มะเร็งคืออะไร มาจากไหน? ประวัติศาสตร์ (ฉบับย่อ) ของจักรพรรดิแห่งโรคร้าย

เซลล์มะเร็ง โรคมะเร็ง
ภาพประกอบเนื้อหา - เซลล์ในร่างกายมนุษย์ การเกิดโรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติระดับเซลล์ที่เติบโตอย่างไม่อาจหยุดยั้ง (ภาพโดย National Cancer Institute ใน Unsplash)

โรคมะเร็ง (Cancer) หรือเนื้องอกร้าย (Malignant tumors) เป็นโรคที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์โดยไม่สามารถยับยั้งได้ ภาวะดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติและความเปลี่ยนแปลงในระดับดีเอ็นเอ (DNA) ส่งผลต่อยีนที่กระตุ้นให้เซลล์เติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัดในเซลล์ปกติ

มะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อ แต่บางชนิดอาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และปัจจุบันยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย อย่างไรก็ตาม มะเร็งไม่ใช่โรคสมัยใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะมีบันทึกร่องรอยของโรคนี้อยู่ในเอกสารโบราณหลายชิ้นด้วยกัน

มะเร็งอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ?

แรกพบ “จักรพรรดิแห่งโรคร้าย”

กระดาษพาไพรัสโบราณที่เชื่อว่าคัดลอกจากฉบับจริง ซึ่งมีอยู่เมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏคำสอนของ อิมโฮเทป (Imhotep) แพทย์ชาวอียิปต์ที่มีอายุอยู่เมื่อปี 2,625 ก่อนคริสตกาล เล่าถึงมะเร็งในฐานะโรคภัยไข้เจ็บยุคนั้นว่า

“ถ้าเจ้าตรวจ (คนไข้) พบก้อนเนื้อนูนบนทรวงอกและพบว่ามันแพร่กระจายไปทั่วทรวงอก ไม่ปล่อยของเหลวออกมา แต่จับรู้สึกว่ามีโหนกนูนยื่นออกมา เจ้าควรบอกคนไข้ว่า ‘นี่เป็นก้อนที่งอกออกมาที่ข้าต้องจัดการ…’

แน่นอนว่าเคสดังกล่าวคือมะเร็งเต้านม และในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของบันทึกมีการอธิบายถึงการบำบัดรักษา ตั้งแต่ใช้ยาบรรเทา พอกแผล แต่เคส ก้อนเนื้อนูนบนทรวงอก อิมโฮเทปกลับเงียบผิดปกติ และระบุในหัวข้อ “การรักษา” เพียงสั้น ๆ ว่า ไม่มี

สวดอ้อนวอน อิมโฮเทบ เทพเจ้าแห่งการแพทย์ อียิปต์
การสวดอ้อนวอนต่ออิมโฮเทบ เทพเจ้าแห่งการแพทย์ของอียิปต์ (ภาพจาก Wellcome Collection / สิทธิการใช้งาน CC BY 4.0)

วรรณกรรม Histories ของเฮโรโดตุส เมื่อ 440 ปี ก่อนคริสตกาล ก็บันทึกเรื่องราวของ อโทสซ่า (Atossa) มเหสีของจักรพรรดิดาริอุส ราชินีแห่งเปอร์ พระนางล้มป่วยด้วยอาการแปลกประหลาด และสังเกตเห็นก้อนเนื้อมีเลือดออกในทรวงอก อาการดังกล่าวอาจเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่เรียกว่า มะเร็งเต้านมอักเสบ ซึ่งเซลล์มะเร็งรุกรานเข้าไปถึงต่อมน้ำเหลืองในทรวงอก ทำให้เกิดก้อนบวมแดง

แพทย์ชาวกรีกโน้มน้าวให้พระนางตัดเนื้องอกออก แต่หลังการผ่าตัด อโทสซ่าก็หายไปจากบันทึกของเฮโรโดตุสอย่างลึกลับ

