ผู้เขียน | บดินทร์ธร เสนพรัตน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่ามกลางมรสุมการเมืองเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เจ้าเวียงชื่น บุตรรัตน์ ได้ฝากเรื่องราวแสนสะเทือนใจเอาไว้ด้วยการปลิดชีพตนเองด้วยยาพิษ !
ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2445 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เกิด “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ขึ้นที่เมืองแพร่ เหตุการณ์นี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นชนวนโศกนาฏกรรมแสนเศร้าของ “เจ้าเวียงชื่น บุตรรัตน์” เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์แห่งเมืองแพร่อีกด้วย
เมืองแพร่ยุค “กบฏเงี้ยว”
ช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งให้กับสยาม
ล้านนา เป็นหนึ่งในดินแดนที่ถูกปฏิรูปการปกครองเพื่อลดอำนาจจากท้องถิ่น ดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ และได้สถานะเป็น “มณฑลพายัพ” ในเวลาต่อมา จากการที่สยามนำระบบเทศาภิบาลมาใช้กับประเทศราช
การเปลี่ยนผ่านของอำนาจในช่วงนั้นส่งผลกระทบเรื่องผลประโยชน์ในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เจ้านายในล้านนาล้วนถูกลดบทบาท และโดนควบคุมอำนาจบริหารไปทั่วทุกแว่นแคว้น
หนึ่งในนั้นคือเมืองแพร่ ที่มี “เจ้าพิริยเทพวงษ์” เป็นผู้ครองนคร

ขณะที่ชาวพื้นเมืองในท้องถิ่น และพวกที่อพยพมาจากจากพม่าอย่าง “เงี้ยว” (ไทใหญ่) ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะอำนาจจากส่วนกลางเข้ามาจำกัดสิทธิ์ในการทำกิน เช่น ออกกฎหมายเก็บภาษีตามแบบฉบับรัฐสมัยใหม่ แทนการเกณฑ์ไพร่ไปใช้แรงงาน หรือที่เรียกว่า “ภาษี 4 บาท” และภาษีในรูปแบบอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ภาษีที่จัดเก็บไปไม่ได้นำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นตามที่ควรจะเป็น แต่กลับถูกส่งไปสร้างความเจริญให้เมืองหลวงเป็นหลัก จนกลายเป็นความไม่พอใจของคนพื้นเมือง
เรื่องนี้ปรากฏในงานเขียน “เที่ยวไปในอดีต เมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และเมืองนครลำปาง” ของ ประชุม อัมพุนันท์ ว่า
“…แม้ภาษีชนิดต่างๆ ได้เรียกเก็บจากชาวเมืองก็ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์แก่เมืองเลยเงินถูกไหลลงท่อส่งไปยังกรุงเทพฯ หมดการปกครองแบบใหม่จะเริ่มใช้มากกว่า ๒ ปีแล้วก็ตามยังไม่มีการกระทำใดๆ ในรูปงานสาธารณประโยชน์เลยเงินในพื้นบ้านก็มีน้อยลง ยากจนลงทุกปี…”
เมื่อแรงกดทับสะสมเรื่อยมาในทุกภาคส่วนของมณฑลพายัพ จึงปะทุเป็นการก่อจลาจลของพวกเงี้ยวในเมืองแพร่ ราวๆ ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 กระทั่งเข้ายึดเมืองแพร่ได้สำเร็จในเวลาต่อมา
มีหลายทฤษฎีจากหลายข้อเสนอของนักวิชาการ ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงปัจจุบันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่เจ้านายฝ่ายเหนือ โดยเฉพาะเจ้าพิริยเทพวงษ์ ที่อาจรู้เห็นเป็นใจร่วมกับพวกเงี้ยวก่อความไม่สงบขึ้น
หนึ่งในข้อสันนิษฐานดังกล่าวมี อาทิ รัชกาลที่ 5 ใน “ประชุมพระราชหัตถเลขา” ความว่า
“…เจ้าลาวพวกนี้คลุกลีตีมงคบค้าสำมเลกันกับพวกเงี้ยวจะพูดอะไรก็พูดกันได้ ไปมาหาสู่กันถึงไหนไรได้กินนอนกันได้ไม่มีจังหวะจะโคนอย่างไรเลย การอไรๆ คงรู้กันทั้งสิ้น…”
เหตุการณ์ความไม่สงบลามไปเมืองอื่นๆ ในมณฑลพายัพ สยามเห็นว่าหากปล่อยไว้นานจะไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้เมืองอื่นลุกขึ้นมาต่อต้านพระราชอำนาจ ที่สุดจึงส่ง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้นำทัพมาปราบเงี้ยว จนเหตุการณ์เริ่มสงบราวปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445
ชะตากรรมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อกบฏครั้งนี้ ถูกสยามตัดสินอย่างเด็ดขาดและรุนแรงโดยมุ่งหวังที่จะไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่หัวเมืองอื่นๆ ที่คิดจะแข็งข้อ
มีการจับกุมพวกเงี้ยวบางส่วนไปรับโทษที่กรุงเทพฯ บ้างโดนประหารชีวิต ส่วนเจ้านายแห่งเมืองแพร่ก็ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด

เจ้าพิริยเทพวงษ์เสด็จลี้ภัยไปประทับยังหลวงพระบางจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ซ้ำยังถูกปลดจากการเป็นเจ้าผู้ครองนคร และถอดราชศักดิ์ลงเป็นสามัญชนนามว่า “น้อยเทพวงษ์” ต้นสกุลเทพวงษ์ และยังคงมีทายาทสืบตระกูลมาจนถึงปัจจุบัน
เจ้านายคนอื่นๆ ถูกตัดสินโทษไปตามความผิด เช่น ถูกถอดยศ ริบทรัพย์สมบัติ จำคุก ถูกควบคุมไปกักตัวที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงต้องย้ายออกจากเมืองแพร่แบบถาวร
เจ้าเวียงชื่น บุตรรัตน์
ทว่ามีเจ้าหญิงเมืองแพร่องค์หนึ่งได้ฝากเรื่องราวสุดสะเทือนใจไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ล้านนาจวบจนปัจจุบัน นั่นคือ “เจ้าเวียงชื่น บุตรรัตน์” ซึ่งมีชื่อแบบภาคกลางคือ “เจ้าเมืองชื่น”
เจ้าเวียงชื่น เป็นธิดาองค์ที่ 2 ในเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์กับแม่เจ้าบัวไหล ภายหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เจ้าเวียงชื่นพร้อมทั้งสวามี คือ “เจ้าน้อยบุญศรี (บุญศรี บุตรรัตน์)” ถูกเพ่งเล็งจากสยามมากเป็นพิเศษ หากเทียบกับเจ้านายคนอื่นๆ
เนื่องด้วยเจ้าน้อยบุญศรีถือว่ามีบทบาทและหน้าที่สำคัญหลายอย่างในการปกครอง เพราะเป็นบุตรเขยของเจ้าผู้ครองนครแพร่
การตกอยู่ในที่นั่งลำบากและแรงกดดันมหาศาลขนาดนี้ มาจากการถูกชักโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้น จากหลักฐานต่างๆ ประกอบกับคำให้การต่อสยามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่นๆ
ในที่สุด เจ้าเวียงชื่นพร้อมกับเจ้าน้อยบุญศรีได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางสุดท้ายของชีวิต คือ พร้อมใจกันก่ออัตวินิบาตกรรมปลิดชีพด้วยการดื่มยาพิษ ณ คุ้มเจ้าน้อยบุญศรี ก่อนจะถูกรัฐบาลเข้าจับกุม หรือโดนถอดยศจากเจ้าไปเป็นไพร่
ยังมีเรื่องเล่าต่ออีกว่า ท่านทั้งสองได้ทิ้งจดหมายสั่งเสียเอาไว้ด้วยความรัก และเป็นห่วงบุตรทั้ง 3 คือ เจ้าอินทร์ตุ้ม เจ้าอินทร์สม และเจ้าดาวคำ โดยฝากฝังไว้กับวงศาคณาญาติให้ช่วยดูแลจนเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า
ทางเลือกที่เจ้าเวียงชื่นและเจ้าน้อยบุญศรีเลือก อาจไม่ใช่เพียงแค่ความต้องการที่จะหนีจากความเจ็บปวดทางกาย หรือความเกรงกลัวต่อโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ แต่อาจสะท้อนถึงความยึดมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็น “เจ้า” ที่ยอมตายแบบสูงศักดิ์ ดีกว่าการอยู่ต่อไปแบบไร้เกียรติและศักดิ์ศรี
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ถึงเป็นประโยคที่คนแพร่ในอดีตไม่ชอบใจ?
- เปิดรายนาม “เจ้าหลวงเมืองแพร่ 4 องค์สุดท้าย” ที่สืบเชื้อสายมาจากเชื้อเจ้าเจ็ดตนภาคเหนือ
- เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ “กบฎ” หรือ “วีรบุรุษ” ในกบฎเงี้ยวเมืองแพร่
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2396-2453. ประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาค 2 ระหว่างพุทธศักราช 2434 ถึง พุทธศักราช 2453. [ม.ป.ท.]:สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี, 2509.
ประชุม อัมพุนันท์. เที่ยวไปในอดีต เมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และเมืองนครลำปาง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2527.
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2568