แม่โพสพ “เทวีข้าว” ในรัฐนาฏกรรม

แม่โพสพ
แม่โพสพ (ซ้าย) ด้านหน้า (กลาง) ด้านข้างขวา (ขวา) ด้านข้างซ้าย [ลายเส้นจากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของ เสฐียรโกเศศ ใน ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่ม 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 76-84]

แม่โพสพ คือเทวีข้าวที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัฐนาฏกรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อยกฐานะแม่ข้าวจากผีพื้นเมืองเป็นแม่ศรีเทวีของรัฐ พบหลักฐานและร่องรอยความสืบเนื่องอยู่ในพิธีธานย์เทาะห์หรือเผาข้าวตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา แล้วสืบเนื่องถึงสมัยอยุธยา

บายศรี คือ ข้าวสุกแม่ข้าวใส่กระบานหรือกระทงเพื่อเซ่นผีฟ้า ต่อมาเมื่อแม่ข้าวถูกสถาปนาเป็นแม่โพสพ, แม่ศรี จึงให้ความสำาคัญแก่ภาชนะเหนือข้าวสุกโดยปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องใบตอง เลียนแบบเครื่องสูงในพระราชพิธี หลังจากนั้นมีการสร้างสรรค์เป็นรูปลักษณ์หลากหลายไกลอกไปจากข้าวสุกแม่ข้าวจนเกือบไม่เหลือความหมายเดิม

วิถีทำานาของชาวนาภาคกลาง ลุ่มน้ำาเจ้าพระยา ในศาลาการเปรียญวัดท่าข้าม แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

1. แม่ข้าว ก่อนเป็นแม่โพสพ

ก่อนรับสถาปนาเป็นเทวีข้าวจากรัฐนาฏกรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภาคกลาง) แม่โพสพ คือ แม่ข้าวของคนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับขวัญข้าว

ชาวนาดั้งเดิมอุษาคเนย์นับถือศาสนาผี ซึ่งเชื่อว่าข้าวมีขวัญ ดังนั้นข้าวมีชีวิตไม่ต่างจากคน คือต้นข้าวตายได้ ส่วนขวัญข้าวไม่ตาย แต่เคลื่อนไหวอยู่ในอีกมิติหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น (เช่นเดียวกับขวัญของคน)

เรื่องนี้มีนักปราชญ์บอกไว้นานแล้ว ว่าชาวนาสมัยโบราณทั่วโลกนับถือข้าวมีชีวิตเหมือนคนที่มีกำเนิดและเติบโตแล้วก็ตาย

เลือดของแม่ให้กำเนิดลูกซึ่งเห็นได้จากการคลอดลูก และการเลี้ยงดูลูกเติบโต ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ตรงของมนุษย์ ผลักดันชาวนาดั้งเดิมเชื่อว่าต้นข้าวจะงอกงามเติบโตสมบูรณ์ด้วยเมล็ดข้าวก็ต้องมีเลือดคอยหล่อเลี้ยง ด้วยเหตุนี้จึงมีการฆ่าคน (ตัวเป็นๆ ที่ถูกสมมติเป็นผีดินผีน้ำ หรือแม่ดินแม่น้ำ) เรียกสมัยหลังต่อมาว่าพิธีฆ่าคน “บูชายัญ” เอาเลือดคลุกเคล้าชโลมดิน ด้วยความเชื่อว่าเมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปต้นข้าวจะงอกงามแล้วเติบโตตามต้องการ

[แนวคิดบูชายัญมนุษย์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร (หรืออีกนัยหนึ่งเลือดเนื้อซึ่งเป็นชีวิตของมนุษย์ คือความอุดมสมบูรณ์นั้นหมายถึงอีกชีวิตหนึ่งเช่นกัน) ผู้รู้แนะนำเพิ่มเติมว่ามีในตำราคลาสสิกทางมานุษยวิทยาชื่อ The Golden Bough ของ Sir James Frazer พิมพ์ครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2433-2458 (ตรงกับแผ่นดินปลาย ร.5-ต้น ร.6)]

การไถนาก่อนทำนาหว่านข้าวชาวนาดั้งเดิมเชื่อว่าคือการใช้ของมีคม (ได้แก่ ผาลไถนา) ตัดเส้นเลือดของแม่ดินขาดจากกันให้เลือดนองไหลเป็นน้ำเลี้ยงข้าวในนา

ความเชื่อว่าดินกับน้ำคือชีวิตของแม่ที่มีคุณต่อข้าวปลาอาหาร ยังพบสืบเนื่องในประเพณีลอยโคมขอขมาแม่ดินแม่น้ำในฤดูน้ำหลาก (สมัยอยุธยา) ระหว่างเดือน 11-12 (ราวตุลาคม-พฤศจิกายน) ปัจจุบันเรียกประเพณีลอยกระทง กลางเดือน 12

ผู้พิทักษ์ดินและน้ำคืองู ครั้นหลังติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดียจึงเรียกงูว่านาค (มีรากศัพท์จากภาษาละตินว่า noc แปลว่า เปลือย) นับแต่นั้นนาคเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน ได้แก่ ดินและน้ำ (ยกย่องเรียกสมัยต่อมาว่าแม่พระธรณี กับ แม่พระคงคา)

นาตาแฮก พิธีกรรมหลานพันปีมาแล้ว

พิธีกรรมนาตาแฮก (ต้นตอแรกนาขวัญ) ประกอบด้วยรูปต่างๆ ดังนี้ (1.) ต้นข้าวเป็นกลุ่มแถว (2.) คนทำท่าต่างกัน คนหนึ่งกางแขนกางขา อีกคนหนึ่งทำท่ายิงหน้าไม้ (3.) วัวควาย (4.) ฝ่ามือประทับ (5.) ลายจักสานแบบเรขาคณิต (ลายเส้นคัดลอกโดยกรมศิลปากร จากภาพเขียนราว 2,500 ปีมาแล้วที่ผาหมอนน้อย อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี)

บนหน้าผาหมอนน้อย (อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) เป็นพื้นที่เฮี้ยน (ปัจจุบันเรียกศักดิ์สิทธิ์) มีภาพเขียนอายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เป็นรูปต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวการทำนา แต่ไม่รู้ต้องการเล่าว่าอะไร?

เมื่อเทียบเคียงภาพลักษณะเดียวกันซึ่งพบทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์โบราณ ก็ชวนให้น่าเชื่อว่าภาพนี้เป็นรูปพิธีนาตาแฮกของบรรพชนที่ตายนานแล้ว แต่ผีขวัญยังดำรงวิถีเป็นปกติเหมือนเมื่อยังไม่ตายอยู่ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งจับต้องไม่ได้มองไม่เห็น จึงวาดรูปแบบเหนือธรรมชาติไม่เหมือนคนจริง เพราะทั้งหมดเป็นผีขวัญของบรรพชน

นาตาแฮก โดยรวมของภาพเขียนบนเพิงผาหมอนน้อยเป็นพิธีนาตาแฮก (ต้นแบบพิธีแรกนาขวัญในปัจจุบัน) คือนาจำลองใช้ทำพิธีก่อนลงมือทำนาจริง มีคำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ดังนี้

“ชาวนาแต่ก่อน เมื่อจะลงมือดำนาจะต้องสร้างนาจำลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนั้นเรียกว่าตาแรก หรือตาแฮก (ตา=ตาราง; แรก คือแรกเริ่มดำ) ถ้าบำรุงข้าวในนาตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย” (จากหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526 หน้า 350)

ต้นข้าวในภาพเขียนเป็นกอข้าวหรือกกข้าวกลุ่มแรกหรือกกแรก ตามประเพณีลาวเรียก “ปักกกแฮก” (ปักกกแรก) ในนาตาแฮก มีการจัดระเบียบเป็นแถวเป็นกลุ่มคล้ายนาดำ (แต่บอกไม่ได้ชัดๆ ว่าเป็นนาดำจริงหรือไม่?)

