บ้านญวนสามเสนแหล่งสุราเถื่อนที่มีขุนนางคอยหนุน รัฐสมัยร.5 ปราบอย่างไร?

จิตรกรรมฝาผนังฉากมารผจญ ภายในอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี

ระบบควบคุมกำลังคน ซึ่งมีมูลนายและกรมกองต่างๆ จัดการดูแลไพร่พลในสังกัด รัฐจารีตได้ใช้ระบบดังกล่าวในการปกครองและได้ประโยชน์ทั้งความมั่นคงของรัฐ อำนาจทางเศรษฐกิจ และการแสดงบารมีทางสังคมของผู้ปกครอง รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลความสงบเรียบร้อยในเมืองหลวง

แต่ระบบควบคุมกำลังคนก็มีส่วนต่อการสร้างปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยให้กับศูนย์กลางอำนาจการปกครองทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร รวมทั้งยังกระทบต่อรายได้ของรัฐโดยเฉพาะเรื่องของการค้าสุราซึ่งทำรายได้จำนวนไม่น้อยให้กับรัฐ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเข้าดูแลซึ่งไม่เพียงการปราบปรามผู้ผลิตและค้าสุราเถื่อนเท่านั้น ยังสะท้อนถึงนโยบายด้านการจัดการเมืองของรัฐสมัยใหม่ในยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งต้องการรวมอำนาจทั้งด้านการปกครองและเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาด

การจัดการปกครองภายในกรุงเทพฯ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ลักษณะการจัดการปกครองของกรุงเทพฯ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีลักษณะไม่ต่างจากสมัยอยุธยา โดยพื้นที่ในเมืองจะอยู่ภายใต้การดูแลของวังหลวงและวังหน้าเป็นหลัก[1] แต่ละส่วนหรืออำเภอจะขึ้นอยู่กับขุนนางท้องที่เป็นผู้ดูแล รวมทั้งมีอำเภอของชาวต่างชาติซึ่งใช้หัวหน้าขุนนางต่างชาติปกครองอีกด้วย เช่น ธรรมเนียมการรักษาพระนครในสมัยอยุธยาระบุให้ขุนนางกรมกองต่างๆ เกณฑ์ไพร่พลตั้งด่านรอบพระนคร อาทิ

ขุนท่องสื่อ ขุนท่องสมุทร อำเภอจีน (รักษา) แต่วัดจีนถึงประตูจีน ขุนโกชาอิศหาก ขุนราชเศรษฐี อำเภอแขก (รักษา) แต่สะพานประตูจีนถึงวัดนางมุก เลี้ยวลงไปถึงประตูใต้กายี[2]

พื้นที่ในพระนครซึ่งถูกจัดสรรให้กับขุนนางกรมกองต่างๆ ดูแลมีผลต่อความมั่นคงของราชสำนัก เนื่องจากบรรดาขุนนางต่างถือครองไพร่พลในสังกัดของตนอาจสร้างคุณหรือโทษกับผู้ปกครองได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีมาตรการควบคุมในเบื้องต้น เช่น การให้ขุนนางที่ถือครองไพร่พลจำนวนมากตั้งบ้านเรือนใกล้พระบรมมหาราชวัง หรือการให้ไพร่ต่างชาติที่ไว้ใจตั้งบ้านเรือนในพระนครเพื่อสะดวกต่อการใช้สอย อย่างกรณีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้มุสลิมกลุ่มอินโดอิหร่าน เป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจจากพระศรีสุธรรมราชา จนทำให้ชาวต่างชาติกลุ่มนี้มีสิทธิ์ตั้งบ้านเรือนในพระนครเพื่อเป็นราชองครักษ์ รวมทั้งดูแลผลประโยชน์ด้านการค้า[3]

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์การแบ่งพื้นที่ดูแลภายในพระนครอยู่ภายใต้การดูแลของวังหลวงและวังหน้า สำหรับวังหน้ามีสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นผู้ดูแล ถึงกับมีคำเรียกหน้าที่ดังกล่าวว่าพระมหาอุปราชเสวยราชย์กึ่งพระนคร[4] ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบการดูแลการปกครองในกรุงเทพฯ ที่มิได้อยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว

การจัดการดูแลพื้นที่ของกรุงเทพฯ ภายในคูพระนครก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 มีการแบ่งเขตเป็นอำเภอวังหน้า และอำเภอวังหลวง กำหนดให้ไพร่พลฝ่ายวังหลวง ภายใต้สังกัดกรมนครบาลวังหลวงรักษาด้านทิศใต้พระนคร มีอาณาบริเวณตั้งแต่ตามแนวถนนพระจันทร์ตั้งแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ประตูผี) ซึ่งบรรจบกับเขตการดูแลรักษาของอำเภอวังหน้า อันมีกรมนครบาลวังหน้าดูแลรักษาพระนครทางทิศเหนือ ขอบเขตการแบ่งพื้นที่ของทั้ง 2 กรมกองสิ้นสุดเพียงถึงคูพระนครเท่านั้น เกินจากนี้เป็นของอำเภอวังหลวงดูแล การแบ่งพื้นที่รักษาพระนครดังกล่าวใช้กันมาอย่างต่อเนื่องก่อนถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5[5]

ภาพร้านขายสุราสมัยรัชกาลที่ 5 ธุรกิจจำหน่ายสุราจากต่างประเทศ สะท้อนถึงความนิยมบริโภคสุราในกรุงเทพฯ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายไปพร้อมกัน

ปัญหาของระบบควบคุมกำลังพลที่มีต่อการจัดการเมือง

การดูแลพื้นที่เมืองในช่วงที่ระบบควบคุมกำลังคนยังเป็นกลไกหลักในการปกครอง แม้จะมีประโยชน์ในการป้องกันพระนครช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ระบบนี้ก็มีปัญหาต่อความไม่มั่นคงทางการเมืองของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เช่น กรณีการกระทบกระทั่งระหว่างวังหลวงและวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือวิกฤติการณ์วังหน้าในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งแสดงถึงข้อบกพร่องของการรักษาพระนครแบบเดิมที่มีผลต่อเสถียรภาพด้านการปกครองภายในเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางบริหารราชการของบ้านเมือง

