
ผู้เขียน | เกรียงศักดิ์ ดุจจานุทัศน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตามรอยการกำเนิดอนุสาวรีย์ชาวญี่ปุ่น หรือ “อนุสาวรีย์ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นรุ่นเเรก” ณ วัดเเก่งคอย จังหวัดสระบุรี กับ “ผู้อพยพญี่ปุ่น” รุ่นแรกในสยาม โศกนาฏกรรมที่ถูกลืม
ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรืออาจนานกว่านั้น
มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย บ้างถูกจดจำ บ้างถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา และหนึ่งในเหตุการณ์ที่อาจจะถูกลืมไปแล้ว คือเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด ที่นำมาสู่การก่อกำเนิดของ “อนุสาวรีย์ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นรุ่นเเรก”
ที่มา “อนุสาวรีย์ชาวนาญี่ปุ่น”
อิชิอิ โยเนะโอะ และโยชิกาวะ โทชิฮารุ เขียนถึงเรื่องราวของโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าของชาวนาญี่ปุ่นในสยาม อันเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นรุ่นเเรกไว้ในหนังสือ “ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 600 ปี” โดยเรียบเรียงเรื่องราวและรายละเอียดต่าง ๆ ของเหตุการณ์นี้เอาไว้
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะ “ระบายพลเมือง” ซึ่งเป็นแนวความคิดที่จะอพยพพลเมืองชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศ มีบริษัทต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย เพื่ออพยพชาวญี่ปุ่นที่มีประสงค์จะออกนอกประเทศให้สมความปรารถนา เช่น บริษัทคิชิสะการอพยพ และ สมาคมการอพยพ เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการอพยพชาวญี่ปุ่นไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่สยาม หรือก็คือ “บริษัทอพยพญี่ปุ่น – สยาม”
ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นจำนวน 52 คน จากจังหวัดยามากุชิ ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894 ) เพื่อเดินทางมาตั้งรกรากทำการเกษตรในสยาม
แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสัญญากับบริษัทผู้อพยพญี่ปุ่น – สยาม ทำให้บางคนที่พอมีเงินเหลือติดตัวอยู่บ้าง เลือกที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศสิงคโปร์ อีก 7 คนเดินทางไปเป็นกรรมกรก่อสร้างทางรถไฟสายโคราช และอีก 15 คนได้เดินทางไปภูขนองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นกรรมกร การทำเกษตรที่ตั้งใจไว้แต่แรกจึงถูกยกเลิกไป
เวลาผ่านไปจนถึงเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ชาวนาญี่ปุ่นที่ไปภูขนอง ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ อย่างกระทันหัน จำนวน 4 คน โดยมีลักษณะ ผอมเเห้ง หน้าตาซูบซีด ท่าทางอ่อนเเรง
ซึ่งพอถูกถามทั้งสี่คนก็เล่าสาเหตุให้ฟังว่า ทุกคนเป็นไข้ป่า (อาจเป็นไข้มาเลเรีย) บางคนก็ตาย บางคนที่เหลือกำลังนอนรอความตายอยู่
เเม้บริษัท ผู้อพยพญี่ปุ่น-สยาม จะส่งคนไปช่วยเหลือ เเต่ก็สายเกินไป ทุกคนเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้เเล้ว และชาวนาญี่ปุ่นที่เดินทางกลับมากรุงเทพฯ 2 คน ก็ร่างกายทรุดโทรมลงมาก เเละเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากโรคอหิวาต์
สาเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าวถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา โดยในช่วงเเรกนั้น มีข่าวลือว่าเกิดจากการกลั่นเเกล้งของ เอลี เดอเบส ผู้คุมเหมืองเเร่ชาวฝรั่งเศส เเต่เมื่อเดอเบสเเละผู้มีชีวิตรอดเข้าพบ นายอิชิบาชิ ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัท เเละได้พูดคุยกัน จึงได้ข้อสรุปของเหตุการณ์
โดยแท้จริงแล้ว เดอเบสเป็นห่วงคนงานญี่ปุ่นในการรับประทานอาหาร เพราะชาวญี่ปุ่นมักกินอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ จึงได้เเบ่งอาหารจำพวกเนื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ให้เเก่กรรมกรชาวญี่ปุ่น เเต่ชาวญี่ปุ่นกลับไม่กิน เเละเอาไปเเลกเป็นเงินจากชาวบ้านเเทน ถึงอย่างนั้น เดอเบสก็ยังเเบ่งยาบำรุงให้คนงานชาวญี่ปุ่นกินเป็นประจำ เเต่ก็ยังเจ็บไข้อยู่เสมอ จนกระทั้งเดอเบสเดินทางมากรุงเทพฯ จึงได้ชักชวนชาวญี่ปุ่นให้มาด้วย เเต่ถูกปฏิเสธเพราะเสียดายค่าเดินทาง
อาจกล่าวได้ว่า ชาวนายากจนในยุคเมจิแต่ละคนนั้น คิดเเต่จะเก็บเงินท่าเดียว ถึงเเม้จะเพียงน้อยนิดก็ยังสะสมไว้เพื่อนำกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตน ด้วยความคิดเช่นนี้ เเทนที่ผลจะสวยงามอย่างที่พวกเขาวาดฝันเอาไว้ เเต่กลับกลายเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสำหรับพวกเขาเเทน
โศกนาฏกรรมนี้ส่งผลให้บริษัท ผู้อพยพญี่ปุ่น – สยาม ต้องปิดตัวลงไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เราสามารถระลึกถึงพวกเขาได้ โดยการหาโอกาสไปเยี่ยมเยียนอนุสาวรีย์ของพวกเขา คือ “อนุสาวรีย์ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นรุ่นเเรก” ณ วัดเเก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาเหล่านั้นทิ้งชีวิตเอาไว้
อ่านเพิ่มเติม :
- เกิดอะไรขึ้นในญี่ปุ่น หลังจากมีการนำเข้า “ผักตบชวา” มาปลูก ?!?
- พลับพลึงแดง “ฮิกังบานะ” มรณะสีชาด ดอกไม้แห่งความตายของคนญี่ปุ่น
- “โกโบริ” คือคนทรยศชาติในสายตา “ชาวญี่ปุ่น” จากระบบ “หนี้บุญคุณ” แดนซามูไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“ชาวญี่ปุ่นในสมัยเมจิที่เดินทางมาไทย ตอนที่ 1 ความล้มเหลวสองครั้งในการอพยพชาวนาญี่ปุ่น”. หนังสือ “ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 600 ปี”. โดย อิชิอิ โยเนะโอะ และ โยชิกาวะ โทชิฮา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2558