นาดำ เป็นนาที่ปลูกข้าวโดยการถอนต้นกล้าไปปลูกในนาจริงที่เตรียมไว้ (ดำ เป็นคำกริยา แปลว่า มุดลงไป, ดำนา หมายถึง ใช้นิ้วหัวแม่มือกดโคนต้นกล้าที่มีรากติดอยู่ให้ปักลึกมุดดินโคลนเลนซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมไว้แล้ว ส่วนต้นกล้าคือต้นอ่อนของข้าวที่เพาะไว้ล่วงหน้าสำหรับใช้ดำนา) แต่ที่สำคัญคือนาดำต้องรู้เทคโนโลยีก้าวหน้า ได้แก่ การทดน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นกล้าให้เติบโตเป็นต้นข้าวแข็งแรงมีเมล็ดข้าวหนาแน่นติดรวง ซึ่งส่งผลให้สังคมมีการจัดตั้งองค์กรเข้มแข็ง (มีอธิบายเพิ่มอีกมากในหนังสือความไม่ไทยของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2559 หน้า 34-40)

คน พิธีกรรมทำนาตาแฮกมีพิธีฆ่าคน “บูชายัญ” เอาเลือดคลุกเคล้าชโลมดินเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวงอกงามเติบโตมีเมล็ดข้าวหนาแน่นติดรวงแข็งแรง รูปคนยืนท่ามกลางกอข้าวนาตาแฮก น่าจะหมายถึงคนที่ถูกฆ่าแล้วสมมติเป็นแม่ข้าว คือ ผีต้นโคตรของข้าว

วัวควาย ตัวใหญ่สุดมีคนทำท่ายิงหน้าไม้ใส่บริเวณคอ น่าจะเป็นวิธีฆ่าควาย “บูชายัญ” เอาเลือดเซ่นผี (ตามความเชื่อที่ยังสืบเนื่องถึงปัจจุบันในกลุ่มชาติพันธุ์หลายเผ่า)

มือแดง สัญลักษณ์เจ้าแม่ผู้คุ้มครองเผ่าพันธุ์

ลายตาราง แบบเรขาคณิต วาดกระจายเป็นหย่อมๆ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของขวัญ (คล้ายลายขัดบนเครื่องจักสาน)

แม่ข้าว

ข้าวมีผีต้นโคตร คือแม่ข้าว หรือเจ้าแม่ข้าว ซึ่งเป็นเพศหญิงจึงยกย่องเป็น “แม่” ตามความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว (สมัยก่อนประวัติศาตร์)

รวงข้าวคือแม่โพสพที่ถูกชาวนาเกี่ยวขาดจากลำต้น (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แม่ข้าวคือรวงข้าวตกในท้องนา (รวงข้าวตก หมายถึง รวงข้าวที่ถูกชาวนาเกี่ยวแล้ว แต่ถูกทำตกทิ้งในท้องนา เพราะเก็บไม่หมด) ต้องทำพิธีเรียกขวัญเพื่อเชิญแม่ข้าวไปในพิธีนวดข้าวและในพิธีขนข้าวขึ้นเก็บในยุ้งฉาง (หรือเล้า) แล้วเรียก “ข้าวขวัญ” มีคำบอกเล่าโดย “เสฐียรโกเศศ” สรุปดังนี้

เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวออกจากรวงแรก ตอนนั้นขวัญของข้าวหนีไปสิงอยู่ในรวงที่สองซึ่งยังไม่ถูกเกี่ยว แต่เมื่อรวงข้าวที่สองถูกเกี่ยวอีกเมื่อนั้นขวัญข้าวหนีไปสิงรวงที่สามเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไป ฯลฯ ในที่สุดหนีไปจนมุมอยู่รวงสุดท้าย แต่แล้วรวงสุดท้ายก็ถูกชาวนาเกี่ยวไปจนหมด ทำให้ขวัญข้าวหนีไปสิงอยู่รวงข้าวตกก็รอดจากถูกเกี่ยวขาด ชาวนาเลยพร้อมใจกันยกย่องรวงข้าวตกเป็นแม่ข้าว

การเกี่ยวข้าวของชาวนา เท่ากับชาวนาฆ่าแม่ข้าว หรือทำให้แม่ข้าวตาย เพื่อเอาเลือดกับเนื้อแม่ข้าวคลุกเป็นเนื้อดินท้องนาเป็นอาหารต้นข้าว เมื่อเพาะปลูกปีต่อไปต้นข้าวจะได้จำเริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงเอี้ยงดูจากเลือดและเนื้อของแม่ข้าว ขณะเดียวกันขวัญของแม่ข้าวจะสิงสู่อยู่ในต้นข้าวที่ปลูกใหม่ ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยวแม่ข้าวจะถูกทำให้ตายเหมือนปีก่อนๆ จึงต้องมีพิธีทุกปี [สรุปมาเรียบเรียงใหม่จากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของเสฐียรโกเศศ พิมพ์ใน ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 4 เล่มที่ 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 84]

ข้าวหนีเคียว

ที่ว่า “ขวัญข้าวหนีเคียวเกี่ยวข้าว” (เรียกสั้นๆ เป็นที่รู้กันต่อมาจนทุกวันนี้ว่า “ข้าวหนีเคียว”) ยังมีความทรงจำสืบเนื่องความเชื่ออยู่ในถ้อยคำทำขวัญข้าว (ร่ายยาว) มีตอนหนึ่งว่า “ขวัญเอ่ยอย่าเลยหนีไปห่างไกล ขวัญแม่อย่าตกใจให้ฉุนเฉียว เมื่อเวลาเขาตรงลงเคียวเกี่ยวกระหวัด แล้วมัดควบรวบรัดผูกเป็นกำ” (จากหนังสือ ประชุมเชิญขวัญ รวบรวมโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ในงานปลงศพฯ พ.ศ. 2474 หน้า 63)

ชาวนาดั้งเดิมพึ่งพาธรรมชาติ

แม่ข้าวเป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องการทำนาตามวิถีการผลิตของชาวนาพึ่งพา
ธรรมชาติแบบดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว ต้องมีพิธีกรรมเกือบทุกเดือนตลอดปีวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในข้าวปลาอาหารซึ่งยังพบประเพณีสืบเนื่องจนปัจจุบัน โดยมีขั้นตอนตามลำดับเวลาแต่ละเดือนทางจันทรคติ แล้วเทียบปฎิทินสากลที่ใช้ปัจจุบันไว้ด้วย (โดยประมาณ) ซึ่งแต่ละท้องถิ่นไม่ตรงกัน

สำหรับที่จะบอกเล่าโดยสรุปต่อไปซึ่งเป็นเหตุให้มีการสถาปนาแม่โพสพเป็นวิถีทำนาของชาวนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภาคกลาง) แต่ละกิจกรรมทำต่อเนื่อง ดังนั้นบางกิจกรรมเหลื่อมเวลากันหรือทับซ้อนกันก็มี เพราะไม่ถูกกำหนดตายตัวต้องเสร็จเวลานี้เวลานั้น ตั้งแต่ไถนา, หว่านข้าว, เกี่ยวข้าว, นวดข้าว, เก็บข้าวและทำขวัญข้าว ฯลฯ ซึ่งมีโดยย่อต่อไปนี้

เดือน 6 ไถนา (พฤษภาคม) หลังเทศกาลจุดบั้งไฟขอฝนเริ่มมีฝนตก ชาวนาลงมือไถนาเตรียมดินปลูกข้าว โดยต้องไถทิ้งระยะห่างกันซ้ำที่เดิมอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อทำดินให้ร่วนซุย เหมาะสำหรับการงอกแลัวงามของเมล็ดข้าว

(ซ้าย) ชาวบ้านอีสานกำลังสวดขวัญวิงวอนร้องขออำนาจเหนือธรรมชาติในพิธีนาตาแฮก โดยปลูกต้นข้าว 7-8 ต้น เรียกปักกกแฮก (ภาพก่อน พ.ศ. 2547)
(ขวา) ชาวบ้านกำลังแรกนาขวัญก่อนทำนาจริง บ้านโพธิ์สามต้น อ. บางปะหัน จ. พระนครศรีอยุธยา (ถ่ายราว พ.ศ. 2547)

เดือน 7 หว่านข้าว (มิถุนายน) หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก (ที่เตรียมไว้ก่อน) ลงท้องนาบริเวณที่ไถเตรียมดินไว้ เรียก “นาหว่าน”

ชาวนาบางคนเลือกทำ “นาดำ” โดยเพาะต้นกล้าไว้ปักดำบริเวณที่ทำแปลงนาเตรียมไว้ ซึ่งมีกรรมวิธีซับซ้อนใช้เวลานาน แต่ได้ผลผลิตสูงกว่า

หลังจากนั้นรอน้ำฝนจากฟ้า เรียก “นาทางฟ้า” หล่อเลี้ยงพันธุ์ข้าวกล้าแตกหน่อเติบโตเป็นต้นข้าว ไปจนถึงต้นข้าวแตกรวง

เดือน 12 ข้าวตั้งท้อง (พฤศจิกายน) ต้นข้าวที่เติบโตเริ่มมีหน่ออ่อนเม็ดน้อยๆ (คล้ายเมล็ดแต่ยังไม่เป็นเมล็ด) เรียก “ข้าวน้ำนม” ตั้งแถวเรียงกันอยู่ปลายลำต้น ทำให้ส่วนตรงนั้นโป่งป่องตรงปลายยอดข้าว ต่อมาชาวนาเรียก “ข้าวตั้งท้อง” เมื่อเทียบกับคนจึงดูคล้ายหญิงตั้งท้องหรือมีครรภ์ ต่อไปอีกไม่นานจะคลอดโดยถูกดันโผล่พ้นยอดข้าวเป็นรวงข้าวอ่อน

ชาวนากำลังลงแขกเกี่ยวข้าวภาคกลาง สมัย ร.5 พ.ศ. 2450 (ภาพจาก Twentieth Century Impressions of Siam. Arnold Wright (edit.). London : Lloyd’s Greater Britain Publishing Co. Ltd., 1908, p. 147.)

