เหตุใด “อังกฤษ” ชาติมหาอำนาจ ถึงไม่มีบทบาทสมัยกรุงศรีอยุธยา?

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา กบฏบุญกว้าง อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ ไม่มีบทบาทสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาแรงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีชาวอังกฤษอย่าง เฮนรี เบอร์นีย์ (Henry Burney) เป็นตัวแทนรัฐบาลอังกฤษเข้ามาทำสนธิสัญญากับสยาม เปิดโอกาสให้พ่อค้าจากสหราชอาณาจักรหลายรายเข้ามาทำการค้า อย่าง โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) ที่ชาวสยามเรียกติดปากว่า “นายห้างหันแตร” พ่อค้าต่างชาติผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค

แต่ถ้าย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ กลับแทบไม่ปรากฏบทบาทใดๆ เลย ต่างจากชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น ดัตช์ ฝรั่งเศส เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ภาพวาด กรุงศรีอยุธยา อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ
ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา ค.ศ. 1681 (พ.ศ. 2224) สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

กำพล จำปาพันธ์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในผลงาน “มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับฝรั่งชาติอื่น อังกฤษเป็นชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาในช่วงยุคเดียวกับดัตช์หรือฮอลันดา แต่อังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ยังไม่ใช่ชาติมหาอำนาจใหญ่โตเหมือนในคริสต์ศตวรรษที่ 19

สำนักงานใหญ่ EIC อีสต์อินเดียตะวันออก 14 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์ อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ
สำนักงานใหญ่ของ EIC ที่อังกฤษ (ภาพวาดสีน้ำ โดย โธมัส มอลตัน เดอะ ยังเกอร์ (Thomas Malton the Younger) ใน Wikimedia Commons)

บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Company) หรือ EIC ที่กัมพูชา ได้ย้ายมาตั้งที่กรุงศรีอยุธยา หลังจากเวียดนามเข้ายึดกรุงละแวกของกัมพูชาได้ แต่การค้าของอังกฤษในอยุธยาไม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ถึงขั้นล้มเหลวจนต้องปิดกิจการ

ไม่เพียงเท่านั้น อังกฤษยังกระทบกระทั่งกับราชสำนักอยุธยา จนถึงกับประกาศสงครามต่อกัน แต่ก็ไม่ปรากฏการสู้รบรุนแรง เป็นเพียงการประกาศสถานะความสัมพันธ์ขั้นวิกฤต

ต่อมา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อยุธยาพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอังกฤษ โดยราชสำนักได้ให้กู้ยืมเงินลงทุนทำการค้า แต่อังกฤษก็ล้มเหลวอีก จนต้องถอนตัวออกจากอยุธยาโดยสิ้นเชิง

ชาติตะวันตกที่เราพอจะคุ้นกันดีในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา จึงเป็นดัตช์และฝรั่งเศสมากกว่านั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2568