14 ปี “สมเด็จพระนเรศวร” ทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

สำนักงานใหญ่ EIC อีสต์อินเดียตะวันออก 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์
สำนักงานใหญ่ของ EIC ที่อังกฤษ (ภาพวาดสีน้ำ โดย Thomas Malton the Younger ใน Wikimedia Commons)

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงครองราชย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2148 (ค.ศ. 1605) แล้วตลอดระยะเวลา 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก? เราขอหยิบยก 5 เหตุการณ์สำคัญมานำเสนอ

(เหตุการณ์สำคัญบนโลก ที่เกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเจ้าตาก และรัชกาลที่ 1 มีอะไรบ้าง? ติดตามได้ด้านล่างบทความนี้)

5 เหตุการณ์สำคัญในโลก ช่วง 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์

ปี 1591 กองทัพโมร็อกโกพิชิตจักรวรรดิซองไฮ ในยุทธการที่โทนดิบิ จักรวรรดิซองไฮเป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ด้านการค้าช่วงศตวรรษที่ 15-16 ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศมาลี

ปลายศตวรรษที่ 16 กองทัพโมร็อกโกใช้อาวุธปืนเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญในการรุกจักรวรรดิซองไฮ และเป็นฝ่ายมีชัยในยุทธการที่โทนดิบิ ต่อด้วยทิมบักตู และเกา

จักรวรรดิซองไฮตอบโต้กองทัพโมร็อกโกด้วยการรบแบบกองโจร แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ ท้ายสุดความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและการปกครองก็ตกอยู่ในมือของโมร็อกโก

พระเจ้าอ็องรีที่ 4 กษัตริย์ฝรั่งเศส 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์
พระเจ้าอ็องรีที่ 4 ในฉลองพระองค์บรมราชาภิเษก (ภาพวาดโดย Frans Pourbus the Younger ใน Wikimedia Commons)

ปี 1594 พระเจ้าอ็องรีผู้ทรงธรรม พระเจ้าอ็องรีที่ 4 ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรนาวาร์ (ในพระนาม พระเจ้าอ็องรีที่ 3) ระหว่างปี 1572-1589 ต่อมาทรงเป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในปี 1589 โดยทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกจากราชวงศ์บูร์บงที่ได้ปกครองฝรั่งเศส

พระองค์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ แต่เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส ที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาขึ้น ท้ายสุดพระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิก เรื่องราวจึงสงบลง

พระเจ้าอ็องรีที่ 4 ทรงได้รับการขนานพระนามว่า “พระเจ้าอ็องรีผู้ทรงธรรม” รวมทั้ง “พระเจ้าอ็องรีผู้ยิ่งใหญ่” เพราะทรงทำให้พลเมืองฝรั่งเศสมีความเป็นอยู่ที่ดี

พระองค์สวรรคตจากเหตุลอบปลงพระชนม์ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1610 โดยชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกหัวรุนแรง

โรงละครโกลบ อังกฤษ เชกสเปียร์ 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์
ภาพสเก็ตช์โรงละครโกลบแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นในปี 1614 (ภาพสเก็ตช์โดย Wenceslaus Hollar ใน Wikimedia Commons)

ปี 1599 เชกสเปียร์ ณ โรงละครโกลบ โรงละครแห่งนี้สร้างขึ้นในกรุงลอนดอน ข้างแม่น้ำเทมส์ฝั่งตะวันตก เพื่อเป็นที่จัดแสดงของคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน ซึ่งมีวิลเลียม เชกสเปียร์ (กวี นักเขียนบทละคร และนักแสดง) เป็นหนึ่งในสมาชิก บทละครเรื่อง เฮนรีที่ 5 ของเขา น่าจะเป็นละครเรื่องแรกที่จัดแสดงในโรงละครแห่งนี้ โรงละครโกลบเปิดแสดงได้ราว 14 ปี ก็ถูกเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปี 1613 แต่ก็มีการสร้างโรงละครโกลบขึ้นใหม่ในเดือนมิถุนายน ปี 1614