เดือน 1 เกี่ยวข้าว เดือนอ้าย (ธันวาคม) เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้วจึงได้ “แม่ข้าว” ตามความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกิจกรรมต่อเนื่องไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลาตายตัว แต่จะเหลือมหรือทับซ้อนเวลากันก็มี ตลอดราว 3 เดือน คือ เดือน 1,2,3 เป็นงานเกี่ยวข้าว, นวดข้าว, เก็บข้าวใส่ยุ้งแล้วทำขวัญข้าว
การเกี่ยวข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ดังนี้

1. เมล็ดข้าวเต็มรวง หมายถึงการกำเนิดของข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักเลี้ยงคนให้มีชีวิตตลอดปี

2. การออกรวงของต้นข้าวตามกำหนดปีครั้งละอย่างสม่ำเสมอ เท่ากับเป็นช่วงเวลาได้ผลผลิตใหม่ที่จะเลี้ยงคนให้มีชีวิตตลอดฤดูกาล จึงถูกกำหนดเป็นเดือนแรกเรียก “เดือนอ้าย” (แปลว่า เดือน 1) ขึ้นฤดูกาลใหม่ ที่ต่อไปเรียก “นักษัตรใหม่” ส่วนคำว่า “เข้า” (คำเดิมของข้าว) มีความหมายว่า “ปี” (มี 12 เดือน หรือ 365 วัน)

เพลงเกี่ยวข้าวสมัยดั้งเดิมไม่เล่นขณะลงมือเกี่ยวข้าว ถ้าการเล่นเพลงเกี่ยวข้าวจะมีจริงสมัยนั้น ชาวนาทุกคนก็เล่นร่วมกันหลังเกี่ยวข้าวเสร็จหมดทุกแห่งแล้วทั้งชุมชน (ไม่ใช่การแสดงให้คนดูอย่างที่เข้าใจทุกวันนี้) หญิงชายทุกคนร่วมกันเล่นเป็นพิธีกรรมเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์และจำเริญพืชพันธุ์ธัญญาหารตามความเชื่อในศาสนาผี เพราะเกี่ยวข้าวคือการฆ่าแม่ข้าวเอาเลือดหล่อเลี้ยงต้นข้าวเติบโตที่จะมีกำเนิดอีกในปีต่อไป ดังนั้นต้องร่วมกันเล่นเพลงโต้ตอบแก้กันด้วยถ้อยคำเชิงสังวาส แสดงสัญลักษณ์การสมสู่เพื่อการกำเนิด (ถ้าไม่มีสมสู่ ก็ไม่มีกำเนิด)

[ตำราบางเล่มบอกว่าเมื่อถึงหน้าเกี่ยวข้าว ชาวนาสมัยก่อนเล่นเพลงเกี่ยวข้าวหรือเต้นกำรำเดียวขณะ“ลงแขก”เกี่ยวข้าว เพื่อความสนุกสนามร่วมกันตามวิถีชาวนา แต่ชีวิตจริงของชาวนาไม่พบว่าเป็นอย่างตำราบอกไว้]

บุญคูนลาน คือทำบุญสู่ขวัญลานนวดข้าวเพื่อความอุดมสมบูรณ์ก่อนนวดข้าว (ภาพเก่า ก่อน พ.ศ. 2548)

เดือน 2 นวดข้าว เดือนยี่ (มกราคม) คือ การทำให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงข้าวโดยจูงควายขึ้นย่ำบนก่อข้าวที่เกี่ยวแล้วมัดรวมเป็นฟ่อน (แต่บางท้องถิ่นทำด้วยวิธีอื่น เช่น ตีข้าว, ฟาดข้าว เป็นต้น) โดยมีรวงข้าวซึ่งถูกสมมติเป็นแม่ข้าว หรือข้าวขวัญ พร้อมข้าวปลูกเป็นพันธุ์ข้าวใช้ปลูกปีต่อไป รวมอยู่ในสถานที่จัดไว้เป็นพิเศษ (เสมือนประธานพิธีนวดข้าว)

ฟ่อนข้าววางตั้งเรียงเป็นวงรอควายมานวดบนลานนวดข้าวที่ทำบุญทำขวัญแล้ว (ภาพเก่า ก่อน พ.ศ. 2548)
นวดข้าวด้วยควาย (ภาพของโสมนิมิตต์ พ.ศ. 2512)

จูงควายเหยียบย่ำฟ่อนข้าวคะเนว่าเมล็ดข้าวหลุดจากรวงหมดแล้วจูงควายออกไป จากนั้นชาวนาร่วมกันเอาฟางออกจากเมล็ดข้าวที่กองสุมรวมกัน เรียก “สงฟาง” โดยใช้ตะขอไม้ไผ่เป็นคันหลาวยาวเขี่ยฟางออกจากเมล็ดข้าวเปลือก (สง แปลว่าหยิบหย่งๆ หรือเขย่าให้อีกสิ่งหนึ่งร่วงไป, ฟาง คือต้นข้าวแห้งที่ถูกเกี่ยวมาแล้วนวดเอาเมล็ดออกหมด)

[เพลงสงฟางไม่เล่นขณะสงฟาง (คือเล่นไปสงฟางไป) ถ้าเล่นเพลงสงฟางมีจริงสมัยดั้งเดิมก็เล่นเมื่องานสงฟางเสร็จแล้ว]

สงฟางที่นวดข้าวแล้ว (ภาพเก่า ก่อน พ.ศ. 2548)

เมื่อสงฟางเสร็จแล้วได้เมล็ดข้าวเปลือกอยู่กลางลานนวดข้าว จากนั้นชาวนาร่วมกันผูกแน่นแผ่นกระดานด้วยเชือกมีสายยาวสองข้างใช้ลากข้าวเอาเมล็ดพูนเป็นกองๆ เรียก “ชักกระดาน” เพื่อเตรียมขนไปเก็บในยุ้ง (หรือเล้า) เมื่อเก็บแล้วแบ่งไปหุงกินยังไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะยังไม่ได้ทำขวัญข้าว ต้องรอทำขวัญพร้อมกันทั้งชุมชนเสียก่อนถึงจะเอาไปตำสีซ้อมเป็นข้าวสารหุงกินได้ตามปกติ

[เพลงชักกระดานของชาวบ้านสมัยก่อน ได้ชื่อจากงานชักกระดานพูนข้าวเปลือกในลานนวดข้าว แต่ไม่เล่นขณะทำงานชักกระดาน เพราะเหนื่อย ถ้าจะมีเล่นจริงๆ ก็เล่นเมื่อเสร็จงานแล้ว]

ทำขวัญข้าว เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

เดือน 3 ทำขวัญข้าว (กุมภาพันธ์) เป็นพิธีกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งชาวนาดั้งเดิมถือเป็นพิธีกรรมครั้งใหญ่มีต่อแม่ข้าว

ทำขวัญข้าว ข้าวที่ต้องทำขวัญรวมอยู่ในที่เก็บรักษา เช่น ยุ้ง, เล้า หรืออาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านเรือนที่จัดไว้โดยเฉพาะก็ได้ ข้าวเหล่านั้นมี 3 ส่วน จัดที่ทางไว้ไม่ปนกัน ได้แก่ แม่ข้าว, พันธุ์ข้าวปลูก, ข้าวกิน ดังนี้

(1.) แม่ข้าว คือ รวงข้าวตกที่เก็บรักษาไว้เซ่นวักตั้งแต่วันเกี่ยวข้าว แล้วถูกเชิญเป็นประธานในลานนวดข้าว (2.) พันธุ์ข้าวปลูก หมายถึง เมล็ดข้าวเปลือกที่คัดส่วนดีที่สุดไว้จำนวนตามต้องการจากข้าวชุดแรกที่ลานนวดข้าว สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวใช้ปลูกในปีต่อไป (3.) ข้าวกิน คือ ข้าวเปลือกทั้งหมดได้จากนวดข้าวเก็บไว้กินตลอดปี

เมื่อเสร็จจากทำขวัญข้าว ต้องแบ่งข้าวชุดแรกที่ผ่านพิธีทำขวัญไปตำซ้อมเป็นข้าวกล้องแล้วหุงด้วยวิธีดั้งเดิมเริ่มแรกเพื่อเซ่นผีฟ้าผีแถน คือหุงในกระบอกไผ่เผาไฟให้สุก (ปัจจุบันเรียกข้าวหลาม) บางทีเอาข้าวหลามไป “จี่” เผาไฟไหม้เกรียมมีกลิ่นหอมเรียกข้าวจี่

[หลังรับพุทธศาสนาจากอินเดีย พิธีทำขวัญวันกำฟ้าแล้วเผาข้าวหลามทำข้าวจี่ ก็ถูกปรับเปลี่ยนเข้ากับประเพณีทำบุญของชาวพุทธ]

ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันนัดหมายสำคัญของชาวนาสมัยก่อนๆ สืบเนื่องถึงปัจจุบันว่าเป็นวันทำขวัญข้าว ส่วนชาวนาอีกไม่น้อยเรียก “วันกำฟ้า” (โดยเฉพาะชาวนาลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ต่อเนื่อง)

วันกำฟ้า หมายถึง วันฟ้าเปิดประตูให้น้ำฝนตกลงดินท้องไร่ท้องนา (ชาวอีสานเรียก “ฟ้าไขประตูฝน”) เพื่อคนทั้งหลายทำไร่ทำนาทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ (ชื่อกำฟ้าน่าจะกลายจาก “ก่ำฟ้า” หมายถึงขมุกขมัวครึ้มฟ้าครึ้มฝนใกล้ฝนตก)