นอกจากนี้บรรดาไพร่พลภายในสังกัดของมูลนายต่างถือตนว่าได้รับความคุ้มครองจนสร้างปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในเมืองหลวง เช่นที่หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) ระบุถึงเหตุคนร้ายปล้นเรือสินค้าบริเวณริมคลองวัดราชบูรณะ เมื่อ .. 2409 ซึ่งล้วนเป็นบ่าวไพร่ของผู้มีบรรดาศักดิ์

มีผู้ร้ายลงไปในเรือแย่งเงินแย่งของ กลางคืนบ้าง กลางวันบ้าง แทบจะทุกวัน เจ้าของไล่ตามไปถึงต้นตะภาน ภบบ่าวพระยามหามนตรีนั่งยามรักษาเรือ แลไม้ซุงอยู่ที่ต้นตะภานนั้น ออกกางกั้นช่วยอ้ายผู้ร้าย เจ้าของสู้ไม่ได้ก็กลับลงเรือแล้วอ้ายผู้ร้ายตามคว่างถูกศีศะคนแตก เรือจอดที่ปลายตะภานไม่ใคร่จะได้ เจ้าของเหนว่าบ่าวพระยามหามนตรีเปนผู้ร้าย รู้จักตัวผู้ร้ายด้วยหลายคน

เจ้าของถามชาวบ้านริมตะภานว่า คนเหล่านี้เปนบ่าวท่านผู้ใด เขาบอกว่าเปนบ่าวพระยามหามนตรี บ้าง เปนบ่าวพระวิสุทธโยธามาตย์บ้าง คนเหล่านี้อยู่ที่ศาลาทั้งกลางวันกลางคืน ในบ้านนายไม่ใคร่จะอยู่เพราะนายไม่ว่า อ้ายผู้ร้ายเหล่านี้จึ่งเปนผู้ร้าย[6]

ความหละหลวมของระบบควบคุมกำลังคนซึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายและไพร่ ทำให้ไพร่พลส่วนหนึ่งถือตนว่ามีมูลนายคอยคุ้มครองจนสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร ไม่เพียงเท่านั้น หากเป็นมูลนายที่มีบารมีมากในบ้านพื้นที่อาจทำให้เกิดเขตอิทธิพลเช่น กรณีของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งท่านดูแลบริเวณนิวาสสถานของสกุลบุนนาคที่มีอาณาบริเวณตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีตั้งแต่ปากคลองบางกอกใหญ่ บริเวณวัดประยุรวงศาวาสลงมาตามริมน้ำจนถึงวัดอนงคารามและวัดพิชัยญาติการาม[7]

ภาพถ่ายบริเวณวัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี นิวาสสถานของสกุลบุนนาคในสมัยรัชกาลที่ 5

พื้นที่ดังกล่าวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้จ้างแขกยามมาทำหน้าที่แทนโปลิศของรัฐบาล หรือกองโปลิศคอนสเตเบิล (Police Constable) ซึ่งตั้งใน .. 2405 การอาศัยอำนาจบารมีของผู้มีบรรดาศักดิ์ในการดูแลพื้นที่ให้เกิดความเรียบร้อยไม่สามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากคราวใดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปราชการหัวเมืองหรือกลับถิ่นพำนักที่เมืองราชบุรีมักเกิดปัญหาโจรผู้ร้ายในพื้นที่ชุกชุมเสมอ[8] โดยที่รัฐไม่สามารถส่งโปลิศเข้ามารักษาความสงบได้

แม้เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะมิได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้ว ทางรัฐบาลก็ยังประสบปัญหาเช่นเดิม กับทั้งบรรดาผู้ที่ก่อเหตุความไม่สงบภายในบริเวณนี้ส่วนมากเป็นบ่าวไพร่หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับสกุลดังกล่าว[9] เห็นได้จากพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ที่มีไปถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม เมื่อ .. 2427 ระบุเกี่ยวกับปัญหาและความประสงค์ของรัฐ ดังนี้

การรักษาโจรผู้ร้ายในฝั่งตวันตกตอนข้างบ้านเธอ เธอควรรับจัดรักษาไว้แต่ก่อนจะตลอดถึงเขตร์แขวงเหล่านี้ด้วยฤๅไม่ จะจัดโปลิศขึ้นไปรักษาขึ้นอีกก็เห็นว่าคงจะต้องเกิดวิวาทกันบ้าง ด้วยคนแห่งนั้นเปนบ่าวไพร่พวกบ้านเธอแลบ้านใหญ่ๆ สับสนกันมาก เธอจะคิดรักษาตลอดไปได้ฤๅจะให้จัดโปลิศไปรักษาต่างหากขอให้คิดดูด้วย[10]

ความประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการเข้าไปจัดการในพื้นที่นี้ด้วยการใช้กองโปลิศจากส่วนกลางประสบความสำเร็จใน .. 2427 โดยเกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย เห็นได้จากหนังสือกราบทูลของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ที่แสดงถึงการยอมรับการใช้กองโปลิศของรัฐบาลเข้ามาจัดการในพื้นที่ ดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ทุกวันนี้โทรเลขได้ปักเสาพาดสายตลอดออกมาถึงป้อมปัจจามิตรแล้ว โดยโปลิศมารักษาการณ์ขึ้น ก็บอกกันได้ทุกสะเตชั่น ควรโปลิศรักษา เพราะโปลิศเป็นของแผ่นดิน[11]

ระบบควบคุมกำลังคนแม้จะมีส่วนต่อความมั่นคงของรัฐในด้านการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองหลวง ในทางตรงกันข้ามระบบดังกล่าวก็มีส่วนสร้างปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในการดูแลพื้นที่อันเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ ดังนั้นจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาจัดการไม่เฉพาะปัญหาในกรณีที่กล่าวมาเท่านั้น แต่ปัญหาจากระบบควบคุมกำลังคนยังมีส่วนสร้างผลเสียทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากกรณีการปราบปรามสุราเถื่อนบริเวณบ้านญวนสามเสนซึ่งรัฐต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

