ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นใน พ.ศ. 2456 และได้พระราชทานนามสกุล “สุขุม” ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็น “นามสกุลแรกของไทย” เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2456 แล้วในกลุ่ม 5 นามสกุลแรกของไทย ยังมีนามสกุลใดอีกบ้าง
5 นามสกุลแรกของไทย
เจ้าพระยายมราช (พ.ศ. 2405-2481) นามเดิม “ปั้น” ได้รับนามสกุลพระราชทานว่า “สุขุม” เอกสารต่างๆ เมื่อกล่าวถึงมักเขียนว่า เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เพื่อให้ทราบว่าเป็น “เจ้าพระยายมราช” คนใด
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็น “ครู” สอนเจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 ถึง 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์, พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์, พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ซึ่งทั้ง 4 พระองค์ทรงเคารพรักเจ้าพระยายมราชอย่างมาก ทั้งทรงสัญญาว่าจะเป็นธุระ “เผาผี” ให้ เมื่อมีอันเป็นไป
นอกจาก นามสกุล “สุขุม” ที่เป็น “นามสกุลแรกของไทย” หรือลำดับที่ 1 ที่พระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แล้ว ในคราวเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทาน “นามสกุล” ให้ขุนนางอีกจำนวนหนึ่ง อันเป็น “5 นามสกุลแรกของไทย” ได้แก่
ลำดับที่ 2 นามสกุล “มาลากุล” พระราชทานให้ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) หรือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการในเวลาต่อมา กับ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) หรือ เจ้าพระยาธรรมาธิการณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ในเวลาต่อมา
ลำดับที่ 3 นามสกุล “พึ่งบุญ” พระราชทานให้ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หรือ เจ้าพระยารามราฆพ ในเวลาต่อมา) จางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม
ลำดับที่ 4 นามสกุล “ณ มหาไชย” พระราชทานให้ พระยาเทพทวาราวดี (หรือ พระยาบำเรอบริรักษ์ ในเวลาต่อมา) อธิบดีกรมมหาดเล็ก
ลำดับที่ 5 นามสกุล “ไกรฤกษ์” พระราชทานให้ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีกรมชาวที่ และ พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (หรือ เจ้าพระยามหิธร ในเวลาต่อมา) กรรมการศาลฎีกา
ทำไมต้องมี “นามสกุล”
เมื่อมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ก็จะเกิดความยุ่งยากในการปกครองของราชการและส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัชกาลที่ 6 ทรงตระหนักและมีพระราชดำริไว้ในพระราชบันทึกจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2454 ตอนหนึ่งว่า
“…ชื่อแส้ฤๅตระกูล ซึ่งในเมืองอื่นๆ เขาก็มีกันแบบทั่วไป แต่ในเมืองเรายังหามีไม่ เห็นว่าดูถึงเวลาอยู่แล้วที่จะต้องจัดให้มีขึ้น การที่มีชื่อตระกูลเปนความสดวกมาอย่างต่ำๆ ที่ใครๆ ก็ย่อมจะมองเห็นได้ คือชื่อคนในทะเบียฬสำมโนครัวจะได้ไม่ปนกัน
แต่อันที่จริงจะมีผลสำคัญยิ่งกว่านั้น คือจะทำให้คนเรารู้จักรำฤกถึงบรรพบุรุษของตนผู้ได้อุสาหก่อร่างสร้างตัวมา และได้ตั้งตระกูลไว้ให้มีชื่อในแผ่นดิน เราผู้เปนเผ่าพันธุ์ของท่านได้รับมรฎกมาแล้ว จำจะต้องประพฤติตนให้สมกับที่ท่านได้ทำดีมาไว้…” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)
รัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 หากก็เลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 2 ครั้ง เป็นวันที่ 1 เมษายน 2457 และบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2458
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) รำพันถึงเจ้านายทรงที่สัญญาจะเป็นธุระ “เผาผี”ให้
- “นามสกุล” สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ละนามสกุลเป็นมาอย่างไร บ่งบอกถึงอาชีพ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) พุทธศักราช 2405-2481, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มกราคม 2545.
นงเยาว์ กาญจนจารี. “นามสกุล” ใน, สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 1 ก-ม. คณะกรรมการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 8 รอบ และ 100 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานเปิดหอวชิราวุธานุสรณ์ วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2524.
<<http://www.phyathaipalace.org>> สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2567