ และ พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ) ซึ่งมีทายาทต่อมาถึงทุกวันนี้

ในสายตระกูลแซ่หลิมของพระยาไกรโกษา (เริก) ยังมีพระยาอินทรอากร บิดาของเจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ 2 ลูกหลานสืบมาในสกุล นิยะวานนท์ ราชสกุล ปราโมช และ กปิตถา

ญาติแซ่หลิมอีกแขนงหนึ่งที่ได้เป็นขุนพัฒนอากรสมัยรัชกาลที่ 3 มีบุตรชื่อฉ่ำ เป็นบิดาของพระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) ต้นตระกูล พหลโยธิน

สกุล “จาติกวณิช”

ป้ายวิญญาณจีนสยามเก่าแก่ ที่บ้านโซวเฮงไถ่ ย่านตลาดน้อย กรุงเทพฯ ระบุชื่อ เซี้ยง แซ่โซว มาจากอำเภอไฮ่เถ่ง จังหวัดเจียงจิว มณฑลฮกเกี้ยน เป็นบิดาของจีนเกต และเป็นปู่ของหลวงอภัยวานิช (จาด) ต้นตระกูล จาติกวณิช

ตระกูลนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำย่านตลาดน้อย ซึ่งเป็นบริเวณที่ชุมชนฮกเกี้ยนขยายตัวมาจากกุฎีจีน มีศาลเจ้าโจวซือกง ที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศูนย์กลางชุมชน ลูกหลานของหลวงอภัยวานิช (จาด) ตั้งเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน

จีนเซี้ยง แซ่โซว เป็นบรรพชนของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นบรรพชนฝ่ายมารดาของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ตระกูลจีนกรุงธนบุรีอีก 5 ตระกูลหลักมีอะไรอีกบ้าง ติดตามต่อได้ใน 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? (ตอนที่ 2)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่ม 1 สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568

สั่งซื้อหนังสือชุดนี้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2568