การปราบปรามสุราเถื่อนที่บ้านญวนสามเสน

การจัดการปัญหาสุราเถื่อนที่บ้านญวนสามเสน ซึ่งสาระสำคัญของคดีนี้มีนอกเหนือจากความผิดอันเป็นสาเหตุให้รัฐเข้าปราบปรามจากการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง แต่คดีดังกล่าวกลับแสดงถึงความพยายามเข้าจัดการกับพื้นที่เมืองในส่วนต่างๆ ของพระนคร อันทำให้เห็นถึงรอยต่อของการจัดการพื้นที่เมืองในรูปแบบดั้งเดิม คือการควบคุมกำลังพลตามชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์

ซึ่งรูปแบบการจัดการเมืองในลักษณะนี้ไม่ได้สอดประสานกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพฯ ด้วยการใช้กองตระเวนซึ่งปฏิรูปจากกองโปลิศคอนสเตเบิลเมื่อ .. 2433 เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ซึ่งจะเห็นถึงข้อบกพร่องของการจัดการพื้นที่เมืองในยุคก่อนที่เป็นปัญหาต่อการปกครอง ทำให้รัฐต้องเข้ามาแก้ไขเพื่อสร้างความเป็นระเบียบให้กับกรุงเทพฯ อันเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งรัฐ

บ้านญวนสามเสนเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเวียดนามที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากการทำสงครามอานามสยามยุทธทำให้มีการกวาดต้อนชาวเวียดนามเข้ารีตมาเป็นอันมาก และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนต่อเนื่องกับพวกเขมรเข้ารีตที่ตั้งถิ่นฐานมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 โดยรัฐให้สิทธิการปกครองชุมชนด้วยการให้มีหัวหน้าตามกลุ่มชาติพันธุ์ดูแลกันภายในหมู่ราษฎร โดยหัวหน้าชุมชนต่างชาติต้องขึ้นตรงต่อกรมกองของรัฐ สำหรับบ้านญวนสามเสนกำหนดให้ไพร่พลขึ้นสังกัดต่อสมุหพระกลาโหม[12]

การปกครองของชุมชนบ้านญวนสามเสนยังคงเป็นไปในลักษณะชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ตามระบบควบคุมกำลังพลโดยมาก แม้ว่าบางส่วนจะเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่คริสตจักรประจำชุมชนก็ตาม แต่บทบาทการปกครองไพร่พลในสังกัดส่วนมากอยู่กับหัวหน้าชุมชนซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ พระยาบรรฦาสิงหนาท (เจ๊ก) ซึ่งมีบทบาทสำคัญด้วยการพัฒนาที่ดินด้วยการขุดคลองพระยาบรรฦาใน .. 2435 บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือเมืองปทุมธานี เพื่อจัดสรรที่ดินให้กับชาวเวียดนามในสังกัดที่ยากจนไว้ทำนา รวมทั้งยังจำหน่ายที่ดินให้กับราษฎรที่สนใจอีกด้วย

ต่อมาพระยาบรรฦาสิงหนาท (เจ๊ก) ถึงแก่อนิจกรรมใน .. 2441 บุตรชายจึงเข้ารับตำแหน่งเป็น พระบรรฦาสิงหนาท เจ้ากรมทหารปืนใหญ่[13] บทบาทของผู้นำชุมชนผู้นี้จะสร้างปัญหาแก่การจัดการพื้นที่เมืองในกรณีบ้านญวนสามเสนอย่างมากในประเด็นการต้มกลั่นและจำหน่ายสุราเถื่อน

ปัญหาจากการผลิตและจำหน่ายสุราเถื่อนของชุมชนบ้านญวนสามเสนสร้างผลกระทบต่อรายได้ของรัฐในส่วนนี้ เห็นได้จากบรรดาเจ้าภาษีสุราที่ประมูลเงินภาษีจากรัฐจนมีข้อร้องเรียนจากพระพิพิธภัณฑ์วิจารณ์ นายอากรสุรากราบทูลรัชกาลที่ 5 เมื่อ .. 2445 ด้วยเพราะโดยเหตุที่สุราเถื่อนชุกชุมมากทำให้เงินภาษีที่ต้องส่งรัฐงวด .. 2443 ขาดทุนไปมากกว่า 240,000 บาท ปัญหาสุราเถื่อนเกิดขึ้นอย่างมากในกรุงเทพฯ โดยมีบ้านญวนสามเสนเป็นแหล่งผลิตสำคัญในกรุงเทพฯ เป็นเวลานานกว่า 30 [14] และมีพฤติกรรมเช่นที่หลวงไมตรีวานิช นายอากรสุราเมื่อ .. 2448 ได้ร้องเรียน ดังนี้

ในมณฑลกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ก็เกิดสุราเถื่อนชุกชุมทั่วไปทุกตำบล มีที่บ้านญวนสามเสนเป็นต้น ซึ่งพวกญวนมีใจกำเริบตั้งต้มกลั่นสุราเถื่อน แลจำหน่ายเป็นการเปิดเผยขายให้แก่ราษฎรทั่วไป มักจะลอบขนส่งชาวร้านแลชาวเรือในเวลากลางคืน[15]

ก่อนการเข้าปราบปรามสุราเถื่อนโดยกองตระเวนเมื่อ .. 2443 ปัญหาสุราเถื่อนบ้านญวนสามเสน บรรดาเจ้าภาษีสุราใช้วิธีประนีประนอมกับบาทหลวงด้วยการจ่ายเงินในอัตราปีละ 50-70 ชั่ง จนเป็นธรรมเนียมสืบมาเพื่อให้บาทหลวงช่วยห้ามปรามและควบคุมพฤติกรรมของสานุศิษย์ที่โดยมากเป็นคนญวนเข้ารีต แต่ไม่สามารถแก้ไขได้เด็ดขาด

