ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112” (พ.ศ. 2436 หรือ ค.ศ. 1893) เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในยุคที่ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังเข้มข้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุการณ์จบลงด้วยสยามต้องสละสิทธิและอำนาจเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่เวียดนาม ที่ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้วเรียบร้อย แล้วถ้านอกภูมิภาค ช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?
ช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กับ 5 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก
โลกในทศวรรษ 1890 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 มีความก้าวหน้าทั้งสังคม การเมือง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ ขอยกมา 5 เรื่องที่สะท้อนมิติแตกต่างกันไป

ค.ศ. 1891 เริ่มต้นการก่อสร้าง “ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย”
ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railroad) เป็นโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของ ซาร์ อเล็กซานเดอร์ ที่ 3 (Tsar Alexander III) ขณะนั้นออกแบบให้มีระยะทาง 9,198 กิโลเมตร ข้ามประเทศจากกรุงมอสโกทางตะวันตก ไปถึงเมืองท่าวลาดิวอสตอคทางตะวันออก
การก่อสร้างเริ่มจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออก และจากเมืองวลาดิวอสตอคไปทางตะวันตก ใช้คนงานก่อสร้างหลายหมื่นคน ต้องเผชิญสภาพอากาศหนาวเหน็บ ใช้เวลาก่อสร้างกว่าทศวรรษ กระทั่งปี 1904 การก่อสร้างก็แล้วเสร็จ
ทรานส์-ไซบีเรีย ครองตำแหน่งทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกมาถึงปัจจุบัน ด้วยระยะทาง 9,288 กิโลเมตร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย มีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงยุทธศาสตร์การเมือง การทหาร โดยเฉพาะในยุคจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ทั้งยังมีบทบาทเด่นในแง่เศรษฐกิจอีกด้วย
ค.ศ. 1893 ผู้หญิงในนิวซีแลนด์ได้รับสิทธิเลือกตั้งเป็นชาติแรกในโลก
ช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เป็นปีเดียวกับที่นิวซีแลนด์หยั่งรากความเท่าเทียมทางการเมืองระหว่างชายหญิง
ความพยายามของผู้หญิงนิวซีแลนด์เพื่อจะมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1880 และมาประสบความสำเร็จในเดือนกันยายน ปี 1893 ทำให้นิวซีแลนด์เป็นชาติแรกในโลกที่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จ คือ เคต เช็พพาร์ด (Kate Sheppard) นักเคลื่อนไหวหญิง

ค.ศ. 1895 “สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ” ระหว่างญี่ปุ่น-จีน
หลังชัยชนะของญี่ปุ่นในสงครามระหว่างจีน (ยุคราชวงศ์ชิง) กับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 นำสู่การลงนามใน สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Shimonoseki Treaty) ปี 1895 ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น มีใจความสำคัญ ได้แก่ จีนต้องรับรองเกาหลีในฐานะรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์, จีนต้องยกแหลมเหลียวตง เกาะไต้หวัน และหมู่เกาะเพคาดอเรสให้ญี่ปุ่น, จีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ญี่ปุ่นมูลค่าหลายร้อยล้านเยน, จีนต้องเปิดเมืองท่าให้ญี่ปุ่นเพิ่มเติม 4 เมืองท่า และจีนต้องลงนามสนธิสัญญาการค้าและการสำรวจกับญี่ปุ่น
สนธิสัญญานี้ทำให้ชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาท เช่น รัสเซียที่ต้องการท่าเรือน้ำอุ่นในแหลมเหลียวตง และใช้เป็นสถานีปลายทางของทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีสนับสนุนรัสเซีย ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นคือแหลมเหลียวตงให้จีน

ค.ศ. 1895 ค้นพบ “รังสีเอ็กซ์” เปลี่ยนโลก
ระหว่าง วิลเฮล์ม เรินท์เก็น (Wilhelm Röntgen) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ทดลองรังสีแคโทด (cathode ray) เขาได้ค้นพบรังสีชนิดหนึ่งซึ่งทะลุผ่านทุกอย่าง ยกเว้นวัตถุที่หนาแน่น หากฉายรังสีนี้ผ่านวัตถุชิ้นหนึ่งไปยังแผ่นรับภาพ ก็จะปรากฏเป็นเงาส่วนที่หนาแน่นในวัตถุนั้นๆ
หลังทดลองกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เรินท์เก็นก็พบว่ารังสีดังกล่าว ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “รังสีเอ็กซ์” (x-ray โดย “เอ็กซ์” ใช้แทนสิ่งที่ยังไม่รู้จัก) สามารถทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้ ทว่าก็ฉายภาพเงาของกระดูกได้เช่นกัน และเป็นเงากระดูกที่เห็นได้ชัดเจน
การค้นพบรังสีเอ็กซ์เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และวงการอื่นๆ และด้วยการค้นพบรังสีเอ็กซ์นี้เอง ทำให้เรินท์เก็นได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 1901
ค.ศ. 1896 การแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เกิดขึ้นเมื่อ 700 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช และน่าจะยุติการแข่งขันไปในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5
กระทั่ง ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง (Pierre de Coubertin) ขุนนางชาวฝรั่งเศส ได้ค้นคว้าอารยธรรมโบราณและได้ศึกษากีฬายุคโบราณ จึงตั้งใจรื้อฟื้นการแข่งขันโอลิมปิกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเสนอแนวคิดนี้ในปี 1892 ขณะไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ปีถัดมา เขาจัดการประชุมนานาชาติด้านการกีฬาที่มหาวิทยาลัยเดิม มีตัวแทนจาก 13 ประเทศเข้าร่วมการประชุม และมีอีก 21 ประเทศที่ให้การสนับสนุน
กระทั่งปี 1896 ความพยายามของคูเบอร์แตงก็ประสบความสำเร็จ มีการจัดตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) และจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
อ่านเพิ่มเติม :
- 14 ปี “สมเด็จพระนเรศวร” ทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?
- 27 ปี รัชกาลที่ 3 ครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?
- 3 เหตุการณ์สำคัญ ยุค “แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” เรืองอำนาจ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?
- มรณกรรมของ “โกรสกือแร็ง” ฟางเส้นสุดท้ายสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.
Raikar, Sanat Pai. “Trans-Siberian Railroad”. Encyclopedia Britannica, 15 Jan. 2025, https://www.britannica.com/topic/Trans-Siberian-Railroad. Accessed 14 March 2025.
จิรกิตติ์ จันทร์รักษา. กฎหมายระหว่างประเทศกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ค.ศ. 1868-1912: กรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันการเมืองภายในประเทศและการปรับเปลี่ยนแนวทางทางการทูตของญี่ปุ่น. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2568