เผยแพร่ |
---|
ก่อนหน้าที่มนุษย์จะรู้จักวิธีต่อสู้กับโรคร้ายหลากชนิด บางครั้งผู้ที่ค้นพบและศึกษาหาแนวทางมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็ต้องพบกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะด้วยรู้แต่แรก หรือไม่รู้มาก่อนก็ตาม พวกเขาต้องพบชะตากรรมในวาระสุดท้ายก่อนวัย และได้รับการยกย่องจากผู้คน ดังเช่นผลงานการค้นพบของมารี คูรี (Marie Curie) ผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ช่วยรักษามะเร็ง ซึ่งการทดลองและค้นหาธาตุชนิดนี้ทำให้สุขภาพของเธอทรุดโทรม ท้ายที่สุดก็เสียชีวิตด้วยลูคีเมีย
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เริ่มนำเสนอวิธีการรักษาโรคมากขึ้น เมื่อปี 1895 วิลเลียม สจวร์ต ฮัลสเตด (William Stewart Halsted) ศัลยแพทย์ผู้เป็นบุตรชายของพ่อค้าในนิวยอร์ก นำเสนอการผ่าตัดเต้านมแบบ “ถอนรากถอนโคน” แม้ว่าเขาไม่ได้คิดค้นการผ่าตัดแบบนี้ เขานำความคิดจากแพทย์ก่อนหน้านั้นมาใช้จนถึงจุดสูงสุด ภายหลังจากนั้นจึงเริ่มมีการรักษาด้วยเอ็กซ์เรย์
วิลเฮล์ม เรินต์เกน (Wilhelm Rontgen) อาจารย์สถาบันวูซเบิร์กในเยอรมนี ค้นพบเอ็กซ์เรย์ขณะกำลังศึกษาหลอดสุญญากาศที่ยิงอิเล็กตรอนจากขั้วไฟฟ้าหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง เขาสังเกตเห็นพลังงานที่รั่วไหลออกมา พลังงานนั้นทรงพลังและมองไม่เห็นด้วยตา มันทะลุผ่านกระดาษแข็งสีดำหลายชั้น และไปปรากฏเรืองแสงสีขาวบนจออาบแบเรียม (บังเอิญตั้งไว้บนม้านั่ง)
เมื่อเขาเรียกภรรยาของเขาเข้ามา และวางมือเธอบนจุดกำเนิดแสง และเพลต รังสีทะลุผ่านมือส่องให้เห็นโครงกระดูกนิ้วมือและแหวนแต่งงานเสมือนกายวิภาคภายในซึ่งมองผ่านเลนส์วิเศษ เขาเรียกแสงนี้ว่า “เอ็กซ์เรย์”
ช่วงแรกที่ค้นพบ คนยังคิดว่าเอ็กซ์เรย์เป็นการเล่นตลกของพลังงาน กระทั่งปี 1896 อองรี เบ็กแรล (Henri Becquerel) นักเคมีชาวฝรั่งเศสซึ่งรับรู้เกี่ยวกับงานของเรินต์เกน พบว่าวัสดุธรรมชาติบางชนิด (รวมถึงยูเรเนียม) ปล่อยรังสีที่มองไม่เห็นอันมีคุณสมบัติคล้ายเอ็กซ์เรย์ เพื่อนของเบ็กแรล อย่างปิแอร์ และมารี คูรี (Piere และ Marie Curie) คู่สามีภรรยาจากฝรั่งเศสจึงเริ่มสืบเสาะหาแหล่งเคมีของเอ็กซ์เรย์ที่มีพลังงานสูงขึ้น
ปิแอร์ และมารี พบกันในมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และชอบพอกันจากที่ทั้งคู่สนใจเรื่องแม่เหล็ก มารี เกิดที่วอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ บิดาของเธอเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มารีและพี่สาวอพยพจากโปแลนด์มาอาศัยในฝรั่งเศสเนื่องจากสถานการณ์การเมือง