แผนที่แสดงที่ตั้งบริเวณบ้านญวนสามเสน “ชุมชนตกค้าง” ที่ปกครองโดยระบบควบคุมกำลังคนจนถึงปลายทศวรรษ 2450 อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาทางสัญจรดั้งเดิมกับแนวถนนสามเสนที่ตัดขึ้นใหม่ช่วงต้นทศวรรษ 2430 (ที่มา : หจช. ร.5 น.22/284 เกิดเพลิงไหม้ที่บ้านอำแดงเจียก ตำบลบ้านญวนสามเสน ราษฎรชาวบ้านช่วยกันดับได้ (27 ธันวาคม ร.ศ. 126))

จนกระทั่ง .. 2443 เมื่อเจ้าภาษีสุราเสนอรายได้ให้บาทหลวงจำนวนถึง 500 บาทต่อเดือน เพื่อยุติปัญหาอย่างเด็ดขาด ซึ่งทางบาทหลวงได้ให้นายเจิมผู้เป็นศิษย์พาบรรดาเจ้าภาษีตรวจตามบ้านเรือนในชุมชน แต่ได้รับการขัดขวางจากชาวบ้านที่อ้างว่าเป็นคนในบังคับ แต่เมื่อเจ้าภาษีขอหมายจากกงสุลฝรั่งเศสเข้าตรวจค้น คนเหล่านี้กลับอ้างว่าเป็นคนในสังกัดของพระบรรฦาสิงหนาทซึ่งขึ้นกับกระทรวงกลาโหม เป็นช่องทางให้พระบรรฦาสิงหนาทแสวงหาประโยชน์และปกป้องพวกพ้องด้วยการเสนอให้นายอากรสุราจ่ายเงินรายเดือนให้กับหัวหน้าพวกทำสุราเถื่อนคนละ 20 บาท จำนวน 7 คน พร้อมกับให้จ่ายเงินแก่ขุนหมื่น 2 คน ซึ่งเป็นลูกน้องของพระบรรฦาสิงหนาท ที่นำเจ้าภาษีสุราตรวจตราในชุมชนอีกเดือนละ 50 บาท บทบาทในส่วนนี้ของผู้นำชุมชนเห็นได้ว่าพยายามปกป้องผู้กระทำผิดซึ่งล้วนแต่เป็นคนในสังกัดของตน อีกทั้งยังหาผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องอีกด้วย[16]

ครั้นเมื่อเจ้าภาษีสุราออกตรวจในชุมชนก็ถูกขัดขวางจากราษฎรจนเจ้าภาษีสุราต้องขอความช่วยเหลือจากกองตระเวนซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการกับท้องถิ่นโดยตรง การเข้าจับกุมผู้กระทำผิดกระทำอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน ใน .. 2443 ถึง 5 ครั้ง โดยใน 4 ครั้งแรกเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดที่ต่อสู้ขัดขวางเพียงรายเดียวพร้อมทั้งยึดอุปกรณ์ผลิตสุราได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่ในการจับกุมครั้งสุดท้าย กองตระเวนต้องประสบปัญหาจากการขัดขวางของราษฎรอย่างหนักซึ่งมีพระบรรฦาสิงหนาทเป็นผู้สนับสนุนใช้อุบายถ่วงเวลาเจ้าหน้าที่กองตระเวนด้วยการขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมต้นสังกัดของตนก่อน พร้อมกับจัดขุนนางของตนไปกำกับการปฏิบัติงานของกองตระเวน ซึ่งแท้ที่จริงตามคำพิพากษาลงโทษในคดีนี้ระบุว่าเป็นการส่งไปเพื่อให้สัญญาณแก่พวกราษฎรเพื่อเตรียมการโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธปืน จนเจ้าหน้าที่กองตระเวนได้รับบาดเจ็บต้องล่าถอยออกมา

ภายหลังได้มีการตัดสินคดีลงโทษพระบรรฦาสิงหนาทด้วยการปรับเงินเพียง 11 ตำลึง ด้วยความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานและสนับสนุนผู้กระทำผิดต้มสุราเถื่อน ส่วนขุนนางอีกรายหนึ่งถูกลงโทษด้วยการพักราชการ 1 ปี[17] แต่การลงโทษเช่นนี้ไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำผิดได้

การเข้าปราบปรามสุราเถื่อนในบ้านญวนสามเสนคงกระทำอย่างต่อเนื่อง ปรากฏใน .. 2446 เจ้าภาษีสุรากับกองตระเวนอีก 40 นาย เข้าตรวจจับราษฎรที่กระทำผิดและมีการยิงปะทะกัน ซึ่งทางพระบรรฦาสิงหนาทได้กราบทูลต่อรัชกาลที่ 5 ว่าพวกพลตระเวนและเจ้าภาษีกระทำผิดธรรมเนียม เพราะไม่ได้แจ้งแก่พระบรรฦาสิงหนาทให้ทราบก่อนเช่นที่เคยปฏิบัติมา[18]

จนกระทั่ง .. 2448 เจ้าภาษีสุรานำโดยหลวงไมตรีวานิช พระยาบริบูรณ์โกษากร และนายถมยา ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสุราเถื่อนทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาล กล่าวถึงความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถเก็บเงินอากรสุราส่งรัฐได้จากปัญหาสุราเถื่อนซึ่งมีบ้านญวนสามเสนเป็นแหล่งผลิตสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีการจับกุมสุราเถื่อนของกลางไม่ถึง 5 ทะนาน ศาลมักปล่อยตัวจำเลยไปโดยมากซึ่งเป็นน้ำสุราที่มาจากแหล่งผลิตดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่