มะเร็งจึงหายไปจากประวัติศาสตร์การแพทย์ ขณะที่โรคร้ายอื่น ๆ เผยตัวตนอย่างอหังการ ไข้ทรพิษทิ้งแผลไว้บนพระพักตร์ของพระเจ้ารามเซสที่ 5 แห่งอียิปต์ เมื่อ 1,200 ปีก่อนคริสตกาล กาฬโรคกลืนกินประชากรยุโรปไปถึง 1 ใน 3 ในยุคกลาง และเขย่ารัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนพระเจ้าอู่ทองต้องพาผู้คนมาสร้างกรุงศรีอยุธยาบริเวณหนองโสน

ส่วนมะเร็งเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และแทบไม่ทิ้งร่องรอยไว้ในวรรณกรรมหรือบันทึกทางการแพทย์เลย

บางทีสิ่งที่ทำให้มะเร็งมีตัวตนอย่างเลือนลางในประวัติศาสตร์มนุษย์ เพราะการเกิดขึ้นของมันเกี่ยวเนื่องกับ “อายุ” เราจะพบว่า ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 ต่อ 400 ในหญิงอายุ 30 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 9 ในหญิงอายุ 70 ปี

ขณะที่มนุษย์ทุกผู้นามไม่ว่าชายหรือหญิงล้มป่วยและเสียชีวิตเพราะวัณโรค อหิวาห์ ไข้ทรพิษ โรคเรื้อ และกาฬโรค มะเร็งอาจซ่อนตัวท่ามกลางโรคเหล่านั้น ก่อนจะมาเผยตนเมื่อโรคร้ายในอดีตถูกวิทยาการสมัยใหม่กำจัดไป

คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า การยืดชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาวนี่แหละที่เผยโฉมหน้าของมะเร็ง

เมื่อโลกทำความรู้จัก “โรคมะเร็ง”

ความรู้เรื่องมะเร็งเพิ่งก้าวกระโดดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อ รูดอล์ฟ เฟียร์โชว์ (Rudolf Vichow, ค.ศ. 1821-1902) นักวิจัยชาวเยอรมันในวัย 24 ปี พบสิ่งผิดปกติบางอย่างในคนไข้ของเขา เธอเป็นหญิงวัยกลางคนที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวเติบโตอย่างผิดปกติในเลือด ทำให้เกิดของเหลวในม้ามที่ก่อตัวหนาจนคล้ายเนื้อเยื่อ เฟียร์โชว์เรียกมันว่า “เลือดขาว” เพื่อบรรยายถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมหาศาลที่เขาเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์

ในปี 1847 เขาเปลี่ยนชื่อให้ฟังดูเป็นวิชาการมากขึ้นว่า “ลูคีเมีย” จากรากศัพท์ในภาษากรีกว่า ลูคอส (สีขาว)

หลังจากนั้น เฟียร์โชว์มุ่งมั่นกับการศึกษาเซลล์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ ในยุคที่ความเชื่อเรื่องโรคต่าง ๆ มีสาเหตุจากอำนาจลึกลับยังเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย เขานำความรู้เรื่อง “ทฤษฎีเซลล์” มาต่อยอดจากหลักอันเรียบง่ายว่า ธรรมชาติของการเติบโตของมนุษย์มาจาก “การขยายตัว” และ “เพิ่มจำนวน” ของเซลล์ นั่นทำให้เขาพบอาการของโรคที่เกิดการเพิ่มจำนวนของเซลล์อย่างผิดปกติ ซึ่งรุนแรงและไม่อาจยับยั้งราวกับมีชีวิตของมันเอง

เขาเรียกการเติบโตลักษณะข้างต้นว่า นีโอพลาเซีย (neoplasia) และพยายามอธิบายมันอย่างลึกซึ้งก่อนจะลาโลกไปเมื่อปี 1902 งานและข้อสังเกตของเขาทำให้ทฤษฎีเกี่ยวกับโรคมะเร็งเติบโตอย่างมาก

รูดอล์ฟ เฟียร์โชว์ บิดาแห่งพยาธิวิทยาเซลล์
รูดอล์ฟ เฟียร์โชว์ บิดาแห่งพยาธิวิทยาเซลล์ (ภาพจาก National Library of Medicine)

เรารู้อะไรเกี่ยวกับจักรพรรดิแห่งโรคร้ายบ้าง?