คู่สามี-ภรรยาคูรีค้นพบร่องรอยธาตุใหม่ที่แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมหลายเท่าจากแร่พิตช์เบลนด์ (Pitchblende) ในของเสียจากการขุดแร่ ทั้งคู่เริ่มสกัดสารกัมมันตรังสีที่ทรงพลังในรูปบริสุทธิ์จากแร่ชนิดนี้หลายตัน น้ำล้าง 4,000 ตัน และโคลนของเสียสกัดหลายร้อยถัง จนได้ธาตุใหม่ปริมาณ 0.1 กรัม สิทธัตถะ มุกเคอร์จี ผู้เขียนหนังสือ “จักรพรรดิแห่งโรคร้าย : ชีวประวัติโรคมะเร็ง” เล่าว่า ในปี 1902 โลหะนั้นอยู่มุมล่างสุดของตารางธาตุ มันแผ่รังสีเอ็กซ์เรย์เข้มข้น เป็นกึ่งสสารกึ่งพลังงานที่ไม่เสถียร เป็นสสารที่แยกตัวออกเป็นพลังงาน มันถูกเรียกว่า “เรเดียม” (ภาษากรีกแปลว่า “แสง”)
พลังมหาศาลของเรเดียม ช่วยเปิดเผยคุณสมบัติของเอ็กซ์เรย์ที่คนคาดไม่ถึง นั่นคือมันสามารถฉายพลังแสงสว่างผ่านเนื้อเยื่อมนุษย์ และยังทิ้งพลังงานไว้ลึกภายในเนื้อเยื่อ กล่าวคือ เรินต์เกน (ที่พบเอ็กซ์เรย์) สามารถถ่ายภาพมือของภรรยาเนื่องด้วยคุณสมบัติของเอ็กซ์เรย์ที่ฉายแสงผ่านเนื้อเยื่อมนุษย์
ขณะที่คุณสมบัติทิ้งพลังงานลึกในเนื้อเยื่อ กลับทำให้มือของมารี คูรี ต้องรับมรดกอันทรมานเนื่องจากการสกัดพิตช์เบลนด์ ให้เหลือเศษหนึ่งส่วนล้านเพื่อหากัมมันตรังสีที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นต่อไปโดยทำติดต่อกันหลายสัปดาห์ ผิวหนังของเธอเริ่มแห้งกร้าน และลอกออกเป็นชั้นสีดำ คล้ายกับเนื้อเยื่อถูกเผาจากด้านใน ขณะที่ปิแอร์ ซึ่งเก็บเรเดียมเพียงไม่กี่มิลลิกรัมในกระเป๋าเสื้อ เรเดียมไหม้ผ่านเสื้อกั๊กผ้าสักหลาดหนาจนทำให้หน้าอกเขาเกิดรอยแผลเป็น
นักวิทยาศาสรต์พยายามศึกษากลไกของผลข้างเคียงเหล่านี้ กลุ่มเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายนี่เองเป็นร่องรอยที่ทำให้เห็นว่า เรเดียมเป็นอันตรายต่อดีเอ็นเอ เอ็กซ์เรย์สามารถทำให้ดีเอ็นเอแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หรือสร้างสารพิษที่กัดกร่อนดีเอ็นเอ ความเสียหายเป็นผลให้เซลล์ถูกฆ่าหรือเซลล์หยุดแบ่งตัว เอ็กซ์เรย์เลือกฆ่าเซลล์ที่กำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และนั่นทำให้นักวิจัยมะเร็งสนใจ
เอมิล กรับบ์ (Emil Grubbe) นักศึกษาแพทย์วัย 21 ปีสนใจนำเอ็กซ์เรย์ไปฆ่าเนื้องอก ภายหลังจากที่เห็นว่าคนงานในโรงงานผลิตหลอดเอ็กซ์เรย์สุญญากาศที่สัมผัสกับเอ็กซ์เรย์เกิดอาการผิวหนังลอกและเล็บลอกเปิด แม้แต่มือของเขาเองก็บวมและผิวหนังแตกเนื่องจากสัมผัสเอ็กซ์เรย์บ่อยครั้งในช่วงที่เขาทำงานในโรงงานนั้น
