เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) รำพันถึงเจ้านายทรงที่สัญญาจะเป็นธุระ “เผาผี”ให้

เจ้าพระยายมราช และ ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม

เมื่อพระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ), พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) ทรงถึงวัย “ไปโรงเรียน” นั้น รัชกาลที่ 5 ทรงให้เข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดหาครูต่างหาก สำหรับสอนเฉพาะเจ้านาย 4 พระองค์ ได้แก่ “มหาปั้น” หรือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเฝ้าสังเกตการสอนอยู่เสมอๆ พบว่า

ตั้งแต่พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เวลาข้าพเจ้าไปก็แวะไปที่ห้องเรียนของพระเจ้าลูกเธอด้วยเสมอ ในไม่ช้าก็ตระหนักใจว่าคิดถูก ทั้งที่จัดให้พระเจ้าลูกเธอเรียนต่างหากและที่ได้เลือกมหาปั้นมาเป็นครูด้วย สังเกตเห็นเรียนรู้รวดเร็วเพราะเรียนด้วยกันแต่ 4 พระองค์ ฝ่ายมหาปั้นก็ฉลาดในการสอนทั้งวางตัวต่อพระเจ้าลูกเธอเหมาะดีคือไม่เหลาะแหละอย่างว่า ‘ประจบลูกศิษย์’ แต่ก็ไม่วางตัวข่มเกินไป พระเจ้าลูกเธอทรงเคารพยำเกรงและโปรดมหาปั้นสนิมสนมหมดทุกพระองค์”

เจ้าพระยายมราชเป็นครูสอนพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ถึง 10 ปี (ในประเทศ 1 ปี และในยุโรป 9 ปี) ทั้งครู-ศิษย์ ต่างรักใคร่สนิทสนมกันดี เมื่อเจ้านายทั้ง 4 พระองค์เสด็จกลับมารับราชการได้เป็นต่างกรมถึงขั้นกรมพระและกรมหลวง เจ้าพระยายมราชก็เป็นเสนาบดีแล้ว ก็ยังตรัสเรียกว่า “ครู” เสมอ พระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 พระองค์ ยังทรงสัญญาว่าจะเป็นธุระ “เผาผี” ให้เมื่อเจ้าพระยมราชมีอันเป็นไป ซึ่งเจ้าพระยายมราชก็ปลาบปลื้มในเรื่องนี้ยิ่งนัก แต่การกลับไม่ได้เป็นไปดังนั้น

ในคำไว้อาลัยพิมพ์ในงานศพท่านผู้หญิงตลับ ผู้เป็นภรรยา เมื่อ พ.ศ. 2474 เจ้าพระยายมราชได้อธิบายเหตุที่ไม่เป็นไปตามสัญญาว่า

“คำรำพันของเจ้าพระยายมราช [พ.ศ. 2405-2481]

ข้าพเจ้าเคยถวายพระอักษรพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถฯ [พ.ศ. 2417-2474] กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ [พ.ศ. 2417-2463] กรมหลวงปราจิณกิติบดี [พ.ศ. 2418-2462] และกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช [พ.ศ. 2419-2457] แต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระตําหนักสวนกุหลาบ เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศยุโรป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าตามเสด็จไปอยู่ด้วยถึง 9 ปี แม่ตลับไปทีหลังอยู่ 6 ปี

ท่านทั้ง 4 พระองค์ทรงพระเมตตาสัญญากับข้าพเจ้าไปว่า ถ้าข้าพเจ้าตายท่านจะช่วยกันทรงเผาผี จะมิให้บุตรภรรยาต้องวุ่นวาย

ข้าพเจ้านึกดีใจมาก และหวังเต็มที่ว่าอย่างไรๆ ก็คงไม่พลาด เพราะถึง 4 พระองค์ด้วยกัน และบางพระองค์ก็เท่ากับว่าได้ทรงเริ่มต้นบ้างแล้ว คือเวลาข้าพเจ้าป่วยทรงพระอุตสาหะเสด็จมาพยาบาล

แต่อนิจจายังไม่ทันไรท่านมาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนข้าพเจ้าหมดแล้ว โดยพระชนพรรษายังน้อยอยู่ทั้งนั้น แทนที่ท่านจะเผาผี ข้าพเจ้าๆ กลับต้องถวายพระเพลิงพระศพท่าน และรับพระอัฐิท่านด้วยความเศร้าสลดใจเสียอีก

ในกรมพระจันทบุรีนฤนาถฯ เป็นพระองค์สุดท้าย ยังทรงไว้อาลัยให้คิดถึงมากขึ้น คือ ทั้งในกรมหลวงราชบุรีและในกรมพระจันทบุรีฯ เมื่อจะเสด็จไปรักษาพระองค์ยังเมืองนอก ข้าพเจ้าไปส่งเวลาจะทรงอําลา รับสั่งแก่ข้าพเจ้าเป็นลางว่า ‘บางที่ครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก’ รับสั่งอย่างเดียวกันทั้ง 2 พระองค์ เวลาก็ห่างไกลกันหลายปี แล้วก็ไม่ได้กลับมาเห็นกันอีกจริงๆ

ดังนี้ใช่แต่เท่านั้นยังมีเครื่องปลงอีก คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดํารงพระชนม์อยู่ ได้เคยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า ฉันก็เป็นศิษย์เจ้าพระยายมราชเหมือนกัน ฉันยังได้เติมสร้อยสมญาเจ้าพระยายมราช ลงในสุพรรณบัฏว่า ฉัฏฐราชครูฐานวโรปการี ให้เป็นหลักฐาน ถ้าเจ้าพระยายมราชตาย ฉันจะต้องนุ่งขาวให้’ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ที่ยังทรงพระมหากรุณาระลึกถึงความหลังมีพระราชกระแสรับสั่งเช่นนี้ เป็นที่ปิติยินดีของข้าพเจ้าอย่างเหลือเกิน

แต่ลงปลายก็เปล่าอีกเหมือนกัน ยังมิทันที่จะได้ทรงพระภูษาขาวพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ศพข้าพเจ้า ก็มาเสด็จสวรรคตเสียก่อน ข้าพเจ้ากลับต้องนุ่งขาวถวายพระบรมศพฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเคร้าโศกาลัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นการไม่เที่ยงแท้อยู่ดังนี้

เมื่อเอาธรรม เรื่องนี้เข้ามาหักก็ทําให้ข้าพเจ้าค่อยคลายความเศร้าใจคิดถึงแม่ตลับ ซึ่งดับศูนย์ไปเมื่อมีอายุ ๖๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๔) แล้วนั้นลงได้มาก”  [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


ข้อมูลจาก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 4, ชมรมดำรงวิทยาฯ จัดพิมพ์, พ.ศ. 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 3 มิถุนายน 2565