เปิดความต่างสนธิสัญญาเบอร์นีย์ และ สนธิสัญญาเบาว์ริง

เบอร์นีย์-เบาว์ริง
เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring)

เปิดความต่างและผลกระทบ 2 สนธิสัญญา “เบอร์นีย์-เบาว์ริง” ที่สยามทำกับอังกฤษ 

สนธิสัญญาเบอร์นีย์ (Burney Treaty) และสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty) สองสนธิสัญญาที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ส่งผลกระทบต่อการค้า-ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) บางคนอาจจำชื่อสนธิสัญญาสลับสับสน ดังนั้น เรามาดูความแตกต่างระหว่างสองสัญญานี้กัน

สนธิสัญญาเบอร์นีย์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

สนธิสัญญาเบอร์นีย์ เป็นสนธิสัญญาที่สยามตกลงลงนามกับอังกฤษเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมี ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ (Henry Burney) นักการทูตอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เป็นผู้แทนเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญา หลังจากที่ จอห์น ครอว์ฟอร์ด (John Crawfurd) ทูตอังกฤษคนแรก เข้ามาเจรจาสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แต่ไม่สำเร็จ

สนธิสัญญาเบอร์นีย์นับเป็นสัญญาพระราชไมตรี-พาณิชย์ฉบับแรก ที่สยามทำกับประเทศตะวันตกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 

เนื่องจากในช่วงเวลานั้น อังกฤษกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในพม่า ซึ่งอังกฤษได้เข้ายึดครองดินแดนบางส่วน และการขยายตัวของอังกฤษในพม่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สยามต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอังกฤษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

สนธิสัญญาเบอร์นีย์มุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีและขยายการค้าเป็นหลัก มีข้อตกลงที่น่าสนใจดังนี้…

สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ฉบับภาษาไทย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (ภาพจาก : wikicommon)

1. ทั้งสองประเทศตกลงที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะไม่คิดร้ายหรือแย่งชิงดินแดนของกันและกัน หากเกิดคดีความในอาณาเขตของสยาม ผู้กระทำผิดจะต้องถูกตัดสินตามกฎหมายสยาม และชาวอังกฤษต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีสยามทุกประการ

พ่อค้าอังกฤษ รวมถึงผู้บังคับการเรือ นายเรือ และลูกเรือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสยาม หากเกิดความผิด เช่น การฆาตกรรมโดยเจตนา ผู้กระทำผิดจะถูกประหารชีวิต ส่วนความผิดอื่น ๆ จะถูกปรับ โบย หรือจำคุกตามกฎหมาย

2. ในด้านการค้าระหว่างประเทศ เรือของชาวอังกฤษหรือชาวเอเชียใต้บังคับบัญชาของอังกฤษที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสยามทุกประการ ไม่สามารถนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกนอกประเทศได้

3. มีการควบคุมสินค้าอาวุธ หากเรือนำอาวุธ เช่น ปืน กระสุน หรือดินดำเข้ามา จะต้องขายให้รัฐบาลไทยเท่านั้น และหากรัฐบาลไม่ต้องการ ต้องนำออกไป

4. มีเสรีภาพในการค้า ทั้งพ่อค้าอังกฤษและสยามสามารถซื้อขายสินค้าอื่น ๆ นอกจาก ข้าวและอาวุธยุทธภัณฑ์ ได้อย่างเสรี

5. รัฐบาลสยามสามารถเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษตามความกว้างของปากเรือ

ต่อมาในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 สยามกลับมาใช้นโยบายผูกขาดอีกครั้ง ชี้ให้เห็นว่าสยามจำกัดขอบเขตการเข้ามาของตะวันตก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเบอร์นีย์ ทำให้อังกฤษเกิดความไม่พอใจ จนนำไปสู่การเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริงใน พ.ศ. 2398

สนธิสัญญาเบาว์ริง

เซอร์ จอนห์เบาริ่ง ผู้มีส่วนสำคัญในการทำสัญญาเบาริ่ง ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพ วัดปทุมวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ผู้มีส่วนสำคัญในการทำสัญญาเบาริ่ง ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพ วัดปทุมวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สนธิสัญญาเบาว์ริง ลงนามเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดย เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษ เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอังกฤษในการขยายการค้าเสรีในเอเชีย หลังจากประสบความสำเร็จในการบังคับให้จีนทำข้อตกลงคล้าย ๆ กับสงครามฝิ่น

ข้อตกลงนี้มุ่งเน้นไปที่การค้าเสรีระหว่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีข้อตกลงที่น่าสนใจดังนี้

1. สนธิสัญญานี้เปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ยกเลิกการผูกขาดการค้าของรัฐ มีสินค้าสำคัญ อย่าง ข้าว น้ำตาล และไม้สัก โดยพ่อค้าต่างชาติสามารถเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้อย่างไม่จำกัด

2. นำเข้าฝิ่นได้ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้การควบคุมของอังกฤษ

3. ให้สิทธิพิเศษแก่พลเมืองอังกฤษ มีการยกเว้นจากอำนาจตุลาการของสยามและการตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯ ชาวต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลสยาม แต่ต้องขึ้นศาลกงสุลแทน ทำให้สยามสูญเสียอำนาจในการควบคุมกระบวนการยุติธรรมในประเทศ

4. ชาวอังกฤษสามารถเช่าหรือซื้อที่ดินในพระนครได้ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า

5. มีการกำหนดอัตราภาษีขาเข้าสินค้าทุกชนิดที่ร้อยละ 3 และยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือ

อย่างไรก็ตาม แม้สนธิสัญญานี้จะช่วยรักษาอิสรภาพของสยามในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อวิจารณ์ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่สมดุล เนื่องจากเอื้อประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของอังกฤษมากกว่าสยามประเทศ

ความแตกต่างระหว่างสนธิสัญญาเบอร์นีย์-เบาว์ริง

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสองสนธิสัญญานี้ คือ ระดับความเปิดกว้างในการค้าขายและการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวอังกฤษ 

สนธิสัญญาเบอร์นีย์เน้นการรักษาสถานะดั้งเดิมของสยาม และยังคงมีข้อจำกัดในการค้า ขณะที่สนธิสัญญาเบาว์ริงมุ่งเปิดเสรีการค้า และให้สิทธิพิเศษแก่ชาวอังกฤษมากขึ้น ส่งผลให้อังกฤษสามารถเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตสยามได้มากขึ้น

ทั้งสองสนธิสัญญาจึงมีบทบาทสำคัญในการเปิดประตูให้ชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสยาม และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวในยุคที่การค้าและการทูตกับตะวันตกกำลังเข้มข้นขึ้น 

การลงนามในข้อตกลงทั้งสองฉบับ คือ เบอร์นีย์-เบาว์ริง จึงเป็นการปูทางให้สยามสามารถรักษาอิสรภาพทางการเมืองในระยะยาว แต่ก็ต้องแลกกับการต้องยอมรับการแทรกแซงจากประเทศตะวันตกที่มีอิทธิพลในอุษาคเนย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทย กับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย. ออนไลน์.

ไทยเปิด “ตลาดเสรี” ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง. ออนไลน์.

อดิสร หมวกพิมาย. (2531). กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย : วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ สมัยธนบุรีกับการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398. (วิทยานิพนธ์ ////////ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). ออนไลน์

สนธิสัญญาเบาว์ริง: หนังสือสัญญาที่ว่าด้วยเรื่องระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสหราชอาณาจักร. ออนไลน์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568