คำทำนายจากทิศทางเสียงฟ้าร้อง ฟ้าเปิดประตูฝนหรือฟ้าไขประตูฝน คือ ช่วงหลังฤดูหนาว มีฟ้าร้องเสียงคะนองเป็นสัญญาณจะมีฝน ดังนั้นคนแต่ก่อนเป็นที่รู้กันว่าต้องคอยฟังทั้ง 8 ทิศว่าเสียงฟ้าร้องมาจากทิศทางไหน? จะมีคำทำนายความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่าข้าวปลาอาหารของปีต่อไป (คำทำนายมีในเอกสารเก่าและพิมพ์ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 หน้า 2460-2461)

พิธีกรรมจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เมื่อหลายพันปีมาแล้วเป็นเรื่องอธิบายไม่ได้ จึงยกเป็นการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ซึ่งน่ากลัวขนหัวพองสยองเกล้า กระตุ้นให้ชาวนาทั้งชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติต้องร่วมกันกำหนดพิธีกรรมวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์

ในทางภูมิอากาศเรื่องระบบลมมรสุม (ระหว่างเดือน 3) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปเป็น “ช่วงเปลี่ยนฤดู” จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เกิดความแปรปรวนของลมมรสุมซึ่งพัดในทิศทางไม่แน่นอน มักมีฝนฟ้าคะนองเป็นฝนหลงฤดูเพราะไม่ใช่ฤดูฝน [มีเรียกหลายชื่อต่างๆ กัน ได้แก่ ฝนชะลาน (หมายถึงน้ำฝนชะล้างลานนวดข้าวที่เพิ่งเสร็จจากนวดข้าว), ฝนชะช่อมะม่วง (หมายถึง น้ำฝนราดรดต้นมะม่วงที่กำลังออกช่อ ทำให้บางช่อหลุดไป บางช่อเหลืออยู่)] [จากหนังสือ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2545 หน้า 140]

2. รัฐนาฏกรรม สถาปนาแม่ข้าวเป็น“แม่โพสพ”

แม่โพสพ คือ เทวีข้าว ที่รัฐนาฏกรรมสถาปนาขึ้นจากแม่ข้าว (คือ ผีพื้นเมืองต้นโคตรของข้าว) โดยผ่านพระราชพิธีเดือน 3 ธานย์เทาะห์ เผาข้าว ซึ่งเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อความมั่งคั่งทางข้าวปลาอาหาร และความมั่นคงทางการเมืองการปกครองของราชอาณาจักร

เผาข้าวไม่พบในกฎมณเฑียรบาล แต่พบในตำราพระราชพิธีเก่าบอกว่าธานย์เทาะห์ คือ เผาข้าว [ธานย์เทาะห์ แปลว่า เผาข้าว มีรากจากภาษาสันสฤต ธานฺย แปลว่า ข้าว, เทาะห์ แปลว่า เผา (กลายคำจาก ทห แปลว่า เผา,ไหม้)]

พิธีเผาข้าว

ธานย์เทาะห์ เผาข้าว (สมัยอยุธยาตอนต้น) เป็นพระราชพิธีมีในเดือน 3 บอกชื่อเดือนตรงตัวว่า “เดือนสามรังเริ่มแก้ว กลศรี” (บท 197), “เดือนสามสาโรชน้อง นางเดียว (บท 198)” อยู่ในหนังสือทวาทศมาส (โคลงดั้น แต่งราวเรือน พ.ศ. 2000 แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ-พระบรมราชาที่ 3)

เผาข้าวเป็นพระราชพิธีมีในเมือง (พระนครศรีอยุธยา) พบหลักฐานบอกไว้ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก (บท 65) ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กุ้ง) พรรณนาบรรยากาศในเมือง ดังนี้

๏ เดือนสามเคยตามพี่        ดูพิธีธานย์เทาะห์แสดง
เผาเข้าเจ้างามแฝง             พงศ์พวกพ้องน้องเคยดู
มาฆมาศอาจเปล่งถ้อย     เรียมแคลง
ธานย์เทาะห์พิธีแสดง         บอกเบื้อง
เผาเข้าเจ้าเคยแฝง            พงศ์พวก
โนนาดยุรยาตรเยื้อง          ย่างหน้าเอ็นดู

สมัยอยุธยาตอนต้น พิธีเผาข้าวน่าจะมีทั้งในพระนครศรีอยุธยาและในเมืองใหญ่อื่นๆ (อาจหมายถึงเมืองพระยามหานครต้องถือน้ำพระพัทธ์ตามที่พบชื่อในกฎมณเฑียรบาล) เพราะก่อนถึงพระราชพิธีธานยเทาะห์เผาข้าว มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของเจ้าเมืองต้องเอาไพร่พลออกเลี้ยงนอกเมือง (เพราะงานพระราชพิธีมีในเมือง) มีความว่า “เมื่อจะถึงการพระราชพิธีมโหรสพเสกเข้าเผาเข้า ให้เจ้าเมืองเอาพลไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายออกเลี้ยงนอกเมือง —–” (พระไอยการอาชญาหลวง 131/1)

ยังไม่พบคำอธิบายว่าไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลาย หมายถึง บ่าวไพร่ของใคร? เกณฑ์มาจากไหน? ทำงานอะไร? ทำไมต้องออกไปเลี้ยงนอกเมือง?

หนังสือเรื่องนางนพมาศ (แต่งสมัย ร.3) บันทึกความทรงจำพิธีเผาข้าวว่า “ประชุมชาวพระนคร เล่นเป็นนักขัตฤกษ์พระราชพิธีธานย์เทาะห์” (ในกัมพูชา พระราชพิธีเผาข้าวมีในพระราชวัง พบหลักฐานในพงศาวดารละแวกอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 71)

เผาข้าวน่าจะเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวนา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน เมื่อเสร็จงานเก็บเกี่ยวและนวดข้าวจนได้ข้าวเปลือกเก็บไว้กินแล้วทั้งปีก็เผาฟางและซังข้าวในทุ่งนาทำลายรังมดปลวกที่เคยมีและเคยทำลายต้นข้าว (เชื่อกันอีกว่าเพื่อเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้ทำนาฤดูกาลข้างหน้า) ดังพบร่องรอยความทรงจำอยู่ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ บอกว่า “เชิญพระเพลิงออกจุดเผาฟางและซังข้าว สมมุติว่าคลอกทุ่งเผาป่ากันอุปัทวจัญไร” ส่วนเผาข้าววิถีใหม่ เป็นประเพณีหลวงซึ่งมีความหมายใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นจากประเพณีดั้งเดิม (จะมีอธิบายต่อไป)

พระราชพิธี 12 เดือน เป็นนาฏรรมที่รัฐพัฒนาขึ้นจากประเพณี 12 เดือนของคนพื้นเมืองเพื่อการทำมาหากินในชีวิตประจำวันตลอดปี ซึ่งทำสืบเนื่องมากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว (ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์) หลักฐานสำคัญบอกไว้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น มีการละเล่นจำนวนหนึ่งซึ่งราชสำนักพัฒนาขึ้นจากประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น นอกจากนั้นมีความทรงจำในคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา (เช่น พระเจ้าบรมโกศ) เสด็จทุกปีไปพิธีนวดข้าวในนาหลวง อยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออก

[นาหลวงอยู่บริเวณทุ่งหันตราถึงย่านสาคู ปัจจุบันอยู่พื้นที่ ต.หันตรา อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา มีบอกในคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า “ครั้นถึงหน้านวดข้าวก็เสด็จไปนวดข้าวที่หานตราและสารคูก็เล่นเป็นการสนุกสนานนักหนา” ทุ่งหันตรา มีวัดหันตราตั้งอยู่ริมคลองหันตรา (ในพระราชพงศาสดารฯ ว่า พระเจ้าบรมโกศ เสด็จฉลองวัดหันตราเมื่อ พ.ศ. 2281) ส่วนย่านสาคู มีคลองสาคูทอดยาวตามแนวตะวันตก-ตะวันออก (ถนนสายเอเชียนผ่านข้ามคลองสาคูตรงหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ) พ้นเขตนาหลวงไปทางตะวันออกเป็นทุ่งชายเคือง พื้นที่ทำนาของราษฎร พบในพระราชพงศาวดารฯ ว่า พ.ศ. 2112 เมื่อพระมหาอุปราชากรุงหงสาวดียกทัพล้อมกรุงตั้งอยู่ตำบลชายเคือง เท่ากับขัดขวางราษฎรมิได้เกี่ยวข้าว ดังนั้นพระนเรศวรกับพระอนุชาธิราชเสด็จยกกองทัพขับไล่เพื่อให้ราษฎรทั้งปวงเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งได้สะดวก]

แม่โพสพ ชื่อใหม่ของแม่ข้าว

คำว่า “แม่โพสพ” เก่าสุดก่อนสมัยอยุธยา พบในพระอัยการเบ็ดเสร็จ (มหาศักราช 1263) พ.ศ. 1884 เท่ากับมีนานแล้วก่อนหน้านี้

