แรกมี “5 บ้านญวน” ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหนบ้าง มาตั้งถิ่นฐานกันยังไง ?

ภาพจิตรกรรม องเชียงสือ กษัตริย์เวียดนาม เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 1 พึ่งพระบรมโพธิสมภาร ประกอบเรื่อง บ้านญวนในกรุงเทพฯ
ภาพประกอบเนื้อหา - องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

เปิดที่มา บ้านญวนในกรุงเทพฯ ชุมชนชาวเวียดนามในบางกอก อยู่ไหนบ้าง เป็นมาอย่างไร?

ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ดินแดนเวียดนามเป็นที่รู้จักในชื่อ “อันนัม” แต่คนไทยเรียกคนเวียดนามว่า ญวน มีผู้เสนอว่า ที่มาของคำดังกล่าวมาจากความสับสนเรื่องตำแหน่งของอันนัมกับ “โยนก” ชื่อเดิมของล้านนา ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวไทยยวน

คนญวนมีปฏิสัมพันธ์กับดินแดนไทยตั้งแต่สมัยธนบุรี และเพิ่มมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อมีการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสยามกับเวียดนามเหนือดินแดนลุ่มน้ำโขง (ลาวกับเขมร) จนเกิดเป็นข้อพิพาทหลายครั้ง โดยเฉพาะสงครามยืดเยื้อ 14 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2376-2390 หรือที่เรียกว่า “อานามสยามยุทธ”

การปะทะกันแต่ละครั้ง สยามรับผู้ลี้ภัยและกวาดต้อนเชลยศึกชาวเวียดนามจำนวนมากเข้ามาในประเทศ เพื่อทดแทนการสูญเสียจากสงคราม ทำให้กรุงเทพฯ มี “คนญวน” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์เมืองอันหลากหลายทางชาติพันธุ์ เกิดเป็น “บ้านญวน” ทั่วกรุงเทพฯ ดังนี้

1. บ้านญวน ปากคลองตลาด

หลังเหตุการณ์ “กบฏเต็ยเซิน” ลุกฮือต่อต้านตระกูลเหงวียนระหว่าง พ.ศ. 2320-2321 เมื่อมีอำนาจเหนือดินแดนปากแม่น้ำโขง กลุ่มกบฏผลักดันให้ผู้คนอพยพออกจากฮาเตียน เมืองท่าสำคัญระหว่างพรมแดนทางทะเลของเวียดนามกับเขมร หมักเทียนตื๋อ ผู้ปกครองเมืองจึงพาบริวารหนีมายังกรุงธนบุรี

ผู้คนจากฮาเตียนได้รับจัดสรรที่ดินบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ลำน้ำ ถัดลงมาจากกำแพงและคูเมืองฝั่งตะวันออก บริเวณปากคลองตลาด

เข้าสู่ยุคกรุงเทพฯ หมู่บ้านชาวเวียดนามที่นี่เติบโตขึ้น หลังชาวกวางตุ้ง-เวียดนามเพิ่มจำนวนขึ้น และพัฒนาความสามารถด้านงานช่างฝีมือ งานศิลปะการประดับตกแต่ง เช่น งานเปลือกหอยมุก งานเครื่องถม งานแก้ว แกะสลักหยกและงาช้าง

2. บ้านญวน ต้นสำโรง

พ.ศ. 2328-2329 เจ้าชายเหงวียน แอ๋ญ หรือในเอกสารไทยเรียก “องเชียงสือ” ถูกกบฏเต็ยเซินต้อนจนมุม จนต้องหนีมายังกรุงเทพฯ มีข้อมูลว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยมีจำนวนเต็มเรือสำเภา 5 ลำ (สำเภาเดินสมุทรลำหนึ่งสามารถจุคนได้ราว 100 คน)

รัชกาลที่ 1 โปรดให้องเชียงสือไปอยู่บ้านญวน ปากคลองตลาด ส่วนกองทหารที่ติดตามมาด้วยถูกจัดสรรให้ไปอยู่ริมแม่น้ำห่างออกไป 3 กิโลเมตรทางใต้ ด้านใต้ของชุมชนโปรตุเกสที่โรซาริโอ รู้จักกันอีกชื่อว่า “ต้นสำโรง”

ต่อมา องเชียงสือแอบกลับไปทำสงครามกลางเมืองในเวียดนามโดยมิได้ทูลลารัชกาลที่ 1 ทิ้งกองทหารไว้ที่กรุงเทพฯ สุดท้ายสามารถพิชิตกบฏ รวบรวมเวียดนามเป็นปึกแผ่น แล้วสถาปนาพระองค์เป็น จักรพรรดิซาล็อง รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ชุมชนที่ต้นสำโรงย้ายไปบริเวณบางโพ ห่างจากกำแพงพระนครเหนือลำน้ำขึ้นไปราว 11 กิโลเมตร