ปี 1896 กรับบ์ เริ่มฉายรังสีให้หญิงชราที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมในชิคาโก โดยใช้หลอดเอ็กซ์เรย์ที่ผลิตเอง เขาฉายรังสี 18 วันติดต่อกัน การรักษาทำให้เกิดความเจ็บปวดและพบว่าได้ผลระยะหนึ่ง เขาเริ่มทดลองกับผู้ป่วยรายอื่น และนั่นถือกำเนิดการแพทย์มะเร็งอีกแขนงคือรังสีรักษา
ในปี 1902 ภายหลังการค้นพบเรเดียมของคู่สามี-ภรรยาคูรี ศัลยแพทย์ใช้รังสีอาณุภาพทรงพลังอีกหลายเท่าฉายแสงเนื้องอก โดยเรเดียมถูกแพร่ผ่านสายทองคำและฝังในเนื้องอกโดยตรงเพื่อฉายรังสีเอ็กซ์เรย์เข้มข้น ในยุคต่อมา สหรัฐอเมริกาก็มีเรเดียมเหลือเฟือ
จากผลงานการค้นพบและผลต่อการใช้งานในสาธารณะนั้นเอง ปี 1903 คู่สามี-ภรรยาคูรี และเบ็กแรล ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ รางวัลโนเบลทำให้ความเป็นอยู่ของเธอดีขึ้น แม้ได้รับตำแหน่งในสถาบันการศึกษา แต่ทั้งคู่ยังทำงานหนัก ไม่ค่อยได้ออกสังคมเท่าใด ใช้เวลาตอบจดหมายที่คนเขียนมาถึงแทน
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ในปี 1906 มารี ต้องสูญเสียสามีไปเมื่อปิแอร์ ประสบอุบัติเหตุถูกรถม้าชนขณะกำลังข้ามถนนจนเสียชีวิต ความสูญเสียครั้งนี้ทำให้เธอเสียใจอย่างมาก
เธอยังพยายามทำงานต่อไปโดยรวบรวมผลงานที่เธอทำร่วมกับสามีออกเผยแพร่ และในปี 1911 เธอได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้งในสาขาเคมีแบบเดี่ยวเนื่องจากการค้นคว้าการใช้ประโยชน์จากธาตุเรเดียมในทางการแพทย์
นอกเหนือจากบทบาทในทางการแพทย์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีและลูกสาวก็ใช้ประโยชน์จากรังสีตั้งรถเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม
ตลอดเวลาที่เธอทำงาน เธอต้องเผชิญกับทัศนคติของคนในสังคมเวลานั้นที่มองว่าสตรีมีความรู้ไม่เทียบเท่าผู้ชาย แต่บทบาทและการทำงานหนักของเธอย่อมพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ภายหลังสงครามจบลง มารี คูรี ก็กลับมาทำงานศึกษาเรเดียมต่อ
สิทธัตถะ เล่าว่า รังสีบำบัดได้ผลอย่างเหลือเชื่อสำหรับมะเร็งเฉพาะที่บางชนิด แต่การรักษาด้วยรังสีก็มีข้อจำกัด อาทิ วางทิศทางได้เฉพาะจุด การรักษามะเร็งที่กระจายตัวแล้วก็มีข้อจำกัดในการรักษา หากเพิ่มพลังงานของแสงเป็น 2-4 เท่า มีแต่จะทำให้ผู้ป่วยตาพร่า และได้รับผลกระทบเนื่องจากร่างกายไม่สามารถทนรับปริมาณรังสีได้ มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่อการรักษาแบบที่จะให้หายขาดได้