แต่ทั้งนี้การขาดทุนเงินอากรสุรายังมีปัญหาอื่นร่วมด้วยจากรายงานฉบับเดียวกันคือการนำเข้าสุราต่างประเทศที่มีจำนวนมาก กับการยกเลิกโรงบ่อนเบี้ยขนาดใหญ่ในมณฑลกรุงเทพฯ ไปถึง 4 ตำบล[19] ทำให้อากรสุราระหว่าง .. 2447-48 ขาดทุนไปถึง 5 แสนบาท กระทบต่อการประมูลอากรสุราที่จะต้องส่งรัฐใน .. 2449 จนบรรดานายอากรเสนอให้รวมการประมูลอากรสุราเข้ากับ .. 2450-51 ด้วยกันเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนายอากร กับทั้งเสนอขอให้กระทรวงเมืองได้จัดการในหมู่บ้านญวนสามเสนให้เป็นการเรียบร้อย[20]

จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดธรรมมิการาม จังหวัดลพบุรี

ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้กระทำผิดที่บ้านญวนสามเสนคือ การเข้าขัดขวางจากหัวหน้าชุมชน คือพระบรรฦาสิงหนาท ซึ่งได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบรรฦาสิงหนาท ใน .. 2448 ดังที่ มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน กล่าวไว้ดังนี้

เราจะทำเล่นเช่นเด็กๆ ไม่ได้ แลปดเสียว่าณะที่นั้นหามีสุราไม่ แล้วว่าปดว่าพระยาบรรณลือกับพวกทหารญวนนั้นเปนคนดีเปนคนซื่อตรง ย่อมทราบอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นว่าพวกนั้นหาใช่เล่นไม่ เปนพวกซึ่งกระทำการต่อสู้ฝ่าฝืนกฎหมายทุกวัน การอันนี้เพราะเปนน่าที่ของพระยาบรรณลือซึ่งเปนหัวน่าของพวกนี้ จึงเปนการแขงแรงนัก[21]

เช่นเดียวกับหลวงไมตรีวานิช นายอากรสุรา ได้เสนอวิธีการจับกุมให้กับกระทรวงนครบาลด้วยการไม่ให้มีพระยาบรรฦาสิงหนาทกับขุนนางที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำตรวจค้น เพราะมักคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กองตระเวนของโรงพักสามเสนซึ่งมีพวกบ้านญวนสามเสนเข้าไปปฏิบัติงาน ซึ่งคอยส่งข่าวของเจ้าหน้าที่ให้พรรคพวกในบ้านญวนสามเสนทราบอยู่เสมอ อีกทั้งการตรวจจับขอให้ไม่ต้องมีหมายจับ เพราะจะทำให้เสียเวลาจนคนร้ายหลบหนีหรือทำลายหลักฐานได้ และหากบ้านใดต้องสงสัยว่าผลิตและจำหน่ายสุราเถื่อนให้ปิดบ้านนั้นจนกว่าจะจะจับกุมจำเลยได[22]

พร้อมกันนั้นหลวงไมตรีวานิชได้เสนอให้มีการตั้งด่านตรวจทางน้ำบริเวณบ้านญวนสามเสนเพื่อป้องกันการขนถ่ายสุราเถื่อนและป้องกันสุราราคาถูกจากหัวเมืองเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ อีกด้วย[23] แต่ทางกองตระเวนคัดค้านแผนการนี้ เพราะจะทำให้ราษฎรส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนจากการสัญจรยิ่งกว่าผลประโยชน์ของนายอากรสุราเพียงอย่างเดียว[24]

สำหรับพระยาบรรฦาสิงหนาทนอกจากจะสนับสนุนผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องแล้วยังมีบทบาทเป็นผู้ผลิตสุราเถื่อนรายสำคัญ ซึ่งมักจะนำสุราเถื่อนของตนไปเก็บไว้ที่บ้านของน้องสาวที่มักปิดบ้านไว้เสมอเนื่องจากไปอยู่ยังที่นาต่างหัวเมือง ทำให้กองตระเวนไม่สามารถค้นบ้านได[25]

การผลิตสุราเถื่อนของขุนนางหัวหน้าชุมชนบ้านญวนสามเสนอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากฐานะทางการเงินของพระยาบรรฦาสิงหนาทที่ประสบปัญหาจากการลงทุนในการขุดคลองเพื่อจำหน่ายที่ดินซึ่งสืบทอดจากบิดา ที่ประสบปัญหาการดำเนินการเนื่องจากเป็นคดีความกับชาวบ้านจนแผนการทางธุรกิจต้องล่าช้าและขาดทุนในที่สุด รวมไปถึงการที่ต้องรับราชการทำให้ไม่สามารถดูแลธุรกิจได้เต็มที่อีกด้วย[26]

แผนที่แสดงที่ตั้งโบสถ์คริสต์ ศาสนสถานที่สำคัญของชาวชุมชนบ้านญวนสามเสน (ที่มา : หจช. ร.5 น.22/292 เกิดเพลิงไหม้ที่ครัวไฟของนายแต้อำแดงไส ตำบลบ้านญวนสามเสน หลังโบสถ์ฝรั่งรวม 4 หลัง (16-17 มกราคม ร.ศ. 126))

ด้วยสาเหตุของการเป็นผู้กระทำผิดทำให้พระยาบรรฦาสิงหนาทต้องเข้าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกองตระเวนและนายอากรสุราอย่างเต็มที่ แม้ว่ากองตระเวนและนายอากรสุราจะดำเนินการจับกุมในชุมชนหลายครั้งในเดือนกันยายน 2448 นายอากรเข้าจับสุราเถื่อนต้องประสบปัญหาจากการขัดขวางของหัวหน้าชุมชนกับทั้งไม่มีหมายค้นทั้งที่พบว่าบ้านหลายหลังมีอุปกรณ์การผลิตสุราเถื่อนอย่างเด่นชัด กับทั้งราษฎรส่วนหนึ่งเป็นคนในบังคับฝรั่งเศสอาจส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศได[27]