นักรบ ญวน สมัย ราชวงศ์เหงวียน
นักรบญวนสมัยราชวงศ์เหงวียน (ภาพโดย Vinhtantran จาก Cornell Libary Archives / Wikimedia Commons)

3. บ้านญวน บางโพ

ชุมชนของกองทหารเวียดนามที่ย้ายมายังบางโพ เป็นชายฉกรรจ์ที่แทบไม่มีบทบาทด้านสงครามเลย แม้จะเกิดสงครามขึ้นเนือง ๆ หลังจากนั้น รวมถึงความขัดแย้งกับเวียดนามเอง เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินสยามเกรงว่าการส่งไปรบในบ้านเมืองเดิมจะทำให้ชาวเวียดนามแปรพักตร์ พวกเขาจึงเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเป็นผู้ค้าไม้ซุงและแรงงานโรงเลื่อยไม้ ก่อนจะกลายเป็นโรงสีข้าวและโรงเลื่อยพลังไอน้ำ ซึ่งยังดำเนินกิจการอยู่ที่บางโพ

หลังผ่านมาหลายชั่วอายุคน ชุมชนบ้านญวนที่บางโพได้ผนวกกลืนกลายความเป็นไทยไปแทบจะสมบูรณ์ แต่ยังปรากฏอัตลักษณ์บางอย่างผ่านลวดลายประดับหลังคาบ้าน อักขระแบบเวียดนาม รูปปั้นวีรบุรุษทหารเวียดนาม เจดีย์จำลองแสดงที่ฝังศพตามคติพุทธศาสนาแบบเวียดนาม ที่นิยมฝังศพมากกว่าเผา

4. บ้านญวน สามเสน

สงครามระหว่างสยามกับเวียดนามยกระดับขึ้นจากความขัดแย้งในเขมรระหว่าง พ.ศ. 2374-2384 ก่อนจะยุติลงด้วยข้อตกลงเมื่อปี 2388 ในห้วงสงครามยังมีเชลยชาวเวียดนามราว 15,000 คนถูกกวาดต้อนจากสนามรบในกัมพูชามายังสยามด้วย

ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ถูกส่งไปอยู่กาญจนบุรี เมืองหน้าด่านรับศึกพม่า กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวเวียดนามบางส่วนซึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกับชุมชนคาทอลิกบ้านโปรตุเกสที่สามเสน

ชาวเวียดนามที่สามเสนได้ตั้ง โบสถ์เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ ขึ้น และค่อนข้างเคร่งครัดต่อรากเหง้าของตน ดังจะเห็นว่าผู้หลักผู้ใหญ่จะไม่อนุญาตให้ลูกหลานแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่เชื้อสายเวียดนาม ทั้งยังคงใช้ภาษาเวียดนามกันทั้งเพื่อการสื่อสารและด้านศาสนา

โบสถ์เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์
โบสถ์เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ (ภาพจาก เส้นทางเศรษฐี, 30 เมษายน 2562)

5. บ้านญวน สะพานขาว

พ.ศ. 2397 รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชานุญาตให้ชาวเวียดนามที่กาญจนบุรีอีกส่วนที่ยังนับถือพุทธ มาตั้งชุมชนอยู่บริเวณริมฝั่งด้านนอกของคูเมืองชั้นนอกซึ่งขุดขึ้นใหม่ นั่นคือ คลองผดุงกรุงเกษม

ที่นั่น พวกเขาสร้างวัดสมณานัมบริหารเป็นศูนย์กลางชุมชน กระทั่งปลายสมัยรัชกาลที่ 5 พ่อค้าผลไม้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนมากขึ้น และตั้งแผงตลาดผลไม้ท้องถิ่น ชุมชนเวียดนามยังถูกล่วงล้ำเมื่อมีการสร้างถนนลูกหลวงและสะพานขาวเมื่อ พ.ศ. 2443 วังเจ้านายและทำเนียบที่พักของเหล่าขุนนางตามถนนหลานหลวงทำให้บ้านญวนอยู่ในทำเลที่เป็นรอง เป็นเหตุให้ที่ดินจำนวนมากของหมู่บ้านถูกเวนคืน

ชาวเวียดนามปรับตัวด้วยการสร้างบ้านพักให้คนงานย้ายถิ่นมาเช่า ซึ่งคนเหล่านี้เคยทำงานสร้างตำหนักและอาคารให้เมืองใหม่ดุสิต จึงมีความชำนาญการมุงหลังคากระเบื้อง งานปูน งานไม้ และการเดินท่อประปาในบ้าน ท้ายที่สุดจึงกลายเป็นอาชีพสำคัญของคนที่บ้านญวน สะพานขาว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Edward Van Roy; ยุกติ มุกดาวิจิตร แปล. (2565). Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2568