3 เหตุการณ์สำคัญ ยุค “แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” เรืองอำนาจ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกในสมัยอยุธยา ในละคร เรื่อง แม่หยัว แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ
ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ ในละครเรื่อง แม่หยัว (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : ช่อง one31)

แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์, แม่หยัวศรีสุดาจันทร์, ท้าวศรีสุดาจันทร์ ไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นชื่อตำแหน่งชายา (บ้างว่าเป็นตำแหน่งสนมเอก) ของ สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089/ค.ศ. 1534-1546) พระนางน่าจะมีความสำคัญไม่น้อย เพราะให้กำเนิดพระราชโอรสถึง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระยอดฟ้า และ พระศรีศิลป์

ซึ่งหลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระยอดฟ้าขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ โดยมีพระนางเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ต่อมาได้คบคิดกับ ขุนวรวงศาธิราช ปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้า และให้ขุนวรวงศาธิราชสืบราชสมบัติ โดยมีพระนางเป็นมเหสี แต่ก็เพียง 40 กว่าวันเท่านั้น ก่อนทั้งสองจะถูกลอบปลงพระชนม์ใน พ.ศ. 2091 (ค.ศ. 1548)

Advertisement

แล้วช่วงที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

3 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก ยุคแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ

หนังสือ “Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก” (สำนักพิมพ์มติชน) ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์โลกในศตวรรษนั้นไว้ว่า

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ
พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (ภาพ : Wikimedia Commons)

ค.ศ. 1534 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ทรงแตกหักกับกรุงโรม

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ กริ้วที่พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ทรงปฏิเสธที่จะทำให้การสมรสระหว่างพระองค์กับแคเธอรีนแห่งอารากอนเป็นโมฆะ เพราะพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะอภิเษกสมรสกับ “แอนน์ โบลีน” ท้ายสุดพระองค์ทรงประกาศตนเป็นประมุขแห่งคริสตจักรอังกฤษ พร้อมทั้งปฏิเสธอำนาจของพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม

หลายปีหลังจากนั้น มีการปิดอารามหลายแห่ง มีการยึดที่ดินโบสถ์มาเป็นของกษัตริย์ ผู้ต่อต้านพระองค์เรื่องการปฏิรูปศาสนาล้วนถูกประหารชีวิต

ค.ศ. 1543 โคเปอร์นิคัส เสนอทฤษฎี “ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางระบบสุริยะ”

นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ สั่นสะเทือนอำนาจศาสนจักร ด้วยการเสนอว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล แต่โลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ล้วนหมุนรอบดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์บางส่วนยอมรับทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส แต่ศาสนจักรต่อต้าน และเห็นว่าเป็นพวกนอกรีต

เรือโปรตุเกส แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ
ภาพวาดเรือคาร์แร็คของโปรตุเกสที่เข้ามาทำการค้ากับญี่ปุ่น (ภาพ : Wikimedia Commons)

ค.ศ. 1543 อิทธิพลโปรตุเกสในญี่ปุ่น

นักเดินเรือชาวยุโรปกลุ่มแรกๆ ที่ไปถึงญี่ปุ่นคือพ่อค้าชาวโปรตุเกส ซึ่งล่องเรือรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงหมู่เกาะแห่งนี้ในปี 1543 และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะนำสินค้าจากจีนไปขาย สาเหตุเพราะยุคนั้นบรรดาจักรพรรดิราชวงศ์หมิงของจีนสั่งห้ามค้าขายกับญี่ปุ่นโดยตรง พ่อค้าชาวโปรตุเกสจึงเห็นช่องทางทำเงินในฐานะคนกลาง

ชาวโปรตุเกสยังนำวิทยาการใหม่ๆ เข้าไปยังญี่ปุ่น อย่าง อาวุธปืน ที่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการผลิตขึ้นเองได้ในญี่ปุ่น ซึ่งวิทยาการนี้ได้พลิกโฉมหน้ากลยุทธ์การรบของเหล่าซามูไรเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ มิชชันนารีเยซูอิตซึ่งมาถึงตั้งแต่ปี 1549 ก็โน้มน้าวให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนศาสนาได้หลายพันคน (ถ้าใครเป็นสายซีรีส์แนวอิงประวัติศาสตร์ ในเรื่อง FX’s Shōgun (2024) หนึ่งในตัวเอกก็เป็นชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์)

ทว่าต้นศตวรรษที่ 17 ก็มีการปราบปรามศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลโทกุงาวะเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตนเอง

จักรพรรดิบาบูร์ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ
จักรพรรดิบาบูร์ (ภาพ : Wikimedia Commons)

ทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้น อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ แต่เราก็อยากนำเสนออีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ค.ศ. 1526 มีการสถาปนาจักรวรรดิโมกุล

จักรพรรดิบาบูร์ นักรบชาวมุสลิมที่สืบเชื้อสายจากเจงกิส ข่าน เข้ารุกรานอินเดียจากทางอัฟกานิสถาน และมีชัยเหนือสุลต่านแห่งเดลีในยุทธการที่ปานิพัท ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1526 หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงขยายขอบเขตการปกครองไปถึงอินเดียตอนเหนือเกือบทั้งหมด พร้อมทั้งสถาปนาจักรวรรดิโมกุลให้มั่นคง

เพราะเหตุการณ์หลายอย่างบนโลกไม่ได้เกิดขึ้นโดยขาดการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ การรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นความเป็นไปของโลกนี้ได้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์จากเว็บไซต์ สนพ. มติชน ได้ที่นี่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2567