ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ข้าวปิ่นแก้ว” เป็นข้าวพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของไทย เนื่องจากทางการเคยส่งไปร่วมงานประกวดข้าวโลก ที่เมืองเรยินา ประเทศแคนาดา เมื่อ พ.ศ. 2476 และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโลก คราวนั้นข้าวพันธุ์ุพื้นเมืองของไทยอื่นๆ ก็ยังคว้ามาได้อีกหลายรางวัลด้วยเช่นกัน จากผู้เข้าประกวดทั้งหมด 176 ราย
ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวรางวัลที่ 1 ของโลก
เหตุของการเข้าประกวดเนื่องจากประมาณปี 2470 ข้าวไทยถูกกล่าวหาว่าด้อยคุณภาพ ทำให้ราคาข้าวตก สถานีทดลองข้าว, ผู้ส่งออกข้าว, โรงสี และชาวนา จึงร่วมกันตรวจคุณภาพข้าวเพื่อคัดเลือกเป็นตัวอย่าง ในที่สุดก็เลือกพันธุ์ุ “ปิ่นแก้ว” และเพาะปลูกในนาทดลอง ให้เป็นข้าวตัวอย่างมาตรฐานเพื่อการส่งออก
ข้าวที่ส่งประกวดในครั้งนั้น เป็นข้าวของ “นางจวน” (ไม่ทราบนามสกุล) อยู่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากนั้นมีการนำไปคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยพระยาโภชากร และทีมงานนาทดลองคลองหก รังสิต (ปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว) ข้าวสายพันธุ์นี้มีจุดเด่นอยู่ที่ลักษณะเมล็ดยาว เนื้อแข็งเป็นมันเลื่อม ไม่เป็นท้องไข่เปลือก ปลอกบาง เมล็ดไม่บิดไม่โค้ง ไม่มีเมล็ดแดงปน และมีน้ำหนักดี
ข้าวหนีน้ำได้ ?!?
ข้าวสายพันธุ์ปิ่นแก้วเป็นข้าวนาสวน ไวต่อช่วงแสง ทรงกอแผ่เป็นแนวนอน คอรวงยาว และมีคุณสมบัติพิเศษที่ยืดข้อปล้องหนีน้ำได้ จึงเรียกว่า “ข้าวลอย” หรือ “ข้าวขึ้นน้ำ” เพราะต้นข้าวจะชูร่วงลอยสูงหนีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งข้าวประเภทนี้มีด้วยกันหลายชนิด เช่น ข้าวสายบัว, ข้าวพวงมาลัย, ข้าวหอมชลสิทธิ์, ข้าวเจ้าลอย ฯลฯ
สำหรับข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว นอกจากต้นจะสามารถชูรวงข้าวโตหนีน้ำได้ถึง 5 เมตรแล้ว ต้นข้าวยังสามารถแตกแขนง และแตกรากที่ข้อเหนือผิวดินใต้น้ำได้อีกด้วย
เรื่องนี้ นักวิชาการเกษตรด้านข้าวได้ศึกษาวิจัย โดยปลูกข้าวในแปลงที่มีคันดินสูง 4-5 เมตร แล้วค่อยๆ เติมน้ำเข้าไป ข้าวสูงได้เกือบ 5 เมตรจริง
ตั้งแต่ปี 2493-2510 มีการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศ ในห้องปรับอุณหภูมิของสถานีทดลองข้าวบางเขน และเพื่อปลูกคัดเลือกหา “พันธุ์ข้าวที่ดี” คือให้ผลผลิตต่อไร่สูง, ต้านทานโรคและแมลง รวมถึงการยอมรับของตลาด สำหรับแนะนำส่งเสริมให้แก่เกษตรประมาณ 6,000 ตัวอย่าง
กรมการข้าว ได้พันธุ์ข้าวดีสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอยู่หลายพันธุ์ โดยมีพันธุ์ข้าวที่ดีมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง คือ “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” ได้การรับรองพันธุ์ในปี 2502 มีขนาดข้าวกล้องยาว 7.5 มม. กว้าง 2.1 มม. และหนา 1.8 มม. ความยาวของเมล็ดสั้นกว่าข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว แต่เด่นกว่าในสภาพ “ข้าวสุก” มีกลิ่นหอมและนุ่ม เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี พันธุ์ข้าวที่ชื่อ “ปิ่นแก้ว” แม้จะเคยเป็นที่ 1 ในเวทีโลก แต่ไม่ตอบโจทย์ทางการตลาด ทั้งให้ผลผลิตไม่สูงนัก จึงค่อยๆ หายไปจากทุ่งนา และตลาดข้าวของไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- “ข้าวเหนียว” ที่มีสายพันธุ์มาจาก “ข้าวเจ้า” ?!?
- พื้นที่เมืองไทย “ทำนาปลูกข้าว” มาแล้วกว่า 5,500 ปี ก่อนเผยแพร่ไปจีน, อินเดีย ฯลฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พานิชย์ ยศปัญญา. “ข้าว ปลา มากับน้ำ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2561.
ตำนานพันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว <http://www.thairiceexporters.or.th >
ผู้เขียน (ไม่ได้ระบุชื่อ). “ข้าวปิ่นแก้ว” ใน, ข้าวเพื่อชีวิต, กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2567