
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา” เป็นพระนามในรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งที่ยังไม่ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อพระองค์เสวยพระราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ทรงได้พระปรมาภิไธยใหม่ คือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

บทความนี้จะพาทุกคนมาถอดความหมายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทั้งยังเผย “พระปรมาภิไธยเต็ม” ของพระองค์เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้ว
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา” คำว่า “ประชาธิปกศักดิเดชน์” มีความหมายในทางบาลี อ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แบ่งออกได้ดังนี้
ประชาธิปก (ปชา+อธิปก) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน หรือ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน
ประชา หมายถึง หมู่คน
อธิปก มาจากคำว่า อธิ+ปติ+ก หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ
ด้าน ศักดิเดชน์ (สตฺติ+เตชน = สตฺติเตชน) แปลว่า ลูกศรอันทรงอำนาจ
ศักดิ์ คือ อำนาจ ความสามารถ
เดชน์ มาจากคำบาลี คือ เตชน หมายถึงลูกศรหรือปลายลูกศร
ส่วนกรมขุนศุโขไทย เป็นทรงกรมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับอิทธิพลมาจากการเฉลิมพระยศตั้งพระนามกรมแบบต่างประเทศ ซึ่งจะใช้เมืองสำคัญของอาณาจักรต่อท้ายพระนาม โดย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงได้รับทรงกรมว่า “กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448

กระทั่งพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์และเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงทรงได้ “พระปรมาภิไธยใหม่” จารึกไว้ใน “พระสุพรรณบัฏ” คือ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” แต่ที่จริงแล้วในพระสุพรรณบัฏกลับมีพระนามเต็มที่ยาวกว่านั้น นั่นคือ
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสำศุทธเคราหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูล มหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิษอุต์กฤษนิบุญ อดุลยกฤษฏาภินีร์หาร บูรพาธิการสุสาธิตธันยลักษณวิจิตรเสาภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ มงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ วิชัยยุทธศาสตรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญานประดิภาณสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฐโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์ สรรพทศทิควิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ วิศิษฏศักตอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุนยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ด้วยพระปรมาภิไธยที่ยาวมาก จึงทำให้เกิดพระปรมาภิไธยอย่างมัธยม เพื่อสะดวกนำไปใช้ในพระราชาพิธีอื่น ๆ ว่า “สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี พระปกเกล้าเจ้าแผ่นดิน” รวมถึง พระปรมาภิไธยอย่างสังเขป อย่าง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยที่ยกมาแต่พระนามจริงและพระนามแผ่นดินเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “รัชกาลที่ 7” กับประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในสยาม สมัยทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
- เปิด “พระกระยาหาร” หลังรัชกาลที่ 7 เสด็จประทับต่างประเทศ เสวยอะไรบ้าง?
- พระราชกิจประจำวัน รัชกาลที่ 7 เมื่อแรกเสวยราชย์ มีอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://library.stou.ac.th/2023/11/prajadhipok-names/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2568