ชื่อดั้งเดิมของแม่โพสพ คือ แม่ข้าว เป็นชื่อเฮี้ยนในศาสนาผี หมายถึง ผีขวัญบรรพชนต้นโคตรของข้าว ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียแม่ข้าวถูกเรียกว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับเจ้าแม่ข้าวได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าวและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เพราะข้าวในสมัยดั้งเดิมเป็นสิ่งแสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ได้จากดินและน้ำ

“แม่โพสพ” เป็นคำกลายจาก “พระไพศพ” พบในทวาทศมาส (โคลงดั้น บท 203 และ ฯลฯ) สมัยอยุธยาตอนต้น มาจากคำภาษาสันสกฤตว่าไพศฺรพณะ (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำภาษาบาลีว่าเวสฺสวณฺ แต่ในไทยเรียก 2 ชื่อ คือ ท้าวเวสสุวรรณ กับ ท้าวกุเวร

ท้าวกุเวรประทับอยู่ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทพผู้รักษาทิศเหนือ, เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ, เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์, เป็นประธานใหญ่ในหมู่อสูรและรากษส ตลอดจนภูตผีทั้งปวง [สรุปจากหนังสือ เทวกำเนิด ของพระยาสัจจาภิรมย์ฯ (สรวง ศรีเพ็ญ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ. 2548 หน้า 45-48]

“พระไพศพ” เป็นนามศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักอยุธยาตอนต้น ต่อมาถูกเรียกว่า “แม่โพสพ” แล้วเป็นที่รู้จักกว้างขวางกลบนามพระไพศพสืบจนปัจจุบัน แต่ในกัมพูชายังเลื่อมใสพระไพศพสืบมาถึงสมัยหลังๆ พบในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา จดว่าสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีมีพระราชดำรัส (เมื่อ พ.ศ. 2398 ตรงกับไทยแผ่นดิน ร.4) ให้จัดทำพระราชพิธีทวาทศมาสครบถ้วนทั้ง 12 เดือน ระบุว่าในเดือน 3 “ทรงให้จัดทำพระราชพิธีบูชาพระไพศพ คือ บูชาภูเขาข้าวเปลือก” (หมายถึงข้าวเปลือกกองสูงเหมือนภูเขา)

เผาศพแม่ข้าว

เผาข้าว หมายถึง เผาศพแม่ข้าว เพื่อส่งผีขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ คือพระไพศพ แต่หลังจากนั้นคนทั่วไปเลื่อมใสเรียกเป็นเพศหญิงตามความเชื่อเดิมว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับแม่ข้าวถูกยกเป็นแม่โพสพ ทั้งนี้เป็นพิธีกรรมผสมกลมกลืนระหว่างความเชื่อศาสนาผีของพื้นเมืองกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย ดังนี้

1. ศาสนาผีเป็นความเชื้อพื้นเมืองเรื่องขวัญ ว่าคนตายส่วนขวัญไม่ตาย โดยมีวิถีเหมือนยังมีชีวิต แต่อยู่ในมิติอื่นเรียกผีขวัญ ซึ่งจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
สำหรับร่างคนตายที่เป็นบุคคลสำคัญของเผ่าพันธุ์ร่วมกันเอาไปฝังดิน (ไม่เผา) จนเนื้อหนังเน่าเปื่อยเหลือกระดูก เพื่อรอขวัญคืนร่างกลับมีชีวิตเหมือนเดิม (แต่ไม่เคยกลับได้)

2. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียมีเทวดา (เป็นอมตะไม่มีเกิด-ตาย) อยู่สวรรค์บนฟ้า

ส่วนคนอยู่บนโลกมีเวียนว่ายตายเกิด เมื่อมีคนตายลงวิญญาณดวงเดียวของคนตายนั้นไปเกิดใหม่ทันที จึงเอาร่างคนตายไปเผาไฟเป็นเถ้าอัฐิ แล้วเอาอัฐิโยนลงน้ำลอยไปไม่เก็บไว้

3. ขวัญของบุคคลสำคัญ (ตามความเชื่อศาสนาผี) เมื่อผ่านพิธีเผา (ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) จะถูกเชิญขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับแถน (ตามความเชื่อศาสนาผี) ถูกปรับเป็นเทวดา (ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ต่อมาเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ลัทธิเทวราช”

ด้วยการประสมประสานดังกล่าวตามความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์กับความเชื่อใหม่จากอินเดีย (รับเข้ามาราวหลัง พ.ศ. 1000) ส่งผลให้มีความเชื่อว่าแม่ข้าวเป็นแม่โพสพเมื่อหลังการเผาศพผีขวัญของแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระไพศพบนสวรรค์ [ตัวอย่างเรื่องนี้มีในอาณาจักรกัมพูชา เรื่องพระเจ้าสุริยวรรมัน (ที่ 2) หลังสวรรคตได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระวิษณุ แล้วสถิตบนบรมวิษณุโลก (ปัจจุบันเรียกปราสาทนครวัด)] มีคำอธิบายเป็นรายละเอียดอีกมากอยู่ในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562)

นาฏกรรมแห่งรัฐ

ธานย์เทาะห์ เผาข้าว เท่าที่พบร่องรอยจากเอกสารหลายเล่มสรุปพิธีกรรมได้ 3 ขั้นตอน คือ ทำขวัญข้าว, เผาข้าว, เสี่ยงทาย

1. ทำขวัญข้าว หมอขวัญ คือ “อาจารย์” (เอกสารทวาทศมาสไม่เรียก พราหมณ์ หรือ ทวิช) เริ่มพิธีทำขวัญข้าวด้วยการขับลำคำคล้องจองสู่ขวัญแม่ข้าวพร้อมประพรมน้ำหอมดอกไม้ เรียก “สุคนธมาลา” แก่ “พนมรวง” หรือ “พนมข้าว” (คือ พนมรวงข้าว หมายถึงรวงข้าวที่มัดรวมเป็นพุ่มหรือฟ่อน มีเมล็ดข้าวติดรวงเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของแม่ข้าว) มีบอกในทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204) ว่า

“อาจารย์รังเริ่มตั้ง        พนมรวง แม่ฮา
ถวายสุคนธมาลาาา       เรียบร้อย”

2. เผาข้าว แห่พนมรวงข้าวไปลานเผาข้าว (หลังเสร็จทำขวัญข้าว) เพื่อทำพิธีเผาข้าว เรียกในทวาทศมาสว่า “ส่งโพศพ” หมายถึง ส่งพระไพศพราชขึ้นฟ้าด้วยการเผาศพ

ตำราพระราชพิธีเก่าและตำราทวาทศพิธีจดไว้ว่าขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายพราหมณ์แห่พนมรวงข้าว (สมมุติเป็นฉัตร) มีประธาน 1 พนม และบริวาร 8 พนม เมื่อพร้อมแล้วให้ตระกูลพราหมณ์เป็นใหญ่จุดไฟเผาฉัตรรวงข้าวประธานขึ้นก่อน แล้วตามด้วยเผาฉัตรรวงข้าวบริวารทั้ง 8

ทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204 และ 211) พรรณนาพิธีเผาข้าวว่าขบวนแห่พนมรวงข้าวมีหมู่ฟ้อนร่อนรำเต็มแถวทาง ครั้นเสร็จพิธีเผาข้าวก็เท่ากับส่งพระไพศพขึ้นฟ้า แต่ไฟเผายังคุกรุ่นส่งแสงร้อนรุ่มผลาญไม้ใบข้างเคียง ดังนี้

“รัถยาบ่าวสาวพวง      พาลแพละ กันนา
ตามส่งไพศพคล้อย      คลาศคลา”
“เสร็จส่งไพศพสิ้น       สารสุด
เพลิงฉี่ใบบัวบง           เหี่ยวแห้ง”

3. เสี่ยงทาย ตำราพระราชพิธีเก่ากับตำราทวาทศพิธีบอกว่าเมื่อคณะตระกูลพราหมณ์จุดไฟเผาพนมรวงข้าวแล้วคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งขุนนางจัดไว้ให้ซ่อนซุ่มอยู่ในที่ไม่เปิดเผย ได้ขี่ควายกรูพร้อมกันออกไปแย่งชิงฉัตรรวงข้าว ชิงฉัตรรวงข้าวเป็นการละเล่นเสี่ยงทาย ถ้าเข้าชิงได้จากทิศใดจะมีคำทำนายฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? อย่างไร? [กิจกรรมนี้มีร่องรอยพบในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)] เรื่องทิศทางเข้าชิงฉัตรแล้วมีคำทำนายเป็นกิจกรรมเสี่ยงทายที่พัฒนาจากความเชื่อวันกำฟ้าของชาวนาดั้งเดิมคอยฟังทิศทางเสียงฟ้าร้องแล้วมีคำทำนาย

การละเล่นเป็นมหรสพ พบร่องรอยสมัยหลังอยู่ในหนังสือนางนพมาศว่า “การมหรสพก็เล่นระเบงระบำ — นางกะอั้วผัวแทงควาย หกคะเมน ไต่ลวดลอดบ่วงรำแพน เสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ”
[กัมพูชามีเล่นหุ่น, โขน, มวยปล้ำ, รำกระบี่กระบอง, ดาบดั้ง เป็นต้น (พงศาวดารละแวก)]

