ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อปี 2509 คณะสำรวจโบราณคดีกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยฮาวาย ทำการขุดค้นที่โนนนกทา ต. บ้านโคก อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบที่นี้ แสดงว่า พื้นที่เมืองไทย “ทำนาปลูกข้าว” มาแล้วประมาณ 5,500 กว่าปี ก่อนการปลูกข้าวที่จีนหรืออินเดียราว 1,000 ปี ทั้งเป็นการสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ข้าวเริ่มปลูกในเอเชียอาคเนย์ในสมัยหินใหม่ ก่อนแพร่ขึ้นไปสู่อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี
หนึ่งในหลักฐานโบราณคดีสำคัญที่สุด ได้แก่ “รอยแกลบข้าว” ซึ่งติดอยู่ที่เศษเครื่องปั้นดินเผาใต้หลุมศพ หาอายุโดยตรวจคาร์บอน 14 ได้อย่างน้อยที่ 3,500 ปีก่อน ค.ศ. แกลบของเมล็ดข้าวดังกล่าวเป็นข้าวที่คนปลูก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa ข้าวพวกนี้แยกออกเป็น 2 พันธุ์ใหญ่ คือ
1. อินดิคา (Indica) เป็นข้าวขึ้นในแถบร้อน ต้นมักจะสูง ฟางอ่อน เมล็ดมักยาว เป็นข้าวที่ปลูกกันในไทย ประเทศใกล้เคียง และทั่วไปในแถบร้อน
2. จาปอนนิคา (Japonica) ปลูกกันในญี่ปุ่น เกาหลี บางส่วนของไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีน และทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เมล็ดป้อม ต้นเตี้ย ฟางแข็ง เมื่อหุงต้มเมล็ดจะไม่ร่วน มักจะติดกันค่อนข้างแข็ง
พ.ศ. 2510 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Tottor และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เริ่มต้นศึกษาวิจัยแกลบข้าวจากแผ่นอิฐโบราณในไทย 108 แห่ง จาก 39 จังหวัดทั่วทุกภาคของไทย ใช้เวลา 3 ปี (พ.ศ. 2510-2512)
การวิจัยแบ่งได้เป็น 4 ระยะคือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16, ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-20, ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 และระยะหลังพุทธศตวรรษที่ 23 ส่วนข้าวที่พบในแผ่นอิฐจากประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ข้าวเมล็ดป้อม, ข้าวเมล็ดใหญ่ และข้าวเมล็ดเรียว ผลการวิจัยปรากฏว่า
1. ก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 มีข้าวเมล็ดป้อมมาก รองลงมาได้แก่ข้าวเมล็ดใหญ่ ข้าวเมล็ดเรียวพบบ้างโดยพบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่พบข้าวเมล็ดเรียวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
2. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-20 ก็ยังพบข้าวเมล็ดป้อมอยู่เช่นสมัยก่อน ข้อที่น่าสังเกตคือ ข้าวเมล็ดเรียวกลับทวีจำนวนมากขึ้น พบอยู่ทั่วประเทศ ส่วนเมล็ดข้าวใหญ่กลับมีจำนวนลดน้อยลง
3. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 ข้าวเมล็ดป้อมพบกระจายทั่วไป ส่วนข้าวเมล็ดเรียวกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะที่ราบภาคกลาง ส่วนข้าวเมล็ดใหญ่กลับมีจำนวนลดลง
4. ระยะหลังพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา ข้าวเมล็ดเรียวพบมากที่สุด มีผู้นิยมปลูกข้าวเมล็ดเรียวกันอย่างมากในที่ราบภาคกลาง ส่วนข้าวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่กลับไปปลูกกันเฉพาะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สรุปได้ว่า “ข้าวเมล็ดป้อม” ปลูกกันอยู่ทั่วไปกว่า 1,000 ปี ก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 ข้าวพันธุ์นี้คล้ายพันธุ์จาปอนนิคา หลังพุทธศตวรรษที่ 23 คงพบปลูกมากอยู่ที่ภาคเหนือ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หายไปจากภาคกลาง ข้าวเมล็ดป้อมนี้น่าจะได้แก่ “ข้าวเหนียว” ที่งอกงามในที่ลุ่ม (the glutinous–lowland variety)
ส่วน “ข้าวเมล็ดใหญ่” พบอยู่ทั่วไป เมื่อพุทธศตวรรษที่ 20 มีจำนวนลดน้อยลง โดยเฉพาะในภาคกลางเกือบสูญพันธุ์ จากแผนที่แสดงชั้นสูง (contour map) ของไทยพบว่า ข้าวเมล็ดใหญ่งอกงามอยู่ตามภูเขาหรือที่ราบสูง ที่ภาคเหนือปลูกข้าวเหนียวที่งอกงามได้ในที่สูงมาก ข้าวเมล็ดใหญ่นี้ก็น่าจะเป็น “ข้าวเหนียว” ที่งอกงามในที่สูง
“ข้าวเมล็ดเรียว” นั้น เมื่อก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 ปรากฏว่ามีผู้ปลูกข้าวเมล็ดเรียวกันในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางปลูกมากกว่าที่อื่น ในภาคกลางข้าวเมล็ดเรียวก็เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้าวเมล็ดเรียวนี้ได้แก่ “ข้าวเจ้า”
ส่วนการ “ทำนาปลูกข้าว” ในประเทศไทย มีมาแล้วกว่า 5,000 ปี
สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) มีการปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่
สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-18) ที่ภาคใต้มีการปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและข้าวเจ้า
สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16-19) ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่กับข้าวเจ้า ภาคกลางนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก และปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น
สมัยเชียงแสน (พุทธศตวรรษที่ 17-25) ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาวกับข้าวเจ้า ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าข้าวเหนียว
สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20) ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก ข้าวเหนียวเมล็ดยาวมีบ้าง เริ่มปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น
สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310) ตอนต้น ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม ข้าวเหนียวเมล็ดยาวมีบ้าง เริ่มปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมบ้าง ข้าวเหนียวเมล็ดยาวเกือบสูญพันธ์ุ แต่ข้าวเจ้านิยมปลูกมากขึ้นหลายเท่า
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้าวสวย ทำไมต้องเรียกเช่นนี้ และความหมายที่ควรจะเป็นคืออะไร
- ขนม ความสัมพันธ์ ข้าวเหนียว-ข้าวเจ้า กับขนมไทยโบราณ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี. “ข้าว: จากหลักฐานโบราณคดีในไทย” ข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม, สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม 2531.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2567