นายอากรสุราจึงขอให้ทางกระทรวงนครบาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานชั้นปลัดกรมซึ่งสามารถออกหมายตรวจค้นได้ทันที[28] คำร้องขอของนายอากรได้รับการตอบรับด้วยการเลื่อนตำแหน่งมิสเตอร์เวสต์สารวัตรใหญ่กรมกองตระเวนขึ้นเป็นปลัดกรมกองตระเวนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่จับสุราเถื่อนบ้านญวนสามเสนเป็นกรณีพิเศษ[29]

การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองตระเวนรับหน้าที่เฉพาะกิจเช่นนี้แสดงถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่มีความรุนแรงอย่างมาก ซึ่งภายหลังที่มีการแต่งตั้งมิสเตอร์เวสต์มารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนจึงมีการเข้าจับกุมผู้กระทำผิดในวันที่ 4 ธันวาคม 2448 ซึ่งพบกับปัญหาไม่ต่างจากการตรวจค้นก่อนหน้านี้ทั้งการเจรจาเพื่อหน่วงเวลาให้ผู้กระทำผิดเตรียมการป้องกัน และมีการชักสะพานข้ามคลองไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจได้ กับตีฆ้องให้สัญญาณเพื่อเตรียมกำลังคนไว้ต่อสู้

เมื่อกองตระเวนจะเข้าตรวจค้นราษฎรเข้าขัดขวางด้วยการขว้างก้อนอิฐและยิงอาวุธปืน ส่วนพระยาบรรฦาสิงหนาทมีพฤติกรรมหาได้ช่วยอันใดไม่ เปนแต่ยืนหันหน้าเข้าไปทางโบสถ์ที่ปลายถนนตรงหน้าพวกญวนเหล่านั้นประมาณ 100 คน

สถานการณ์ของกองตระเวนนับว่ายากลำบากจนต้องขอกำลังจากกองตระเวนโรงพักสามเสนที่อยู่ใกล้กันเข้ามาช่วยจนสามารถตรวจยึดและทำลายส่าเหล้าและน้ำอ้อยที่ใช้ผลิตหลายสิบถังกับอุปกรณ์การผลิตจำนวนมาก[30] การต่อต้านจากราษฎรในชุมชนแห่งนี้ได้รับการอุดหนุนจากพระยาบรรฦาสิงหนาทอย่างเด่นชัด ทำให้ มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน เสนอวิธีปราบปรามอย่างเด็ดขาด ดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานบอกกล่าวแก่พระยาบรรณลือโดยแขงแรงว่า ถ้าทำการต่อสู้แล้วก็เปนความผิดเสียของพวกญวนเอง ถ้าพวกญวนเข้าทำร้ายกองตระเวนเวลาทำการตามน่าที่ต้องถูกจับหรือถ้าเปนการจำเปนจะต้องยิงเสียเปนการแน่ทีเดียวว่าเปนการง่ายที่สุดที่จะระงับการนี้ทั้งสิ้นได้ ถ้าพบสุราเถื่อนครั้งใดจำเปนต้องกระทำโทษพระยาบรรณลือทุกครั้งไป กับทำให้ทหารเหล่านี้รู้การน่าที่เสียบ้าง แลต่อไปเขาจะเปลื้องอาวุธเสีย จนกระทั่งรู้ตัวของเขารู้สำนึกที่จะประพฤติปฏิบัติให้หยุดต้มกลั่นสุราเถื่อนเสียทีเดียว[31]

หลังจากที่การตรวจจับครั้งดังกล่าวกระทรวงนครบาลพบปัญหาอีกว่าบรรดาบ้านเรือนราษฎรในชุมชนแห่งนี้ทางราชการไม่เคยทราบชื่อเจ้าของที่แท้จริง เมื่อเข้าตรวจตราเจ้าของมักหลบหนีก่อนเสมอ และการติดตามผู้กระทำผิดก็ทำได้ยากเพราะไม่มีผู้ใดบอกชื่อเจ้าของบ้านให้ทราบ ดังนั้น กระทรวงนครบาลควรทำบาญชีหลังคาเรือนเสียให้ทราบเจ้าของตลอดตำบล[32]

การทำบัญชีครัวเรือนแสดงถึงอำนาจรัฐที่เข้าไปจัดการกับชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ท้องที่บ้านญวนสามเสนเป็นพื้นที่ซึ่งกองตระเวนไม่ได้เข้าไปตรวจตรายามปกติ เว้นแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างกรณีอัคคีภัย เป็นต้น[33] เนื่องจากเป็นเขตอิทธิพลของพระยาบรรฦาสิงหนาทซึ่งสังกัดกับกระทรวงกลาโหมและมีบุคคลในสังกัดเป็นทหารจำนวนมาก[34] แต่แผนการของกระทรวงนครบาล[35] ก็ไม่บรรลุผล เพราะพระยาบรรฦาสิงหนาทต้องการคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมอย่างเดียว แม้เมื่อทางต้นสังกัดมีคำสั่งแล้วก็ยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมกระทำตาม[36]

ความพยายามของกองตระเวนยังเกิดขึ้นอีกในวันที่ 30 ธันวาคม ของปีเดียวกัน ได้เข้าตรวจค้นบ้านเรือนราษฎรสามารถยึดวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิตได้เช่นคราวก่อน และก็พบกับการต่อต้านจากราษฎรด้วยการลอบยิงหลายครั้งเพื่อขัดขวางเจ้าหน้าที่ และทั้ง 2 ฝ่ายต่างยิงปะทะกัน จนต้องขอกำลังจากโรงพักใกล้เคียงมาช่วยเหลือ หลังเหตุการณ์สงบลงมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แต่ผลจากการต่อต้านที่เกิดขึ้นรุนแรงบ่อยครั้งเช่นนี้ทำให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทรงวิเคราะห์ไว้ดังนี้