[เอกสารสอบค้น ลำดับขั้นตอนกิจกรรมพิธีธานย์เทาะห์ หรือเผาข้าว ไม่มีบันทึกต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนปลาย ส่วนเท่าที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์และอ่านไม่ง่าย เข้าใจลำบาก บางทีจะเข้าใจคลาดเคลื่อนด้วยซ้ำ แต่ได้พยายามเทียบเคียงเอกสารเกี่ยวข้องหลายเล่ม รวมกับการคาดคะเนตามหลักฐานและร่องรอยเท่าที่ค้นได้แล้วลำดับไว้โดยสรุป ทั้งหมดจึงไม่ถือเป็นยุติ และแก้ไขได้เมื่อพบหลักฐานเพิ่มหรือประสบการณ์เปลี่ยนไปทำให้แนวคิดไม่เหมือนเดิม สำหรับบรรดาเอกสารที่ใช้เทียบเคียงมีดังนี้

(1) กฎมณเฑียรบาล เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ พบแต่ชื่อพระราชพิธี แต่ไม่พบรายการพิธีกรรม (2) ทวาทศมาส เดือน 3 พิธีส่ง “พระไพสพราช” มีตั้งพนมรวงข้าว พรรณนาเป็นโคลงดั้นราว 25 บท ไม่พบรายการพิธีกรรม (3) กาพย์ห่อโคลงเจ้าฟ้ากุ้ง เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ เรียก เผาข้าว พรรณนาเป็นกาพย์และโคลงอย่างละ 1 บท (4) คำให้การชาวกรุงเก่า เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ แต่ไม่พบรายการแสดงพิธี พบแต่พรรณนาเรื่องตรียัมพวาย ซึ่งน่าจะเกิดจากการสับสน (5) คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2549 (6) ตำราพระราชพิธีเก่า และตำราทวาทศพิธี เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์เผาข้าว พรรณนาโดยรวมการละเล่นเสี่ยงทายอย่างหนึ่งในพิธีเผาข้าว แต่ไม่บอกขั้นตอนพิธีทั้งหมด ส่วนเนื้อหาทั้ง 2 เล่ม มีตรงกันในสาระสำคัญแต่ต่างกันในรายละเอียด (7) นางนพมาศ เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ บอกอย่างย่อว่าเริ่มนวดข้าวแล้วมีการละเล่น มีสงฟางกองไว้เผา ตอนท้ายจุดไฟเผาฟางและซังข้าว (8) พระราชพิธีสิบสองเดือน เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ คือ เผาข้าว ร.5 ทรงบอกว่าพระเจ้าบรมโกศเสด็จนวดข้าวเป็นเรื่องเดียวกับเผาข้าว]

ธานย์เทาะห์ กับ “โหลี” ในอินเดีย

ธานย์เทาะห์ในอุษาคเนย์ไม่พบในอินเดีย แต่พบร่องรอยการเผาหุ่นใบไม้รูปเจ้าแม่ในพิธีโหลีของอินเดีย

“โหลี” เทศกาลสาดสีในอินเดียฉลองฤดูเริ่มการเพาะปลูก (ตามจันทรคติ) ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวมีนาคม) เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านสมัย “ก่อนฮินดู” (pre-Hinduism) เรียกวัน “โหลิกาทหนะ” แปลว่า เผาหรือฆ่านางโหลิกา (รุ่งขึ้นเล่นสาดสี) โดยทำหุ่นนางโหลิกาจากเศษไม้และใบไม้แล้วจุดไฟเผา ครั้นหลังเสร็จพิธีชาวบ้านนำเถ้าจากกองไฟมาแต้มหน้าผาก

[สรุปจากบทความเรื่อง “สงกรานต์ไม่มีสาดน้ำและไม่ได้มาจากโหลีเทศกาลสาดสีในอินเดีย” ของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) มติชน ฉบับวันพฤหัส 17 มีนาคม 2559 หน้า 13]

พราหมณ์เผาข้าวที่พัทลุง

พราหมณ์พัทลุงสืบเนื่องพิธีธานย์เทาะห์ แต่ออกเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ทานท่อ” ส่วนชาวบ้านเรียกพิธี “ลาซัง” เพื่อบูชาเทพยดาพระภูมินาไร่ ในพิธีจะเชิญแม่โพสพมาร่วม ครั้นส่งเทวดาทั้งหลายแล้วก็จุดไฟเผาซังข้าว ทุกวันนี้บางทีเผาตอยางของไม้ยางพร้อมไปด้วย เพื่อเตรียมเพาะปลูกครั้งใหม่ [คำบอกเล่าจาก คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563]

ข้าวสารดำ

ข้าวสารดำเป็นข้าวสารเมล็ดมีสีดำอันเกิดจากถูกไฟเผาข้าวเปลือกในพิธีเผาข้าว (หรือธานย์เทาะห์) พบเก่าสุดราวเรือน พ.ศ. 1000 (ปัจจุบันนิยมเรียกสมัยทวารวดี)

ข้าวสารดำพบในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่ง มีอายุราวหลัง พ.ศ. 1000 ได้แก่ เมืองอู่ตะเภา (อ. หนองแซง จ. สระบุรี), เมืองมโหสถ (อ. ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี), เมืองดงละคร (อ. เมือง จ. นครนายก), และหลายแห่งใน จ. ลพบุรี รวมทั้ง จ. พระนครศรีอยุธยา มีชื่อ “วัดข้าวสารดำ” เนื่องจากในเขตวัดพบข้าวสารดำจำนวนมาก [สุรพล นาถะพินทุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อ้างอยู่ในบทความเรื่อง ปริศนาข้าวสารดำ ของ กฤช เหลือลมัย. (2560). สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2563 จาก https://waymagazine.org/krit25/.]

ลานเผาข้าวเปลือก เผาข้าวเป็นพระราชพิธีของกษัตริย์รัฐโบราณในกัมพูชา เพราะเทวสถานสำคัญมีบริเวณ “ลานเผาข้าวเปลือก” เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเผาข้าวเปลือก (หลังฤดูเก็บเกี่ยว) พบหลักฐานขณะนี้อย่างน้อย 2 แห่ง (ตรวจสอบโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ดังนี้

1. จารึกสด๊กก๊อกธม 2 พ.ศ. 1595 (ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมัน 2) พบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม (จ. สระแก้ว) ระบุข้อความว่าทิศเหนือของเทวสถานมี “กระลาเผาข้าว” คือ ลานเผาข้าวเปลือก แต่ไม่บอกรายละเอียดเผาอย่างไร? แบบไหน?

2. จารึกปราสาทหินพระวิหาร 2 พ.ศ. 1664 (ของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2) พบที่ปราสาทพระวิหาร (กัมพูชา) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ถนนไปสู่ลานเผาข้าวเปลือก” แต่ไม่บอกรายละเอียดเผาแบบไหน? อย่างไร?

พิธีเผาข้าวเปลือก พบในพงศาวดารละแวก (อยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 71) พรรณนาพระราชพิธีเดือน 3 แผ่นดินพระศรีสุริโยพรรณ โดยสรุปว่าเอาข้าวเปลือกกองในพระราชวัง แล้วเอาฟางข้าวผูกเป็นรูปหุ่นปักไว้กับกองข้าว ต่อจากนั้นให้ขบวนแห่เวียนกองข้าว 3 รอบ เสร็จแล้วพราหมณ์ปุโรหิตกระทำพลีกรรมบวงสรวงบูชากองข้าวแล้วก็เผากองข้าวนั้น

[กัมพูชามีพระราชพิธีเดือนสามเผาข้าวบอกไว้ในพงศาวดารละแวก โดยสรุปดังนี้ “ — ให้เจ้าพนักงานเอาข้าวไปกองไว้ในพระราชวัง 5 กอง แล้วให้เอาฟางข้าวผูกเป็นรูปหุ่น 4 คน ปักไว้กับกองข้าว —” จากนั้นพรรณนากิจกรรมราชสำนัก ในที่สุดมีบอกตอนจบว่า “เจ้าพนักงานพราหมณ์ปุโรหิตกระทำพลีกรรมบวงสรวงบูชากองข้าว แล้วก็เผากองข้าวนั้นเสีย”]

ไม่เสด็จเผาข้าวและแรกนา

ก่อนมีพิธีเผาข้าวเดือน 3 ต้องเสร็จกิจกรรมอื่นแล้ว ได้แก่ เกี่ยวข้าว, นวดข้าว ฯลฯ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จนวดข้าว แต่ไม่เสด็จเผาข้าวและแรกนา (จะมีเดือน 6) เพราะเผาข้าวกับแรกนามีกำเนิดนับพันปีมาแล้วเกี่ยวข้องพิธีกรรมฆ่าคนบูชายัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์

พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปนวดข้าวนาหลวงที่ทุ่งหันตรา (อยู่ด้านตะวันออกนอกเกาะเมืองปัจจุบันใกล้ถนนสายเอเซีย) มีจดไว้ในคำให้การขุนหลวงหาวัด

พิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว กับพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ พระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จ แต่โปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ทำพิธีด้วยเหตุที่เผาข้าวเกี่ยวข้องความตายสืบเนื่องมาแต่ความเชื่อดั้งเดิมนานมากแล้ว ไมเคิล ไรท์ อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม [ปีที่ 20 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2542) หน้า 72-74] ดังนี้