การศึกษาหลังจากนั้นได้ปูทางไปสู่ความเข้าใจว่า มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ผิดปกติ แบ่งตัวตามใจชอบ ไร้การควบคุม และผิดวิสัย เกิดการสร้างเนื้อเยื้อปริมาณมากเรียกว่า “เนื้องอก” ที่ไปรุกรานอวัยวะและทำลายเนื้อเยื่อปกติ มันยังสามารถแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ เกิดภาวะเนื้อร้ายแพร่กระจาย (metastases) ไปผุดขึ้นในที่ที่ห่างออกไป เช่น กระดูก สมอง หรือปอด

แม้มะเร็งจะมีหลายชนิด ตั้งแต่มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่โรคเหล่านี้มีความคล้ายคลึงขั้นพื้นฐานระดับเซลล์ในทุกกรณีเหมือนกัน นั่นคือ การแบ่งเซลล์ผิดปกติอย่างไม่อาจหยุดยั้ง

โดยปกติ วงจรทางพันธุกรรมจะควบคุมการแบ่งตัวและการตายของเซลล์ แต่ในเซลล์ที่เป็นมะเร็ง วงจรเหล่านี้แตกสลายลง ทำให้เกิดเซลล์ที่ไม่สามารถหยุดการเจริญเติบโตได้

กลไกง่าย ๆ จากการเติบโตของเซลล์อย่างไม่มีขีดจำกัดเป็นหัวใจของโรคนี้ และเป็นสิ่งพิสูจน์พลังอันมหาศาลของการเติบโตของเซลล์ เพราะการแบ่งเซลล์ทำให้สิ่งมีชีวิตเติบโต ปรับเปลี่ยน ฟื้นตัว และซ่อมแซม อีกนัยหนึ่งคือสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อเซลล์บิดเบือนจนเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง การเติบโตทำให้มันมีชีวิตอยู่และคร่าชีวิตของเราแทน

เพราะเซลล์มะเร็งสามารถโตและปรับตัวได้เร็วกว่า “มันคือตัวเราเองที่สมบูรณ์แบบกว่า”

การปราบมะเร็งจึงอยู่ที่การหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ในเซลล์ที่มีความอ่อนไหว รู้สึกไว เรียกว่า “เซลล์ไวรับ” (susceptible cells) หรือหาวิธีกำจัดเซลล์กลายพันธุ์ โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตปกติ

แต่ข้อความสั้นกระชับข้างต้น ทำให้เราเข้าใจภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ผิด

เพราะมะเร็งและการเติบโตปกติเกี่ยวพันกับพันธุกรรมมากจนทำให้เราแก้ปม 2 สิ่งนี้ออกจากกันแทบไม่ได้ และเป็นความท้าทายทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ

มะเร็งถูกสร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของจีโนม (genome-ข้อมูลทางพันธุกรรม) ของเรา กล่าวคือ ยีนที่ปลดปล่อยการแบ่งเซลล์ผิดปกติไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในร่างกายของเราด้วยซ้ำ แต่เป็นการกลายพันธุ์ของยีนที่ทำหน้าที่สำคัญในเซลล์ โดยมีสาเหตุอื่น ๆ จากพฤติกรรมทางสุขภาพมาส่งเสริม

ดังนั้น มะเร็งจะยังตราตรึงอยู่ในสังคมมนุษย์ เมื่อช่วงชีวิตของเรายืนยาวขึ้น เท่ากับปลดปล่อยการเติบโตของมะเร็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งสะสมเพิ่มขึ้นตามอายุ เป็นความสัมพันธ์ที่ “เป็นหนึ่งเดียว” กับความแก่ชรา

ขณะที่เราแสวงหาความเป็นอมตะ ทูตมรณะอย่างเซลล์มะเร็งก็เพรียกหามันเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สิทธัตถะ มุกเคอร์จี ; สุนันทา วรรณสินธ์ แปล. (2556). จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง. กรุงเทพฯ : มติชน.

หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง. 20 มกราคม 2552. จาก http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=31&typeID=18


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2568