การเรื่องพวกญวนต้มสุราเถื่อนฝ่าฝืนพระราชบัญญัติในตำบลนี้ เปนความจำเปนที่จะต้องจัดการระงับด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งที่แขงแรง ไม่ใช่วิธีระงับด้วยเพราะเอาตัวผู้ผิดฟ้องให้ศาลพิจารณาลงโทษถานลักษณคดีเช่นกระทำมา พวกญวนจึ่งจะอยุดการต้มสุราเถื่อนจริงได้ เพราะเหตุว่าพวกญวนทั้งตำบลตั้งแต่หัวน่าที่เปนขุนนางตลอดจนญวนสามัญได้เคยกะทำการหาเลี้ยงชีพด้วยการต้มสุราเถื่อนมาชั่วอายุด้วยกันทั้งบ้าน

เคยมีผู้มีบรรดาศักดิ์อุดหนุนหรือรับช่วยคดี เมื่อญวนผู้ใดต้องตรวจค้นหรือต้องจับ ต่างคนก็ต่างช่วยกันปิดบังแลช่วยอุดหนุนแก้ไขคดีซึ่งกันแลกัน ตั้งน่ากระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทั้งตำบลเช่นนี้ ไฉนเลยจะเอาตัวผู้ผิดพิจารณาลงโทษได้ แม้หากว่าจับตัวได้ในเวลาค้นบางคดีก็เกิดมีพยานพักพวกเข้าเบิกความแก้กัน ฝ่ายเจ้าพนักงานจะหาพยานในจำพวกราษฎรซึ่งได้ทราบ ได้เห็น เหตุแต่เฉภาะน่าก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เปนพวกประพฤติทุจริตอยู่ด้วยกัน[37]

พระวินิจฉัยของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ แสดงถึงบทบาทที่สำคัญของขุนนางที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น ผู้มีบรรดาศักดิ์ที่กล่าวถึงนั้นเป็นใครไม่ได้นอกจากพระยาบรรฦาสิงหนาท หัวหน้าชุมชนที่มักแสดงพฤติกรรมปกป้องผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องหลายประการ เป็นเหตุให้ชุมชนบ้านญวนสามเสนเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในศูนย์กลางการปกครอง และส่งผลเสียทางเศรษฐกิจของรัฐ คือภาษีสุราที่รัฐต้องสูญเสียจำนวนมาก

แต่กระนั้นเบื้องหลังของการมีพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้นำชุมชนและราษฎรในบ้านญวนสามเสน เกิดขึ้นจากลักษณะที่เรียกว่าชุมชนตกค้าง อันมีลักษณะเป็นชุมชนที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปแต่ยังดำรงอยู่ด้วยเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน ไม่ได้เปลี่ยนตามไปหมด[38]

จิตรกรรมบนแผ่นไม้ภายในวิหารวัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง จังหวัดตาก

บ้านญวนสามเสนนับเป็นชุมชนที่ตกค้างด้วยรูปแบบของการปกครองในลักษณะของการสังกัดกรมกองอย่างระบบมูลนายไพร่ และมีหัวหน้าชุมชนเป็นคนเชื้อชาติเดียวกันปกครอง อยู่ได้ด้วยระบบอุปถัมภ์ เช่น การแสดงบทบาทขุดคลองของพระยาบรรฦาสิงหนาท (เจ๊ก) ที่ช่วยเหลือชาวเวียดนามที่ยากจนให้มีที่ดินทำกิน

ส่วนพระยาบรรฦาสิงหนาทผู้เป็นบุตรก็ช่วยเหลือราษฎรในสังกัดของตนโดยที่ตนเองก็มีผลประโยชน์จากการผลิตสุราเถื่อนด้วย และเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีนโยบายรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง พร้อมทั้งตั้งกองตระเวนขึ้นมาเป็นองค์กรดูแลความเรียบร้อยในรัฐ โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองเป็นเบื้องต้น รวมไปถึงยังทรงจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการออกพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ .. 116 (.. 2440) เพื่อให้มีการจัดการปกครองเป็นลำดับชั้นตั้งแต่ระดับหมู่บ้านเป็นต้นไปให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง

สำหรับกรุงเทพฯ ให้กระทรวงนครบาลเป็นผู้รับผิดชอบ[39] ทำให้ลักษณะการปกครองเช่นกรณีบ้านญวนสามเสนเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐด้วยบทบาทของการเป็นชุมชนที่ละเมิดกฎหมายในขณะนั้น กรณีดังกล่าวทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวินิจฉัยที่แสดงถึงพื้นฐานของปัญหาอันเนื่องมาจากรูปแบบการปกครอง ดังนี้

กระทรวงนครบาลมีอำนาจที่จะปกครองคนในตำบลต่างๆ ได้ทั่วทั้งเมือง เหตุใดที่ตำบลบ้านญวนสามเสนเล็กนิดเดียวเท่านั้นจึงไม่คิดอ่านปกครอง ยกเปนพแนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขตรสำหรับกระทรวงกลาโหมฤๅบาดหลวงปกครองเห็นว่าที่เปนอยู่เช่นนี้ผิดด้วยพระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่

ถ้าเสนาบดีกระทรวงนครบาลแลเสนาบดีกระทรวงกลาโหมทั้งปลัดทูลฉลองด้วยทั้งสองกระทรวงพร้อมกันคิดอ่านปกครองบ้านญวนนี้ให้เหมือนดังที่อื่นๆ ในพระราชอาณาเขตรทั่วไปเท่านี้ไม่ได้ทีเดียวหรือ ลักษณปกครองท้องถิ่นนั้น ก็คือ มีอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านรับผิดชอบลงไปเปนชั้นๆ ป้องกันไม่ให้ราษฎรลูกบ้านประพฤติความชั่วผิดพระราชกำหนดกฎหมายนั้นเปนที่ตั้ง

จึงขอสั่งว่าให้พิจารณาดูในการที่จะป้องกันเล่าเถื่อนนี้โดยทางปกครองท้องที่ อย่าให้ยกว่าหมู่บ้านนี้อยู่ในกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ ข้อที่นับว่าคนอยู่ในกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ด้วยทางที่รับราชการต่างหากไม่ได้เกี่ยวข้องในการปกครองท้องที่ในตำบลหนึ่งซึ่งอยู่ในพระนคร[40]