“ชาวนาในสมัยโบราณทั่วโลกนับถือข้าวว่าเป็น “คน” ที่มีกำเนิด, เติบโต, ท้อง, แล้วตาย ชาวนาจึงต้องทำพิธีรับต้นกล้าเป็นลูก แล้วขอขมาที่เชือดลูกตอนเก็บเกี่ยวโดยทำบุญทำศพเยี่ยงคนด้วยกัน เพื่อขวัญข้าวจะได้กลับมาหาในปีหน้า

ที่ในงานแรกนาขวัญและงานเผาข้าว พระมหากษัตริย์ต้อง “หลีก” และแต่งตั้งกษัตริย์ชั่วคราวแทนพระองค์เพื่อ “รับเคราะห์” นั้น, น่าจะเป็นเพราะแต่เดิม (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) งานเหล่านี้ประกอบด้วยการฆ่าคนบูชายัญสร้างความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ที่เจริญในสมัยหลังๆ ไม่สามารถจะรับหรือร่วมงานได้, ทั้งๆ ที่ต้องมีพิธีนี้ไว้เพราะสำคัญสำหรับเกษตรกร”

3. เทวีข้าว และความอุดมสมบูรณ์

แม่โพสพเป็นเทวีข้าว มีความหมายโดยรวมว่าหญิงเป็นใหญ่มีอำนาจทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง ความเฮี้ยนเหล่านี้เกี่ยวข้องใกล้เคียงทั้งแม่โพสพ, แม่ศรี, แม่นาค (เอกสารบางแห่งเรียกนางนาค)

แม่โพสพ
แม่โพสพ (ซ้าย) ด้านหน้า (กลาง) ด้านข้างขวา (ขวา) ด้านข้างซ้าย [ลายเส้นจากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของ เสฐียรโกเศศ ใน ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่ม 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 76-84]

แม่ศรี ในวัฒนธรรมชวา, เขมร, ไทย

แม่ศรี เป็นเทวีข้าวมีอำนาจทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง มักพบในรัฐใกล้ทะเลที่มีการค้าเดินสมุทรกับดินแดนโพ้นทะเล ได้แก่ ชวา (อินโดนีเซีย), กัมพูชา, ไทย ฯลฯแต่ไม่พบบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบน เช่น อีสาน, ลาว เป็นต้น

นาม “แม่ศรี” น่าจะรับจาก “พระศรี” อีกพระนามหนึ่งของพระลักษมี ผู้ทรงเป็นชายาพระวิษณุ (พระนารายณ์) และเป็นที่รู้จักกันในอานุภาพของพระศรีว่าทรงเป็นผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภทั้งปวง ซึ่งมีความหมายที่รับรู้กันทุกรัฐว่า “เทวีข้าว”

เทวีศรี ทรงรวงข้าว ประติมากรรมฝีมือช่างชวาภาคตะวันออก อายุราว พ.ศ. 1600-1800 [ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ Tropen Museum ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Dewi_Sri#/media/File:COLLECTIE_TROPENMUSEUM_Beeld_van_Dewi_Sri_de_rijstgodin_TMnr_60016918.jpg)]
ในวัฒนธรรมชวา (อินโดนีเซีย) แม่ศรีถูกเรียกว่า “เทวีศรี” (Dewi Sri) เป็นเทวีข้าวและความอุดสมสมบูรณ์กับโชคลาภทั้งปวง พบหลักฐานเก่าสุดเป็นประติมากรรมรูปเทพนารีทรงถือรวงข้าว ฝีมือช่างแบบชวาภาคตะวันออก อายุราว พ.ศ. 1600-1800

เทวีข้าวสมัยดั้งเดิมของชวาคือ “เจ้าแม่ข้าว” เป็นผีพื้นเมือง ต่อมาหลังรับวัฒนธรรมอินเดียทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงผนวกเจ้าแม่ข้าวซึ่งเป็นผีพื้นเมืองรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระลักษมีแล้วเรียกเทวีศรี เมื่อทำรูปเคารพเทวีศรีก็ดัดแปลงจากรูปพระลักษมีในพระหัตถ์ทรงถือดอกบัวเป็นรูปเทวีศรีถือรวงข้าว
[เอกสารบรรยายเรื่องการเล่นทรงเจ้าเข้าผีในเทศกาลสงกรานต์ของ ผศ.ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) พ.ศ. 2562, และมีรายละเอียดในบทความเรื่อง “พระแม่โพสพและเทพีศรี ผีแม่ข้าวอุษาคเนย์ ที่ถูกบวชให้เป็นพราหมณ์” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2563 หน้า 76]

ในวัฒนธรรมเขมร (ก้มพูชา) แม่ศรีถูกเรียกด้วยคำเขมรดั้งเดิมที่มีก่อนแล้วว่า “เมสฺรี” (เม-เซฺร็ย) หมายถึงสตรีผู้เป็นใหญ่มีอำนาจ [เม แปลว่า หัวหน้า หรือผู้เป็นใหญ่, สฺรี แปลว่า หญิง คำกลายจาก สฺตฺรี (เสฺตฺร็ย)]

ต่อมารับคำในภาษาสันสกฤตว่า “ศรี” มีความหมายต่างๆ ได้แก่ (1.) สิริมงคลในพระนาม พระพุทธรูป หรือเจ้านาย (2.) พระลักษมี ชายาพระวิษณุ (3.) หมากพลู เป็นราชาศัพท์

“สฺรี” ในกัมพูชา กับ “ศรี” ในชวา น่าจะมีลักษณะทับซ้อนแล้วปะปนด้วยเหตุหลายอย่างตั้งแต่กัมพูชากับชวาเป็นที่รับรู้ทั่วไปของนักวิชาการนานาชาติว่ามีความสัมพันใกล้ชิดติดต่อแลกเปลี่ยนต่างๆ มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พบหลักฐานจำนวนมากทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ตั้งแต่ฝีมือช่างสลักลวดลายบนปราสาทจนถึงลัทธิเทวราช แล้วในที่สุดคำว่า ศรี มีอำนาจเหนือคำว่า สฺรี

ในวัฒนธรรมไทย แม่ศรีสืบทอดจาก เมสฺรี ในวัฒนธรรมเขมร (ผ่านรัฐละโว้) ดังนั้นย่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางเขียนได้ 2 อย่างคือแม่สี (แบบเขมร) กับแม่ศรี (แบบชวา) มีเล่นเข้าทรงแม่ศรีงานเลี้ยงผีหน้าแล้ง ต่อมานิยมเล่นเดือนเมษายนในสงกรานต์ (ชื่อสงกรานต์ขึ้นศักราชใหม่รับมาจากอินเดีย)

แม่ศรีกับแม่นาค (เอกสารเก่าเรียกนางนาค) ในความเชื่อของไทย รับมรดกตกทอดจากกัมพูชา (ผ่านรัฐละโว้) แต่งกายนุ่งโจงกระเบน (แบบเขมร) คล้ายกันหรือเหมือนกัน โดยเฉพาะ “ห่มผ้าสไบ ดอกไม้ห้อยหู “ ในการละเล่นดั้งเดิมมีคำร้องดังนี้

ร้องแม่ศรี มีว่า
“ดอกไม้ห้อยหู       สีชมพูห้อยบ่า
น้ำอบชุบผ้า          ห่มเวลาเย็นเอย”

ร้องนางนาค มีว่า
“จำป่าสองหูห้อย   สร้อยสังวาลแลมาลัย
ชมพูผ้าสไบ          เจ้าห้อยสองบ่าสง่างาม”

ชวา เจ้าสาวในพิธีแต่งงานถูกเรียกว่า“เทวีศรี” มีนิทานเรื่องเจ้าสาวกับเจ้าบ่าวเป็นทายาทพระยานาคราช

เขมร พิธีแต่งงานต้องมีทำขวัญเซ่นผีบรรพชนด้วย “บายศรี” (หมายถึงข้าวสุกของแม่ข้าว) มีนิทานว่าเจ้าสาวชื่อนางนาคเป็นธิดาพญานาคอยู่บาดาล

ไทย พิธีแต่งงานสมัยอยุธยามีพิธีทำขวัญด้วยเพลงนางนาค จากนั้นมีเพลงพระทอง (เจ้าบ่าว) พรรณนาการสมสู่กับนางนาค (เจ้าสาว) เป็นสัญลักษณ์การเกิดซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

บายศรี

บายศรีเป็นประเพณีพิธีกรรมในศาสนาผี หมายถึง ข้าวสุกแม่ข้าวเซ่นสังเวยผีฟ้า โดยใส่กระทงหรือกระบาน ต่อมาให้ความสำคัญแก่ภาชนะเหนือข้าวสุกโดยปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องใบตองเลียนแบบเครื่องสูงในพระราชพิธี หลังจากนั้นสร้างสรรค์เป็นรูปลักษณ์หลากหลายไกลออกไปจากข้าวสุกแม่ข้าวจนเกือบไม่เหลือความหมายเดิม

