“ข้าวทองระย้า” ข้าวที่ว่ากันว่ารัชกาลที่ 5 โปรด ถึงขั้นทรงหุงเสวยเอง

รัชกาลที่ 5 ข้าว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบอาหาร

ปัจจุบัน “ข้าว” มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้ ข้าวสังห์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติ รสสัมผัส คุณประโยชน์ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าชื่นชอบชนิดไหน 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพันธุ์ข้าวที่โปรดเสวย ซึ่งหลายคนคาดว่าคือ “ข้าวทองระย้า”

ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)

ข้าวทองระย้า คืออะไร?

ข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวพันธุ์ดีในท้องถิ่นของมณฑลนครไชยศรี เนื้อสัมผัสร่วน มักนำไปหุงข้าวด้วยน้ำไม่เยอะ จะออกร่วนฟู กินกับแกงอร่อย หรือจะทำข้าวผัด ใส่เป็นส่วนประกอบของขนมครกก็เข้ากันไปเสียหมด

ด้วยเอกลักษณ์นี้ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงชื่นชอบ ถึงกับทรงเขียนถึงไว้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงโต้ตอบไปมากับ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า

“กราบทูล กรมหมื่นวชิรญาณ

ด้วยได้รับหนังสือประทานมาเรื่องเข้าใหม่ (ข้าวใหม่) มีความยินดีเปนอันมากที่ทราบว่าเสวยได้ เพราะบางคนกินไม่ได้ว่าเหมือนเข้าเหนียวแลไม่อร่อยอย่างไรซึ่งหม่อมฉันแลไม่เห็น ส่วนตัวหม่อมฉันเองเห็นว่าเปนการมีคุณอย่างยิ่ง ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

เดิมกินข้าวไม่ได้ โกรธว่ากับข้าวไม่อร่อยบ่อยๆ จนครั้งหนึ่งวานให้กรมหมื่นปราบซื้อข้าวแกงมาให้กิน เผอิญไปถูกข้าวอย่างนี้เข้า กินได้ติดใจจึงได้วานให้กรมปราบจัดซื้อ และชักชวนให้ลูกเมียกินก็พากันชอบ เว้นไว้แต่แม่กลาง (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) กินไม่ได้มาจนทุกวันนี้ (พ.ศ. 2442) ว่าเลี่ยนคลื่นไส้

ข้าวทองระย้า
ข้าวทองระย้า (ภาพจาก : มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย))

แต่นั้นมาก็กินข้าวได้อ้วนขึ้น เป็นเชื่อว่าอ้วนขึ้นเพราะข้าวนี้ แต่นั้นมาจะนับว่าเป็นโทษเกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็ได้ คือกินข้าวอื่นไม่ได้ ให้รู้สึกว่าแข็งหยาบ ไม่มีรสอร่อยในนั้นเหมือนกินข้าวตอก ต่อเมื่อใดหิวๆ แลไปแปลกถิ่นจึงต้องกิน แต่อย่างไรๆ รู้สึกไม่อิ่มเลย

การที่ติดข้าวพรรณนี้ไม่ใช่ติดแต่ตัวหม่อมฉัน เป็นติดทั้งครัว จึงต้องให้เงินกรมหมื่นปราบปีละ 30 ชั่งสำหรับซื้อข้าวพรรณนี้ส่งไปในบรรดาผู้ที่ติด การที่โปรดเสวยมีใจเชื่ออยู่ว่าบางทีจะทำให้อ้วนได้ การที่จะติดนั้นไม่ต้องกลัวจะขอส่งถวายให้เสวยพอตลอดปี

แต่การหุงนั้นอยู่ข้างเป็นการใหญ่ ถ้าหุงอยู่ส่งข้าวธรรมดาเปียกแฉะไปต้องมีวิธีฝึกหัด หม่อมฉันเคยหุงเองดีกว่าคนห้องเครื่อง แลต้องเอาเมียกรมปราบมาหุงอยู่เป็นนาน เดี๋ยวนี้ห้องเครื่องหุงได้ดี แต่กินมาประมาณ 17-18 ปีแล้ว

ในชั้นต้นนี้จะให้ห้องเครื่องหุงส่งไปถวายก่อน แล้วจะให้ทูลหารือกรมหลวงวรเสรฐ ท่านจะจัดการอย่างไรให้ฝึกหัดหุงได้จะได้เรียกหาได้สะดวก เพราะจะให้ห้องเครื่องหุงส่งตลอดไป จะมีพนักงานไปส่ง ถ้าเจ้าพนักงานเขาไปเหลวๆ ไหลๆ เสีย จะทรงฟ้องร้องก็ไม่ได้ เป็นอันป่วยการไม่สำเร็จประโยชน์อันใดได้”

จากพระราชหัตถเลขานี้ ทำให้ทราบว่ามีข้าวอยู่หนึ่งชนิดที่พระองค์โปรดมาก ถึงขั้นทรงหุงเอง โดยข้าวที่ว่า นักประวัติศาสตร์คาดว่าคือ “ข้าวทองระย้า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ส. พลายน้อย. กระยานิยาย เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบๆ สำรับ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2396-2453 และ วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา, 2403-2464. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48083.

https://www.finearts.go.th/promotion/view/20407-สมเด็จพระมหาสมณเจ้า-กรมพระยาวชิรญาณวโรรส-ผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา

https://sathai.org/?p=691


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2568