เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ “กบฎ” หรือ “วีรบุรุษ” ในกบฎเงี้ยวเมืองแพร่

เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่

เหตุการณ์ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ที่เกิดและจบลงเมื่อ พ.ศ. 2445 คือหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีการผลิตสร้าง “ความหมายใหม่” เรื่องเล่าของเจ้าหลวงเมืองแพร่ (เจ้าพิริยเทพวงษ์) ที่เคยได้ถูกตราว่าเป็น “กบฏ” จึงมีการนำเสนออีด้านหนึ่งคือ “ผู้บริสุทธิ์”

ประวัติศาสตร์ “โจรเงี้ยวปล้นจังหวัดแพร่” หรือ ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค ให้ภาพการหนีของเจ้าหลวงเมืองแพร่ว่าเกิดจากการ “หนีราชการ” ด้วย “…ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ประกอบทั้งเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างเกิดการจราจลด้วย จึงได้ให้พวกญาติติดต่อให้เจ้าพิริยะเทพวงศ์กลับมาเสีย เป็นเวลาหลายวันก็ไม่กลับมา จึงได้ประกาศถอดเจ้าพิริยะเทพวงษ์ จากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ลงเป็นไพร่ คือ ให้เป็น ‘น้อยเทพวงษ์’ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121…” [1]

Advertisement

ราชการจะมีมุมมองเรื่องกบฏเงี้ยวอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำผิดระเบียบต่อราชการเจ้าหลวงจึงถูกปลด แต่ถ้าเป็นงานของท้องถิ่นจะมีกลิ่นอายของเรื่องเล่าเจือปน เช่นงานของ เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล เรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี หรืองานของ เสรี ชมภูมิ่ง เรื่องเจ้าพิริยะเทพวงษ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองเกียรติยศ ในเมืองแป้ปื้นแห่งเมืองโก๋ศัย ความว่า

“…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีใช้วิธีปล่อยข่าวให้เจ้าเมืองแพร่รู้ว่าจะมีการจับตัวเจ้าเมืองแพร่และเจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผลเพราะตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีก 2 คน ก็ลอบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที…การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้น ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง จึงทำให้เจ้าเมืองแพร่หลบหนีออกไปได้โดยสะดวก…” [2]

หรือ “…ท่านแม่ทัพคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะเชือดไก่ให้ลิงดู คือ จับพวกสมรู้ร่วมคิดกับพวกเงี้ยวไปยิงเป้า เพื่อจะให้เจ้าหลวงกลัว จะได้หาทางหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรไป แต่จนแล้วจนรอดเจ้าหลวงก็ไม่กลัวไม่ยอมหนีถึงต้องใช้วิธีเชิญออกจากเมืองโดยกองเกียรติยศ” [3]

“เหตุการณ์ก่อการจลาจลในเมืองแพร่ข้อเท็จจริงจะมีประการใด ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ…ไม่มีกล่าวถึงในตอนนี้เลยผู้อ่านอาจเข้าใจได้หลายกรณี และอาจเป็นผลเสียหายก็ได้ จึงขอกล่าวตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังพอจะจำเหตุการณ์ได้…ได้ความว่า เมื่อเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯทราบว่า ทางกรุงเทพฯ ยกกองทัพมาปราบ เจ้าผู้ครองนครก็ยังคงพำนักอยู่ในคุ้ม…

ส่วนพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ ก็มิอาจพิจารณาปรับโทษลงไปได้ว่าเป็นความผิดเจ้าผู้ครองนคร เพราะเจ้าผู้ครองนครไม่ทราบแผนการของพวกเงี้ยวมาก่อน…เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ มิได้เป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยเลย…ภายหลังจากการปราบจลาจลสงบลงแล้ว ท่านยังคงพำนักอยู่ในคุ้มหลวงของท่านตามปกติเป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็มิอาจจับตัวเจ้าผู้ครองนครโดยปราศจากเหตุผลอันควรได้…ทางกองทัพที่ยกมาปราบ จะให้เจ้าผู้ครองนครรับผิดชอบ ทั้งยังส่งคนไปติดต่อแนะนำให้เจ้าผู้ครองนครหนีออกจากเมืองแพร่ไปเสีย…เมื่อเจ้าผู้ครองนครแพร่ได้รับความกระทบกระเทือนเช่นนี้จึงได้ตัดสินใจหนีออกจากเมืองแพร่ไป…