อีกประการคือรังสีเองก็ก่อให้เกิดมะเร็ง นั่นคือสิ่งที่แอบแฝงมา เอ็กซ์เรย์ที่ฆ่าเซลล์ซึ่งแบ่งตัวอย่างรวดเร็วทำให้ดีเอ็นเอเสียหาย เกิดการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งในยีน
กรณีนี้ ในทศวรรษ 1910 ภายหลังคู่สามี-ภรรยาคูรี ค้นพบเรเดียม บริษัทในนิวเจอร์ซีย์แห่งหนึ่งผสมเรเดียมกับสีเพื่อผลิตสารเรืองแสง บริษัทโฆษณาว่าใช้กับหน้าปัดนาฬิกาให้เรืองแสง การทาสีก็มักเป็นงานของผู้หญิง คนงานหญิงได้รับการส่งเสริมให้ใช้สีโดยไม่ได้ระมัดระวัง ใช้ลิ้นเลียปลายพู่กันเพื่อผลิตตัวเลขที่หน้าปัดให้คมชัด ไม่นานนักคนงานที่ทำงานกับเรเดียมเริ่มมีอาการเจ็บกราม เหนื่อยล้า มีปัญหาด้านผิวหนังและฟัน อีก 10 ปีต่อมา เนื้องอกที่เกิดจากเรเดียมผุดขึ้นในหมู่คนงานที่สัมผัสกับมัน และกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง (Sarcomia) ลูคีเมีย และเนื้องอกในกระดูก ลิ้น คอ และกราม
ส่วนผลกระทบต่อมารี คูรี เอง เนื่องด้วยเธอสัมผัสกับธาตุเรเดียมมากเกินไป บนมือมีรอยไหม้เพราะถูกกัมมันตรังสีเผา และป่วยหนักด้วยโรคลูคีเมีย ซึ่งสังคมภายนอกไม่ได้รับรู้อาการป่วยของเธอกระทั่งก่อนการเสียชีวิตของเธอไม่กี่วัน
ปี 1934 มารี คูรี เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย วงการเคมีหรือรังสียังตั้งชื่อหน่วยวัดว่า “หน่วยคูรี” เป็นการยกย่องและให้เกียรติเธอ (ภายหลังใช้หน่วยแบ็กเกอเรล)
ขณะที่เอมิล กรัปป์ ซึ่งได้รับรังสีเอ็กซ์เรย์ที่ไม่แรงเท่าก็เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยผลจากรังสี ช่วงกลางทศวรรษที่ 1940 นิ้วมือของกรัปป์ ต้องถูกตัดออกทีละนิ้วเพื่อกำจัดกระดูกที่ตายแล้ว ใบหน้าของเขาถูกผ่าตัดหลายครั้งเพื่อเอาเนื้องอกที่เกิดจากรังสีและหูดขั้นก่อนเป็นมะเร็งออกไป เขาเสียชีวิตจากมะเร็งหลายรูปแบบที่กระจายไปทั่วร่างในปี 1960 เขาอยู่ในวัย 85 ปี
ข้อความที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อปี 1945 มีใจความหนึ่งว่า
“เพื่อเป็นการอธิบาย (ถึงอำนาจทำลายล้างของเอ็กซ์เรย์) ขอให้เราระลึกว่าผู้บุกเบิกในแล็บเอ็กซ์เรย์ทางการแพทย์เกือบทุกคนในสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตจากมะเร็งซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของรังสี”
อ้างอิง :
มุกเคอร์จี, สิทธัตถะ. จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
สุทัศน์ ยกส้าน. “Marie Curie นักเคมีสตรีแห่งปีเคมีสากล 2011”. สารคดี. ออนไลน์. เผยแพร่ 10 มีนาคม 2011. เข้าถึงมือ 27 มีนาคม 2020. <https://www.sarakadee.com/2011/03/10/marie-curie/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2563