อีสุกอีใส-เริม โรคระบาดที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับมนุษย์ยุคหิน

การล่าสัตว์ของมนุษย์ยุคหินรวมถึงแมมมอธ (ภาพจาก The world: historical and actual)

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ได้สร้างผลกระทบทั่วโลกออกไปเป็นวงกว้างทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้มนุษย์ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดจากโรคระบาด หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ จะพบว่ามนุษย์ต้องเผชิญกับโรคระบาดมาโดยตลอด รวมไปถึงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อย่างมนุษย์ยุคหินด้วย โดยหนังสือ COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ ของ นำชัย ชีววิวรรธน์ (มติชน, 2563) ได้อธิบายโรคติดต่อของมนุษย์ยุคหิน ไว้ดังนี้


โรคติดต่อของมนุษย์ยุคหิน

โครงสร้างของสังคมมนุษย์ในยุคหินต้นๆ คือ ราว 5-7 แสนปีก่อนเชื่อกันว่าเป็นสังคมแบบกลุ่มขนาดเล็กที่ร่อนเร่พเนจรล่าสัตว์และหาของป่าในเขตทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่เหมาะกับการแพร่กระจายเชื้อโรคติดต่อร้ายแรง เพราะหากเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้สมาชิกในกลุ่มเสียชีวิตหมด ทำให้โรคนั้นไม่สามารถแพร่กระจายต่อไปอีกได้

ดังนั้น โรคติดต่อร้ายแรง เช่น โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และโรคหัดเยอรมันหรือเหือด (Measles) จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักกับมนุษย์ยุคหิน แต่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมากในช่วงที่มีการลงหลักปักฐานอยู่กันเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ และมีความหนาแน่นของประชากรสูงมากขึ้นแล้ว

ในทางตรงกันข้าม โรคติดต่อที่มีระยะฟักตัวนาน หรือมีความรุนแรงไม่สูงมากนัก เช่น โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) และโรคเริม (Herpes Simplex) ที่เกิดจากไวรัส ก็อาจจะเป็นโรคที่ทำความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับมนุษย์ยุคหินมานานมากกว่า

มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เชื้อโรคบางอย่างซึ่งมีวิธีการส่งผ่านไปยังสัตว์ชนิดต่างๆ และความรุนแรงในการก่อโรคที่เข้าคู่ได้กับรูปแบบสังคมและการใช้ชีวิตของมนุษย์โบราณก็อาจจะมี “วิวัฒนาการร่วมกัน” กับมนุษย์มาอย่างยาวนานนับแสนปี

ตัวอย่างของปรสิตที่นักวิทยาศาสตร์พบอยู่กับมนุษย์ยุคหินก็เช่นพยาธิเข็มหมุดชนิด เอ็นเทอโรเบียส เวอร์มิคูลาลิส (Enterobius Vermicularis) ซึ่งยังคงก่อโรคอยู่ในมนุษย์ยุคปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าปรสิตดังกล่าวอาจเริ่มติดต่อในมนุษย์ เนื่องจากพฤติกรรมการเข้ากลุ่ม การใช้มือสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และการใช้มือสัมผัสกับปาก ปรสิตอีกสองชนิดในกลุ่มนี้ได้แก่ เหาชนิด เพดิคูลัส ฮิวเมนัส (Pediculus Humanus) และเชื้อ แซลโมเนลลา (Salmonella) ที่เป็นต้นเหตุของโรคในระบบทางเดินอาหาร

เชื้อโรคต่างๆ ที่เอ่ยมาแล้วนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกขานกันว่าเป็น “สปีชีส์มรดก” (Heirloom Species) ที่มนุษย์ได้รับถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษที่เกิดมาก่อนหน้า

สปีชีส์มรดกอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งต่างจากสปีชีส์มรดกในกลุ่มแรก เพราะอาจไม่ได้อาศัยในร่างกายมนุษย์อย่างยาวนาน แต่เชื้อโรคกลุ่มนี้มนุษย์ยุคหินอาจบังเอิญได้รับมาผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเก็บ การจัดเตรียมหรือกินอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสดๆ แมลง เนื้อ และปลา

สำหรับเชื้อโรคต่างๆ ในกลุ่มหลังนี้เรียกกันว่าเป็น “พยาธิของกำนัล” (Souvenir Parasites)

ตัวอย่างของพยาธิของกำนัลได่แก่ โรคหลับ (Sleeping Sickness) ที่เกิดจากเชื้อทริพาโนโซม (Trypanosome) ซึ่งอาศัยแมลงวันเซทซี (Tsetse Fly) โรคนี้อาจจะหันมาเล่นงานมนุษย์ เนื่องจากสัตว์ที่เป็นเหยื่อหรือสัตว์เป้าหมายเดิมโดนมนุษย์ล่าจนมีจำนวนลดน้อยลงไป

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อในสมมติฐานดังกล่าวก็คือ มนุษย์ปัจจุบันไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ ซึ่งแสดงว่าโรคนี้น่าจะไม่ได้มี วิวัฒนาการร่วม (Coevolution) มากับมนุษย์อย่างยาวนาน เหตุผลนี้ยังสามารถใช้รองรับกับโรคอื่นอีกหลายชนิด

ในทางตรงกันข้าม เมื่อมนุษย์ยุคหินบุกเบิกเข้าไปสู่ดินแดนเขตอบอุ่น ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากความฝืดเคืองของแหล่งอาหารเดิมในเขตร้อน แต่โดยธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเป็นอย่างมากระหว่างปี ดินแดนหรือพื้นที่ในเขตอบอุ่นและเขตหนาวก็มักจะมีเชื้อโรคน้อยกว่าในเขตร้อนอยู่แล้วตามธรรมชาติ

และแม้ว่าในขบวนของนักบุกเบิกเหล่านี้อาจจะมีคนที่เป็น “พาหะ” (Carrier) ของโรคบางอย่างที่ติดตามไปในขบวนด้วย แต่หากที่อยู่อาศัยใหม่ไม่มีสัตว์อื่นที่เป็นพาหนะของโรคได้ (โรคหลายชนิดต้องการพาหะนำโรคชนิดอื่นๆ ในวงจรชีวิตด้วยนอกเหนือจากมนุษย์ เช่น โรคมาลาเรียต้องการยุง ซึ่งมีวงจรชีวิตที่เกิดและเติบโตได้ไม่ดีนักในเขตอบอุ่นและเขตหนาว)

ผลลัพธ์ก็คือ โรคเหล่านั้นอาจจะลดลงหรือหมดไปได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลข้างต้นอาจอนุมานได้ว่าในยุคแรกๆ ของอารยธรรมมนุษย์นั้น ปัจจัยสำคัญๆ ของการเป็นโรคติดเชื้อจึงขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมของมนุษย์เองเป็นหลัก แต่ส่วนหนึ่งอาจจะขึ้นกับสภาวะแวดล้อมของระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การที่จะพบโรคอุบัติใหม่หรือไม่พบ หรือพบมากมายหลายชนิดหรือพบน้อยชนิด ก็เนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งหมด ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี่เอง

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2565