“กล้วย” ผลไม้ที่คนไทยชอบกิน เมื่อ 100 กว่าปีก่อนมีกล้วยอะไรบ้าง?

กล้วย ผลไม้ที่คนไทยชอบกิน
กล้วย (ภาพ : Pixabay)

“กล้วย” เป็นหนึ่งในผลไม้ที่คนไทยชอบกิน ปลูกกันมาตั้งแต่โบราณ มาปรากฏหลักฐานชัดเจนในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเป็นบันทึกของ “ลา ลูแบร์” ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่ากรุงศรีฯ นั้นมี “บะนานา” แต่ก็ไม่ได้เล่าถึงสายพันธุ์ของกล้วยไว้เท่าใดนัก จะมีบันทึกไว้ค่อนข้างละเอียดก็สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วกล้วยยุคนั้นมีกล้วยอะไรบ้าง?

กล้วย ผลไม้ที่คนไทยชอบกิน จดหมายเหตุลาลูแบร์
ภาพวาด “กล้วย” ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก TK Park อุทยานการเรียนรู้)

“กล้วย” ผลไม้ที่คนไทยชอบกิน

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) บันทึกเรื่องกล้วยๆ ไว้ใน พรรณพฤกษาและสัตวาภิธาน สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นราว พ.ศ. 2427 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อให้กุลบุตรกุลธิดาสมัยนั้นได้ศึกษาหาความรู้ และใช้เป็นแบบเรียนฝึกฝนการอ่าน

เนื้อเรื่องในพรรณพฤกษาและสัตวาภิธาน พรรณนาถึงชื่อต้นไม้และชื่อสัตว์ต่างๆ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหารได้รวบรวมชื่อต้นไม้และชื่อสัตว์ไว้เป็นจำนวนมาก นับเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่มีคุณค่าทั้งในเชิงอักษรศาสตร์ พฤกษศาสตร์ และสัตวศาสตร์

ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องกล้วย พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 มีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียนบทความ เพื่อความสะดวกในการอ่าน)

“กล้วยกล้วยมีหลายกระบวน กล้วยกรันจันนวล อีกน้ำละว้าน้ำไทย กล้วยน้ำกาบดำก้านใบ คล้ายกับน้ำไทย ผลใหญ่แลยาวกว่ากัน กล้วยกุเรียกกล้วยสั้นผัน เพี้ยนนามจำนัน จะหนีที่คำหยาบคาย ตีนเต่าตีนตานีกลาย กล้วยน้ำเชียงราย กล้วยส้มหากมุกมูลมี

กล้วย ผลไม้ที่คนไทยชอบกิน
กล้วย (ภาพ : Rodrigo dos Reis on Unsplash)

กล้วยน้ำนมราชสีห์ อีกกล้วยร้อยหวี บายสีก็เรียกนามสอง หอมเขียวกล้วยค่อมหอมทอง หอมจันนวลลออง อีกกล้วยที่เรียกว่าเปลือกบาง นี่คือกล้วยไข่คำกลาง ท่านจัดแบบวาง กล้วยกระกล้วยพระก็มี

กล้วยครั่งดุจครั่งย้อมสี แดงจัดรุจี ทั้งหวีทั้งเครือเจือแดง กล้วยนากเพียงนากเปล่งแสง กล้วยกรามแรดแดง หนึ่งนามว่ากรามคชสาร กล้วยสีสะโตโวหาร เรียกแต่โบราณ อีกกล้วยประจำพานร หนึ่งเล็บมือนางนามกร ตีบหอมขจร บางเรียกว่ากล้วยกรบูร

นางเงยสีงามจำรุญ กินดิบมีมูล ภิมเสนแลสมนมสวรรค์ หอมว้าตานีอารัญ อุบลปนกัน กับตาลปัตรฤาษี กล้วยแข้หนึ่งเรียกกัทลี กาบกมักมี ข้างแดนละว้าป่าไกล มลิอ่องผิวแองอำไพ นางนวนยวลใจ กล้วยไร่กะเหรี่ยงเรียกนาม พรรณกล้วยมีหลากมากตาม ประเทศเขตคาม นิคมแลเขตดงดอน เหลือที่จะร่ำนามะกร ลัดบทลดทอน แต่ที่รู้แจ้งแห่งนาม ฯ”

กล้วยหลายชนิดในพรรณพฤกษาและสัตวาภิธาน อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นลิ้นคนยุคนี้เท่าไหร่แล้ว ถึงอย่างนั้นก็เป็นหลักฐานชั้นดีถึงการมีอยู่ของ “กล้วย” หลากหลายสายพันธุ์ในเมืองไทยสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร). พรรณพฤกษาและสัตวาภิธาน ใน, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนสำรวจมาตรากิจ (สังวร ภัทโรดม) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2512.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2568