ย้อนดูพัฒนาการ “ปากคลองตลาด” จากตลาดปลาสู่แหล่งขายดอกไม้ชื่อดัง!

ปากคลองตลาด ดอกไม้ วันวาเลนไทน์

คนส่วนใหญ่มอบ “ดอกกุหลาบ” แทนความรักใน “วันวาเลนไทน์” และแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่จะหาซื้อดอกกุหลาบได้ง่ายที่สุด หนีไม่พ้น “ปากคลองตลาด” แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเราต้องซื้อดอกไม้จากที่นี่?

ชื่อ “ปากคลองตลาด” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ยุคนั้นมีคลองชื่อว่า “คลองใน” หรือ “คลองคูเมือง” เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 คลองในก็กลายเป็น “คลองคูเมืองเดิม” จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อคลองคูเมืองเดิมทางด้านใต้ เป็น “คลองตลาด” เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ทั้งทางบกและทางน้ำตั้งอยู่ มีสินค้าขายหลายอย่าง เช่น กะปิ ปลาสด

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปากคลองตลาดเป็นตลาดขายปลา ปรากฏหลักฐานในนิราศปากลัด นิพนธ์โดยคุณหญิงเขื่อนเพ็ชร์เสนา (ส้มจีน อุณหะนันทน์) ที่ระบุว่า “มาถึงคลองตลาดตามราษฎร์เรียก กลิ่นปลาเปียกฉุนล้นทนไม่ไหว”

แต่เมื่อนานวันเข้า รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าไม่ควรมีกลิ่นคาวปลาคละคลุ้งไปทั่วบริเวณพระราชวัง จึงโปรดให้ย้ายตลาดปลาไว้บริเวณหัวลำโพง และนำตลาดผัก-ผลไม้จากฝั่งธนบุรีมาขายบริเวณท้ายพระราชวังแทน

พื้นที่ตลาดผัก-ผลไม้ มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะมองว่าการมีตลาดอยู่ด้านหลังพระราชวังอาจดูไม่เหมาะสมนัก และยังเป็นเขตของพระอารามหลวงวัดโพธิ์ จึงออก “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ. 2496” ขึ้น โดยย้ายตลาดผัก-ผลไม้ ไปอยู่บริเวณปากคลองตลาด และจัดตั้งตลาดขึ้นมาว่า “ตลาดองค์การปกครองตลาด” อย่างที่ สุดารา สุจฉายา นักประวัติศาสตร์ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะประพันธ์ กล่าวไว้ว่า

“ต่อมา จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มองว่าตลาดท้ายวังทำให้พระราชวังดูรกรุงรัง จึงให้ย้ายมาที่ปากคลองตลาด รวมกับตลาดท่าเตียน และย้ายตลาดผักจากเยาวราชมาที่นี่ด้วย”

ผักผลไม้ที่ขายในปากคลองตลาดมีคุณภาพดี สดใหม่ ทำให้เป็นที่ต้องการของพ่อค้าแม่ค้าที่นำไปขายต่อ เข้าปี 2505 ปากคลองตลาดก็เป็นแหล่งค้าขายผักผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ก่อนจะกระจายไปยังพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด

แต่ความนิยมล้นสุดขีดกลับนำมาสู่ผลเสีย พ่อค้าแม่ขายหลายรายเริ่มเบื่อหน่าย เนื่องจากมีคนมาแย่งแผงทำกินของตนเอง รวมทั้งในเวลาต่อมาได้เกิดตลาดเอกชนใหม่ ๆ ในละแวกใกล้เคียง อย่าง ตลาดยอดพิมาน และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน

เมื่อเกิดตลาดแห่งใหม่ ผู้ค้าที่นอกจากจะขายผักผลไม้เหมือนเดิมแล้ว ก็เริ่มนำดอกไม้เข้ามาขายในปากคลองตลาดอีกด้วย ตามที่ สุดารา ระบุว่า

“แรก ๆ มีผู้นำดอกไม้มาขายน้อยมาก แต่เมื่อความนิยมมีมากขึ้น ปากคลองตลาดจึงกลายเป็นตลาดดอกไม้อย่างทุกวันนี้”

ความนิยมของดอกไม้เริ่มพุ่งทะยานในย่านปากคลองตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การให้ดอกไม้ในวาระสำคัญซึ่งคนไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากร้านรวงบริเวณปากคลองตลาดซึ่งเคยขายสินค้าอย่างอื่น หรือทำกิจการต่าง ๆ ก็ทยอยหันมาขายดอกไม้กันเต็มไปหมด

ทุกวันนี้ เมื่อต้องการหาซื้อดอกไม้ เช่น ดอกกุหลาบ ดอกดาวเรือง ในเทศกาลต่าง ๆ อย่าง วันวาเลนไทน์ “ปากคลองตลาด” แหล่งค้าขายดอกไม้ที่สำคัญของประเทศไทย จึงเป็นตัวแรกลำดับต้นที่ทุกคนนึกถึง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566