การที่เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ หนีไปคราวนี้ กล่าวกันว่าเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญา แต่ยังมีหลายท่านกล่าวว่า ท่านมิได้หนีเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญาเลย เพราะท่านถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้คิดคดทรยศต่อแผ่นดิน…เหตุที่ท่านตัดสินใจหนีไปนั้นก็เพื่อตัดปัญหาความกดดันในขณะนั้น และเพื่อจะให้เหตุการณ์ในเมืองแพร่สงบราบรื่นโดยเร็ว เพื่อมิให้ไพร่ฟ้าประชาชนชาวแพร่ต้องพลอยรับความเดือดร้อน  [4]

ปัจจุบันเรื่องราวการรับรู้กลับเปลี่ยนไปเป็น “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” “เจ้าหลวงผู้เสียสละ” “เจ้าหลวงวีรบุรุษ” เพราะมีการตีพิมพ์หนังสือในท้องถิ่นที่สร้างการรับรู้ใหม่นี้อย่างกว้างขวาง เช่น สาวความเรื่องเมืองแพร่, ศึกษาเมืองแพร่, อนุสรณ์เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายผู้ครองเมืองแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย, และ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุก วงค์บุรีประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไว้หน้าจวนผู้ว่าราชการ และในโรงเรียนพิริยาลัย รวมถึงการสถาปนาให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นบิดาแห่งโรงเรียนพิริยาลัย [5] ที่เดิมชื่อ “โรงเรียนเทพวงษ์” ตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2443-2444 เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพิริยาลัย” ในปี พ.ศ. 2457 โดยได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนจากรัชกาลที่ 6 [6] พิริยาลัยมีที่มาจากชื่อเจ้าหลวงเมืองแพร่ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเทพวงษ์เป็นโรงเรียนพิริยาลัยเป็นการสร้างความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และเพื่อลดทอนความบาดหมางระหว่างคนเมืองแพร่กับส่วนกลาง

“การสร้างคำอธิบายต่ออดีตใหม่” ที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่ภายใต้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องการ “ลบทิ้ง” “สร้างใหม่” และเรื่องที่ยากแก่การอธิบาย คือ ความร่วมมือของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ที่ได้เข้าร่วมการกบฏ ถือว่าเป็น “ตรา” ที่ยากจะลบทิ้ง จะปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วม หรือ ฯลฯ ก็ยากที่จะอธิบาย วิธีการที่ดีที่สุดในการ “สร้างใหม่” คือ เชื่อมการกระทำกับ “ชาติ” พูดได้ว่าเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์อดีตกบฏ ได้ “อวตาร” ใหม่กลาย “วีรบุรุษ” ในทศวรรษ 2540

คำอธิบายคลาสสิคในปัจจุบันที่อธิบายเหตุการณ์ คือ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์กับรัชกาลที่ 5 ร่วมมือกันในการทำให้เกิดกบฏเงี้ยว เพื่อให้เจ้าหลวงเป็นสายสืบไปอยู่ที่หลวงพระบาง และเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ คือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นแพะรับบาป และตัวเจ้าหลวงยินยอมตามแผนการมิได้มีข้อขัดแย้งอะไร โครงเรื่องเช่นนี้กลายเป็นคำอธิบายการเกิดกบฏเงี้ยวกระแสหลักอยู่ในเมืองแพร่ โดย “…เงี้ยวมาเกลี้ยกล่อมท่าน [เจ้าหลวงให้ก่อกบฏ : ชัยพงษ์ สำเนียง] ก็นำความนี้รายงาน รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับรู้…ทางกรุงเทพฯ ก็ได้เรียกเจ้าหลวงไปร่วมปรึกษาหารือ…ตกลงให้รับปากพวกเงี้ยวและให้ผัดเวลาออกไปอีก 2-3 เดือน…ให้ทางกรุงเทพฯ จัดกำลัง…” [7] และ “…ตามที่รัชกาลที่ 5 และเจ้าหลวงฯ ได้วางแผนร่วมกันไว้…” [8]

นำมาสู่การอธิบายและตีความเหตุการณ์ครั้งนั้นใหม่ว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ แต่เป็นผู้จงรักภักดี และเสียสละ ท้ายสุดทิ้งทั้งทรัพย์สิน ลูกเมีย บ้านเมือง (เพื่อเป็นสายสืบและให้รัชกาลที่ 5 รวมหัวเมืองเหนือได้สำเร็จ) ดังนั้นท่านจึงมิใช่กบฏแต่เป็น “วีรบุรุษ” ฉะนั้นหากกล่าวว่าเมืองแพร่เป็น “เมืองกบฏ” จึงหาใช่ไม่ แต่เป็นเมืองของผู้จงรักภักดี และเมืองของ “วีรบุรุษ” ต่างหาก

