ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิด “สินค้าสำคัญจีน-สยาม” สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอะไรบ้าง?
ย้อนไปเมื่อ 170 กว่าปีและก่อนหน้านั้น การค้าสำเภาระหว่างจีน-สยาม รุ่งเรืองอย่างมาก เป็นไปในรูปแบบที่เรียกได้ว่าสนิทแน่นแฟ้น มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่าง 2 ชาติ ทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

“สินค้าสำคัญจีน-สยาม” ยุครัชกาลที่ 1-3
ในหนังสือ “การค้าทางเรือสำเภา จีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์” โดย เจนนิเฟอร์ เวย์น คุชแมน (Jennifer Wayne Cushman) ที่เจาะลึกถึงการค้าสำเภาระหว่าง 2 ชาติอย่างละเอียด ระบุถึงสินค้าสำคัญจีน-สยาม ว่า
สินค้าของสยามซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของชาวจีนในศตวรรษที่ 19 และมีการส่งออกไปที่นั่นอย่างสม่ำเสมอ คือ ข้าว, ฝ้าย, พริกไทย, รง (ยางไม้จากต้นรง), ครั่ง (สกัดออกมาจากตัวครั่ง), น้ำตาล, ไม้ฝาง, ไม้แดง, ไม้กฤษณา, กระวาน, ดีบุก และหนังสัตว์
แม้ว่าสินค้าบางอย่างในจำพวกนี้ เช่น ดีบุก, กระวาน, ไม้กฤษณา จะมีราคาสูงเมื่อเทียบกับน้ำหนัก แต่ก็ส่งออกไปจีนผ่านการค้าสำเภาเป็นจำนวนเล็กน้อยและเพียงครั้งคราวเท่านั้น ต่างจากสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ส่งออกไปในปริมาณมาก อย่าง ข้าว, พริกไทย, ฝ้าย, น้ำตาล เป็นต้น

สินค้าส่งออกของสยามไปจีน ระหว่าง ค.ศ. 1800-1850 (พ.ศ. 2343-2393) ซึ่งอยู่ในยุครัชกาลที่ 1-3 เท่าที่ปรากฏหลักฐาน มีดังนี้
เปลือกไม้โกงกางพลอง, กำยาน, หมาก, กะปิ, กระดูกสัตว์, กระวาน, ฝ้าย, เบาะและเสื่อ, ปลา, รง, หนังสัตว์, งาช้าง, พริกไทยดำ, ข้าว, รองเท้า (แบบจีน), น้ำตาล, ดีบุก, ไม้กฤษณา, มะเกลือ, แดง, จันทน์, ฝาง
จำเพาะไปที่รายการสินค้าบนเรือสำเภาหลวงของสยาม จำนวน 4 ลำ ที่เดินทางไปยังจีน เมื่อ ค.ศ. 1844 (พ.ศ. 2387) สมัยรัชกาลที่ 3 มีสินค้าดังนี้
ไม้ฝาง, พริกไทย, ไม้แดง, ไม้พลอง, ครั่ง, ดีปลี, น้ำตาลทรายแดง, ดีบุก, นอแรด, กระวาน, หมากแห้ง, หางเสือเรือ, สมอเรือ, ไม้ประดู่ (ไม้จันทน์แดง) รวมน้ำหนักทั้งหมด 31,223.35 หาบ คิดเป็นมูลค่า 103,332 บาท
ส่วนสินค้าส่งออกของจีนมาสยาม ระหว่าง ค.ศ. 1800-1850 (พ.ศ. 2343-2393) หลักๆ มีดังนี้
ของไหว้เจ้าและใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ (กระดาษทอง แผ่นทองคำเปลว ดอกไม้เทียม ฆ้อง ธูป ธูปหอม), เครื่องเคลือบจีน (จาน หม้อ ชาม ฯลฯ), ภาชนะที่ทำด้วยทองแดง ทองเหลือง, จานเครื่องครัว, ผ้าดำ (เสื้อตัวยาวถึงเท้าทำแบบจีน), เครื่องปั้นดินเผา (ชาม ขวด ไห ฯลฯ)
พัด ทำด้วยกระดาษและทำด้วยงาช้าง, อาหารแห้งและอาหารดอง, เครื่องแก้ว, เครื่องโลหะ (เครื่องครัว เครื่องมือ ตะเกียง ฯลฯ), ผ้าฝ้ายสีเหลืองอมน้ำตาลที่ทนทาน, กระดาษ, สินค้าที่ทำด้วยไหมเป็นชิ้น, หิน/กระเบื้องมุงหลังคา/เสาหิน, ของเล่น, ร่ม, สินค้าเบ็ดเตล็ด เป็นต้น
เห็นได้ว่า สินค้าที่จีนส่งออกมาสยาม ไม่ได้มุ่งขายให้กลุ่มบุคคลชั้นสูงชาวสยามเพียงเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวสยามทุกระดับชั้น รวมทั้งชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในสยามด้วย
อย่างไรก็ตาม การค้าสำเภาระหว่างจีน-สยาม ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ระหว่างสยามกับอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1855 (2398) กระทั่งต่อมาการค้าสำเภาซบเซา และค่อยๆ หายไปในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- โมเดลสามโลกในสมัยราชวงศ์หมิง แล้วสยามอยู่ในโลกไหน?
- “จิ้มก้อง” การค้าพาณิชย์ “ไทย-จีน” สร้างรายได้มหาศาลในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
- รัชกาลที่ 4 รับสั่ง “จิ้มก้อง” ที่ยืนยาวมาได้เพราะมีพวกเห็นแก่ “กําไร”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คุชแมน เจนนิเฟอร์ เวย์น. ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, แปล. การค้าทางเรือสำเภา จีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2568.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2568