คดีดังกล่าวมีความหมายมากกว่าการปราบปรามผู้ผลิตและค้าสุราเถื่อนเท่านั้น แต่ได้สะท้อนภาพของการจัดการเมืองและปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รัฐสมัยใหม่มีต่อชุมชนต่างๆ ด้วยการใช้หน่วยงานด้านการปกครองของรัฐ คือ กรมกองตระเวน ซึ่งดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการดูแลเมืองหลวงภายใต้ระบบควบคุมกำลังพลที่รัฐมักประสบปัญหาในการควบคุมอยู่เสมอมา ซึ่งกำลังหมดความสำคัญลงไปภายใต้การจัดการของรัฐสมัยใหม่ที่เน้นความเป็นเอกภาพของรัฐและต้องการรวบรวมอำนาจการปกครองและทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง

 


เชิงอรรถ

[1] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 เรื่องอธิบายตำนานวังเก่า,”ใน ประชุมพงศาวดารเล่ม 15. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2507), . 74.

[2] ตำราแบบธรรมเนียมราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา กับพระวิจารณ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2539), . 27.

[3] จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขุนนางกรมท่าขวา การศึกษาบทบาทและหน้าที่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ .. 2153-2435. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), . 42-43, 163-169.

[4] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), . 186-187.

[5] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 เรื่องอธิบายตำนานวังเก่า,” . 74-75.

[6] หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมหมาย ฮุนตระกูล (ไม่ปรากฏปีพิมพ์, 2536), . 403.

[7] แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคนอื่นๆ. องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534). . 93.

[8] ประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงบริหาราชการแผ่นดิน ภาคที่ 1 ระหว่างพุทธศักราช 2424 ถึงพุทธศักราช 2435, (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), . 97.

[9] เรื่องเดียวกัน.

[10] เรื่องเดียวกัน, . 85-87.

[11] เรื่องเดียวกัน, . 87.

[12] ผุสดี จันทวิมล. เวียดนามในเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541), . 65-67.

[13] เดวิด บรูซ จอห์นสตัน. สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย .. 2423-2473. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530), . 34-36.

[14] หจช. .5 .14.1/20 พระพิพิธภัณฑ์วิจารณ์ กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม .. 121

[15] หจช. .5 .14.1/28 ที่ 154/6191 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 24 มกราคม .. 124

[16] หจช. .5 .13/69 สำเนาคำพิพากษาคดีระหว่าง มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน โจทก์ กับ พระบรรฦาสิงหนาท หลวงแผลงสท้าน ขุนพิไสยสรเดช ขุนวิเศษสังหาร จำเลย ลงวันที่ 24 เมษายน .. 120

[17] เรื่องเดียวกัน.

[18] หจช. .5 .14.1255 พระบรรฦาสิงหนาท เจ้ากรมทหารปืนใหญ่ญวน กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม .. 122

[19] หจช. .5 .14.1/28 หลวงไมตรีวานิชนายอากร พระยาบริบูรณ์โกษากร นายถมยา อากรสุรามณฑลกรุงเทพฯ กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 15 มกราคม .. 124

[20] หจช. .5 .14.1/28 หลวงไมตรีวานิชนายอากร พระยาบริบูรณ์โกษากร นายถมยา อากรสุรามณฑลกรุงเทพฯ กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 28 เมษายน .. 125

[21] หจช. .5 .14.1/25 ที่ เอ 139/799 มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 6 ธันวาคม .. 124

[22] หจช. .5 .14.1/25 หลวงไมตรีวานิช นายอากรสุรามณฑลกรุงเทพฯ กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 10 กรกฎาคม .. 124

[23] หจช. .5.14.1/25 หลวงไมตรีวานิช นายอากรสุรามณฑลกรุงเทพฯ  กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม .. 124

[24] หจช. .5 .14.1/25 ที่ อี/64/191 มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 18 สิงหาคม .. 124

[25] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 30 ธันวาคม .. 124

[26] เดวิด บรูซ จอห์นสตัน. สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย .. 2423-2473. . 34-36.

[27] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 30 ธันวาคม .. 124

[28] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 193/124 หลวงไมตรีวานิช นายอากรสุรามณฑลกรุงเทพฯ ถึง มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน ลงวันที่ 26 ตุลาคม .. 124

[29] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 106/11349 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ถึง มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน .. 124

[30] หจช. 5 .13.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 30 ธันวาคม .. 124

[31] หจช. .5 .14.1/25 ที่ เอ 139/799 มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 6 ธันวาคม .. 124

[32] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 30 ธันวาคม .. 124

[33] หจช. .5 .22/284 ที่ 507/126 นายอยู่นายหมวด และนายปลั่ง สารวัตรใหญ่ ถึง มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน ลงวันที่ 26 ธันวาคม .. 126

[34] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 30 ธันวาคม .. 124

[35] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 12942 มิสเตอร์อีดับบลิวตร๊อดเตอร์ เจ้ากรมกองตระเวน ถึง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 27 ธันวาคม .. 124

[36] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 30 ธันวาคม .. 124

[37] หจช. .5 .14.1/25 ที่ 33/13136 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบทูล รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 31 มกราคม .. 124

[38] นิธิ เอียวศรีวงศ์. “วัฒนธรรมเมือง,” ใน วัฒนธรรมเมือง : ว่าด้วยชุมชนเมืองและการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล. สรุปสัมมนาทางวิชาการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร 7-8 กรกฎาคม 2537. (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537), . 10.

[39] เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ. “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ .. 116,” ใน ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 16 .. 116-117. (พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478), . 27-28, 35-41.

[40] หจช. .5 .14.1/25 พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ถึง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 10 มกราคม .. 124


หมายเหตุ บทความในนิตยสารชื่อ การปราบปรามการผลิตและค้าสุราเถื่อนในกรุงเทพฯ ภาพสะท้อนการจัดการเมืองของรัฐสมัยใหม่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2562