นอกจากนี้ยังอธิบายว่าเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวง การอธิบายในลักษณะนี้เพื่อให้รับรู้ว่าการเกิดกบฏเงี้ยวครั้งนั้นล้วนเกิดจากการทำของเงี้ยวฝ่ายเดียว เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเพราะถูกบังคับให้ทำจึงเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวงที่ต้องถูกกล่าวหาเป็นกบฏ แล้วต้องพลัดบ้านพลัดเมือง ดังความว่า

“…เจ้าหลวงพิริยาเทพวงศ์ มิได้ทรยศต่อบ้านเมืองขององค์ท่านแต่ประการใด แต่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเดิมจนไปทิวงคตในถิ่นอื่นนั้น เป็นคราวเคราะห์กรรมขององค์ท่านเอง ที่ต้องถูกป้ายสีจนประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า องค์ท่านทรยศต่อบ้านเมืองและประชาชนของท่านเอง…” [9]

กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์

การสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์ เมืองแพร่ภายใต้บริบทที่แปรเปลี่ยนทำให้การรับรู้ต่อเมืองแพร่มีสถานะที่หลากหลาย เมืองแพร่มิได้อยู่ในฐานะเมืองที่หยุดนิ่งแต่ในทางตรงกันข้ามประวัติศาสตร์เมืองแพร่กลับมีพลวัต ทำให้หมุดหมายของการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่มีการปักถอนอยู่ตลอดเวลาภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้การที่เมืองแพร่มีตราประทับของความเป็นเมือง “กบฏ” จึงนำมาสู่การสร้างความทรงจำใหม่ในฐานะ “กบฏผู้ภักดี” “กบฏวีรบุรุษ” “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” ล้วนเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ใหม่ ภายใต้บริบทที่เอื้ออำนวยภายหลังทศวรรษที่ 2540 และภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ (นิยม) กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ชัยพงษ์ สำเนียง. “พิริยะเทพวงศ์อวตาร : ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2556


เชิงอรรถ :

[1] จังหวัดแพร่. “ประวัติโจรเงี้ยวปล้นเมืองแพร่,”  ใน ที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดแพร่ พุทธศักราช 2501. หน้า 66-67.

[2]  เลิศล้วน  วัฒนนิธิกุล. ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี, หน้า 23.

[3] เสรี ชมภูมิ่ง. เจ้าพิริยะเทพวงศ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองทหารเกียรติยศ. ใน เมืองแป้ปื้นแห่งเมืองโก๋ศัย. หน้า 20

[4] ประวัติจังหวัดแพร่. พิมพ์เนื่องในพระกฐินพระราชทานทอด ณ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร  พระอารามหลวง  จังหวัดแพร่ โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด วันที่ 6 พฤศจิกายน 2526.  กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2526, หน้า 21-22, และ สัมภาษณ์ พระมาหาโพธิวงศาจารย์ พระพระบาทมิ่งเมือง อ. เมือง จ. แพร่ (ในโครงเรื่องข้างต้นผู้เขียนก็คิดว่าเป็นเรื่องเล่าของท่านเจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ เช่นกันเพราะโครงเรื่องเช่นนี้ถูกถ่ายทอดโดยตัวท่านไว้หลายแห่ง เช่น ประชุมพงศาวดาร ตอน เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ พ.ศ. 2445. พิมพ์เป็นบรรณาการในโอกาสฉลองสัญญาบัตรพัดยศ พระธรรมรัตนากร วัดพระบาทมิ่งเมือง จังหวัดแพร่ วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2536, (กรุงเทพฯ : ซี. พี.การพิมพ์, มปป. เป็นต้น)

[5] โปรดดู, สมาคมศิษย์เก่าพิริยาลัยจังหวัดแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย.

[6] เรื่องเดียวกัน

[7] กลุ่มลูกหลานเมืองแพร่. สาวความเรื่องเมืองแพร่, หน้า 73-74.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 74.

[9] เจ้าน้อยอินทวงศ์ วราราช. ข้าพเจ้าเห็นพกาหม่องบุกเมืองแพร่. ในที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าไข่มุก วงค์บุรี ประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565