“ฆ้อง(เลือด)” ของหัวหน้าเงี้ยว เมืองแพร่ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“ฆ้อง” ของพกาหม่องหัวหน้าเงี้ยว ที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2558)

เรียน บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

… ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร หมู่พระวิมานของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย มีห้องจัดแสดง “เครื่องอาวุธ” ในพระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข ที่จัดแสดงหุ่นจำลองม้าและช้างทองเครื่องคชาธารอาวุธภัณฑ์สมัยโบราณและกลองศึก มีโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งถ้าดูผ่านตาพร้อมกับป้ายคำอธิบายแบบเดิมๆ ประจำโบราณวัตถุที่ระบุว่า “ฆ้องศึก (ฆ้องโหม่ง) ใช้แขวนบนขาตั้งสมัยรัตนโกสินทร์” ก็คงผ่านเลยไปดูโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ

“ฆ้อง” ของพกาหม่องหัวหน้าเงี้ยว ที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2558)

แต่ขาตั้งที่แขวนฆ้องชิ้นนี้ มีสลักข้อความจารึกบนแผ่นไม้ด้านบนความว่า

“๏ฆ้องนี้ ฃองพกาหม่องหัวน่าเงี้ยว ก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ ร, ศ, ๑๒๑ กับใต่สวนได้ความว่า เมื่อพกาหม่องเฃ้าเมืองแพร่ ได้จับข้าราชการแลคนชาวใต้ฆ่าเสียมาก แล้วเอาเลือดคนเหล่านั้นเจิมประฆ้องนี้ไว้ดังมีเลือดอยู่ที่ฆ้องนี้หลายแห่ง ครั้นเมื่อ นายพลโทพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ได้นำฆ้องนี้มาไว้เมื่อ ร, ศ, ๑๒๓ ๚”

จารึกบนแผ่นไม้ของขาตั้งที่แขวนฆ้องใบนี้

แม้อาวุธโบราณหลายชิ้นที่จัดแสดงคงจะผ่านการใช้งานการศึกสงครามมาแล้ว แต่ก็ไม่ชวนให้…!! เท่าฆ้อง “เลือด” ของพกาหม่องหัวหน้าเงี้ยวใบนี้ เมื่อได้อ่านข้อความจารึกด้านบนขาตั้งฆ้อง กระผมนี้ดูฆ้องละเอียดขึ้นกว่าเดิม

ประเด็นเรื่อง “เงี้ยว” เป็น “กบฏ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็ได้นำเสนอบทความที่หลากหลายอยู่ ในสื่ออินเตอร์เน็ตก็มีอยู่มากข้อเขียน แต่เมื่อค้นข้อมูลที่จะมีกล่าวถึงฆ้องใบนี้ของพกาหม่อง ไม่พบว่ามีกล่าวถึง

“ฆ้อง” ของหัวหน้าเงี้ยวใบนี้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงเป็นเพียงโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ ถ้าไม่มีจารึกระบุที่มาก็คงเป็นฆ้องเก่าๆ ใบหนึ่งในห้องจัดแสดง ท่านผู้รู้หรือผู้อ่านแฟนๆ นิตยสารศิลปวัฒธรรม ที่อาจพอมีข้อมูลจะเพิ่มเติมเกี่ยวกับฆ้องใบนี้ส่งมาแชร์ข้อมูลที่ศิลปวัฒนธรรมกันได้ครับ

ลุงโบราณ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2560