ความที่เข้าถึงได้ทั้งชนชั้นนำผู้รู้หนังสือและสามัญชน บรรดาโรงละครในกรุงลอนดอนจึงเป็นศูนย์กลางของกระแสวัฒนธรรมที่เรียกขานกันว่า การฟื้นฟูศิลปวิทยาการของอังกฤษ

ปี 1600 ชัยชนะของโทกุงาวะที่เซกิงาฮาระ เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วง 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์

หลังจากโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น เสียชีวิตในปี 1598 โทกุงาวะ อิเอยาสุ ซึ่งเป็นขุนพลคนสำคัญก็พยายามรวบอำนาจ แต่ถูกผู้สำเร็จราชการแทนบุตรชายของฮิเดโยชิ ที่ตอนนั้นมีอายุเพียง 5 ขวบ ขวางไว้

อิเอยาสุรวบรวมกำลังพลรบกับฝ่ายผู้สำเร็จราชการและขุนพลที่ยังภักดีกับฮิเดโยชิ ที่ “เซกิงาฮาระ” ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา แม้ช่วงแรกอิเอยาสุจะดูตกเป็นรอง แต่เกมพลิกเมื่อแม่ทัพคนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามหันมาเข้าข้างเขา การรบดำเนินไปอย่างเข้มข้น และท้ายสุดอิเอยาสุคือผู้ชนะ

ยุทธการเซกิงาฮาระ ที่สันนิษฐานว่ามีซามูไรเสียชีวิตถึง 30,000 นาย ทำให้อิเอยาสุทะยานขึ้นสู่ผู้นำสูงสุดของแว่นแคว้นทั้งหลาย และขึ้นเป็นโชกุนในปี 1603

อ่านเพิ่มเติม : “ยุทธการเซกิงาฮาระ” สมรภูมิชี้ขาด “อิเอยาสุ” ครองอำนาจเหนือญี่ปุ่น

ปี 1600-1602 บริษัทอินเดียตะวันออกแข่งขันกัน ช่วงนั้นเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างชาติติดทะเลในยุโรป เพื่อกุมอำนาจเหนือการค้าเครื่องเทศและสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ จากภูมิภาคอินเดียตะวันออก (อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อันมากด้วยผลกำไร

แผนที่เมืองปัตตาเวีย หมู่เกาะอินเดียตะวันออก VOC ดัตช์ 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์
แผนที่เมืองปัตตาเวียในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ในศตวรรษที่ 17 ศูนย์กลางการค้าของ VOC (ภาพ: Wikimedia Commons)

ในปี 1600 กษัตริย์อังกฤษทรงอนุมัติให้กลุ่มพ่อค้ารวมตัวกันเป็นบริษัทอินเดียตะวันออก เรียกย่อๆ ว่า EIC โดยมีอำนาจผูกขาดการค้าในเอเชีย พอถึงปี 1602 เนเธอร์แลนด์ คู่แข่งทางการค้าของอังกฤษ ก็ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของตนเช่นกัน เรียกย่อๆ ว่า VOC

บริษัทซึ่งมุ่งแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงเหล่านี้มีกองกำลังทหารของตนเอง และกลายเป็นผู้เล่นหลักในการสร้างจักรวรรดิให้กับประเทศของตน ผ่านการกำกับควบคุมอาณาบริเวณในเอเชีย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งบนโลกนี้ จึงไม่ได้ตัดขาดจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับบริษัทการค้าต่างชาติ ทั้ง EIC และ VOC หลังจากยุค 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.

Britannica, The Editors of Encyclopaedia. “Songhai empire”. Encyclopedia Britannica, 18 Sep. 2024, https://www.britannica.com/place/Songhai-empire. Accessed 22 October 2024.

Ritter, Raymond and Tapié, Victor-Lucien. “Henry IV”. Encyclopedia Britannica, 21 Jun. 2024, https://www.britannica.com/biography/Henry-IV-king-of-France. Accessed 22 October 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2567