ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน “ข้าวเหนียวสันป่าตอง” เป็นข้าวเหนียวเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันทั่วไปว่า มีคุณภาพในทางโภชนาการ และมีผลผลิตดีมากพันธุ์หนึ่ง มีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกเมื่อปี 2503
ข้าวเหนียวสันป่าตองเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน จนกระทั่งประเทศลาว เพราะมีขนาดเมล็ดที่สวยงาม เมื่อนึ่งสุกแล้วรับประทานอร่อย จนเป็นข้าวมาตรฐานของราคาข้าวเหนียวในภาคกลาง
แต่ “ข้าวเหนียวสันป่าตอง” นั้น มีที่มาจาก “ข้าวเจ้า”
ดร.สละ ทศานนท์ อดีตอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความ “ข้าวหอมดอกมะลิสิ่งข้าพเจ้าภาคภูมิใจ” (ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี ฯ, สนพ. มติชน”) ไว้ในฐานะ นักบำรุงพันธุ์ (ข้าว) ว่า
“ประวัติของข้าวเหนียวสันป่าตองนี้ เป็นข้าวปนอยู่ในพันธุ์ข้าวเจ้าชื่อ ‘เหลืองใหญ่’ ซึ่งเป็นข้าวเจ้าในการเริ่มขยายพันธุ์ข้าว เรามีหลักเกณฑ์ที่ละเอียดถี่ถ้วนในการคัดรวงข้าวที่จะปลูกต่อ ในการขยายพันธุ์ เราจะดูแลลักษณะของกาบ (Glume) สีและผิว และจะต้องบดเมล็ดออกมาดูทุกๆ รวง
เราพบว่าบางรวงของข้าวเหลืองใหญ่ ซึ่งเป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองเดิมของภาคเหนือนั้น มีเมล็ดเป็นข้าวเหนียว คุณมณี เชื้อวิโรจน์ (บัดนี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่วิชาการของสถานีบ้านป่าตอง เป็นผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ. 2496 จากการเพาะเมล็ดขุ่น ซึ่งแสดงว่าเป็นข้าวเหนียวในจานแก้วทดลอง (Petri Dish) ได้สายพันธุ์ใหม่เรียกว่า “เหนียวสันป่าตอง”
ลักษณะลําต้น และทรงต้น การแตกกอเหมือนเหลืองใหญ่ 10 ซึ่งเป็นข้าวเจ้า จึงเข้าใจกันว่า “เหนียวสันป่าตอง” เป็นพันธุ์แปลง “MUTATION” ของข้าวเจ้าเหลืองใหญ่ 10 การเจริญเติบโตของกอแสดงความแข็งแรงเหมือน เหลืองใหญ่ 10 ถ้าไม่แกะเมล็ดก็ไม่รู้ว่าเป็นข้าวอีกพันธุ์หนึ่ง…”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ดร.สละ ทศานนท์. “ข้าวหอมดอกมะลิสิ่งข้าพเจ้าภาคภูมิใจ” ใน, ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหมอ, สำนักพิมพ์มติชน 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2563