บายศรีมีต้นตอจากคำเขมรว่าบายสี หรือ บายสฺรี (บาย-เซฺร็ย) แปลว่า ข้าวสุกแม่ข้าว (บาย แปลว่า ข้าวสุก, สฺรี แปลว่า หญิง หรือสตรี)

ต่อมาคำว่า สฺรี ถูกกลืนจากคำว่า ศรี (ที่หมายถึง พระศรี คือ พระลักษมี) เลยสะกดว่าบายศรี

บายศรี คือ ข้าวสุกแม่ข้าว หรือข้าวขวัญ หมายถึง ข้าวสุกที่ได้จากข้าวเปลือกผ่านพิธีทำขวัญข้าวแล้ว แบ่งไปตำซ้อมเป็นข้าวสาร (ข้าวกล้อง) ทำให้สุกชุดแรกเรียกข้าวสุกเพื่อเซ่นผีฟ้า และด้วยเหตุข้าวสุกชุดนี้ได้จากข้าวเปลือกที่ผ่านพิธีทำขวัญ จึงเรียกข้าวสุกชุดนี้ว่าข้าวขวัญ

ข้าวสุกชุดแรกน่าจะเป็นข้าวในกระบอกไผ่ที่ถูกทำให้สุกด้วยการสุมไฟด้านนอกซึ่งปัจจุบันเรียกข้าวหลาม (ไม่มีกะทิ) น่าจะเป็นวิธีเก่าสุดทำข้าวสารให้เป็นข้าวสุก (หลาม หมายถึง ทำให้สุกภายในกระบอกไม้ไผ่เผาไฟหรือสุมด้วยไฟ)

กระทงหรือกระบานทำจากใบตองและกาบกล้วยเพื่อใส่ข้าวสุกแม่ข้าวหรือข้าวขวัญเซ่นสังเวยผีฟ้าพญาแถน ถูกทำให้วิจิตรพิสดารขึ้นตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองหลังรับวัฒนธรรมอินเดีย

[กระทง หมายถึง ภาชนะใส่สิ่งของเย็บด้วยใบตองหรือกาบกล้วย ต่อมาอาจทำด้วยวัสดุอื่นๆ (เช่น กระดาษ เป็นต้น) กระบาน (สะกดด้วย น. หนู) หมายถึงภาชนะใส่เครื่องเซ่นสังเวยคล้ายกระทง, กระบะ ฯลฯ ทำจากกาบกล้วยพับหักมุมเป็นสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมก็ได้ โดยใช้ไม้ตอกเส้นเสียบขัดแน่นเป็นตารางยึดติดกัน แล้วปูด้วยใบตองรองรับเครื่องเซ่นสังเวยใส่ตามช่องตารางในกระบาน (คนละอย่างจาก “กระบาล” สะกดด้วย ล.ลิง มาจากภาษาเขมร) แปลว่า หัวกระโหลก)]

(ซ้าย) บายศรีดั้งเดิมเริ่มแรกความสำคัญอยู่ที่ข้าวสุก หรือข้าวสารก็ได้ (ในภาพ) พร้อมไข่ต้มใส่พานน้อยตั้งข้างบน ส่วนพานใหญ่ข้างล่างมีข้าวต้มมัดกับกล้วย วางบนพานซ้อนกันอย่างง่ายๆ (ภาพบายศรีบ้านหนองขอน จ. อุบลราชธานี จากหนังสือ ของ William J. Klausner Reflections One Year in an Isaan Village Circa 1955 Bangkok: Siam Reflections Publications Co, Ltd. 2000 Page 144. อนุเคราะห์ภาพก๊อปปี้โดย ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ จ. กาฬสินธุ์)
(ขวา) กระบานผี หรือกระทงกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม ใบตองรองพื้น แล้วมีห้องกั้นเล็กๆ สำหรับใส่เครื่องเซ่นสะเดาะเคราะห์ให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้แก่ ข้าวขาว, ข้าวดำ, ข้าวแดง ฯลฯ ที่สำคัญคือปั้นดินเหนียวรูปคนและสัตว์ เช่น วัว, ควาย ที่มีในครอบครัวเป็นตัวแทนของครอบครัวนั้นๆ [ปัจจุบันถ้าหาดินเหนียวไม่ได้ หรือไม่อยากเลอะมือปั้น ก็ใช้ดินน้ำมัน หรือซื้อตุ๊กตาสำเร็จรูป ภาพจากบุญกลางบ้าน (จัดที่โรงเรียนวัดหน้าพระธาตุ) ต. เนินพระธาตุ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี เมื่อเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 ภาพโดย นราธิป ทองถนอม]

หลังติดต่ออินเดีย

หลังติดต่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วรับวัฒนธรรมอินเดีย มีความเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม กระตุ้นบายศรีมีประเพณีต่างกัน 2 ระดับที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกัน ได้แก่ ระดับชาวบ้าน กับ ระดับราชสำนัก

ชาวบ้าน บายศรีสืบทอดประเพณีข้าวสุกแม่ข้าวเซ่นผีฟ้าใส่ภาชนะทำจากกาบกล้วยและใบตอง โดยเน้นที่ข้าวสุกแม่ข้าว

ราชสำนัก พัฒนาภาชนะที่เป็นกระทงหรือกระบานผี ทำจากใบตองและกาบกล้วย ให้เป็นเครื่องใบตองเลียนแบบฉัตรรวงข้าว (เครื่องสูง) ที่มีในพระราชพิธีธานย์เทาะห์หรือเผาข้าว ซึ่งพบในเอกสารว่า “ฉัตรอันทำด้วยรวงข้าว” (คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

ครั้นนานไปบายศรีได้รับยกย่องเป็นเครื่องแสดงฐานะและอำนาจ จึงให้ความสำคัญแก่ภาชนะอยู่เหนือข้าวสุกแม่ข้าว เลยสร้างสรรค์เครื่องใบตองเป็นรูปลักษณ์หลากหลายไกลออกไปจากความหมายเดิม กระทั่งบางทีไม่เหลือความหมายเดิม โดยไม่ให้ความสำคัญข้าวสุก หรือมีข้าวสุกด้วยแต่แยกภาชนะต่างหาก หรือแปรสภาพเป็นข้าวต้มมัดก็มี

บายศรีปัจจุบันหมายถึงเครื่องเชิญขวัญทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงซ้อนขึ้นเป็นชั้นๆเรียงจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็กตามลำดับ โดยมีต่างกันหลายแบบ เช่น บายศรีใหญ่, บายศรีปากชาม เป็นต้น พบกลอนพรรณนาในเพลงยาวรำพันพิลาป ของสุนทรภู่ แสดงความเปรียบว่าตนตกยากเหมือนบายศรีเสร็จงานก็เป็นแค่ใบตอง

เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม   เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา  ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง

เครื่องบูชา เสมาหินอีสานมีภาพสลักเ็นภาชนะรูปหม้อ ซึ่งมีกรวยสูงครอบปากหม้อ น่าจะเป็นต้นแบบทุกวันนี้เรียกกระทงบูชาทำจากใบตอง [จากบทความเรื่อง “จารึกใบเสมาบ้านพันนา” โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (มี.ค.-เม.ย.) 2550 หน้า 52-57]
ร่องรอยหลักฐานเหล่านี้น่าจะมีพัฒนาการต่อไปเป็นเครื่องสูงต้นแบบบายศรี (หนังสือ ทวารวดีในอีสาน ของ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558)

(ซ้ายบน) บายสี ในนิทานเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม ฮูปแต้มในสิมวัดบ้านยาง ต. ยาง อ. บรบือ
จ. มหาสารคาม (ภาพจากหนังสือ สู่ขวัญ : คน สัตว์ พืช และสรรพสิ่งในเอกสารใบลานอีสาน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 หน้า 108)
(ซ้ายล่าง) บายสี ฮูปแต้มวัดโพธาราม บ้านดงบัง ต. ดงบัง อ. นาดูน จ. มหาสารคาม (ภาพจากหนังสือ สู่ขวัญ : คน สัตว์ พืช และสรรพสิ่งในเอกสารใบลานอีสาน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 ปกหลัง)
(ขวา) บายสีสู่ขวัญ กัณหา-ชาลี ฮูปแต้มวัดเลไลย์ บ้านหนองพอก ต. ดงบัง อ. นาดูน
จ. มหาสารคาม (ภาพจากหนังสือ สู่ขวัญ : คน สัตว์ พืช และสรรพสิ่งในเอกสารใบลานอีสาน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 ปกหน้า)

หมายเหตุ
เคยเขียนหลายครั้งอย่างง่ายๆ คล้ายสารคดีเชิงวัฒนธรรมแต่ผิวเผิน และไม่เข้าถึงข้อมูลหลักฐานแท้จริงเรื่องพิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว กระทั่งครั้งหลังสุดในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน -11 ธันวาคม พ.ศ. 2558) เมื่อทบทวนอีกทีก็รู้ว่าข้อมูลไม่ครบถ้วนทำให้คำอธิบายหละหลวมบกพร่อง เมื่อสำรวจพบหลักฐานใหม่แล้วทำความเข้าใจเพิ่มจึงต้องปรับปรุงแก้ไขในคราวนี้ (เมษายน-พฤษภาคม 2563)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2567