สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เหมือนหรือต่างจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ไทยทำกับอังกฤษ อย่างไร?

ภาพประกอบ - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ถ่ายโดย John Thomson)

สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) คือข้อตกลงระหว่างสองชาติที่สืบเนื่องจากนธิสัญญาเบาว์ริง ระหว่างสยาม-อังกฤษ ซึ่งกระทำร่วมกันไปก่อนหน้านั้นไม่นาน (18 เมษายน ค.ศ. 1855) สนธิสัญญานี้เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ของสยาม และจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Emperor Napoleon III) แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส ก่อนการคุกคามจากฝรั่งเศสต่อสยามจะยกระดับขึ้นแล้วนำไปสู่ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ใน ค.ศ. 1893

การเกิดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1856 รวมถึงสนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ในการโอนอ่อนต่อชาติมหาอำนาจตะวันตก เพราะทรงเห็นตัวอย่างความปราชัยของชาติเอเชียทั้งหลายหลังต่อต้านหรือขัดขืนมหาอำนาจตะวันตกมาแล้ว ทั้งทรงเชื่อว่าการผูกมิตรกับชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสจะช่วยรักษาเอกสารของสยามไว้ได้

หลังข่าวคราวเกี่ยวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างสยามกับอังกฤษถูกแพร่ออกไปไม่นาน ชาร์ล เดอ มงติญี (Charles de Montigny) กงศุลฝรั่งเศสแห่งเซี่ยงไฮ้ รับหน้าที่ราชทูตพิเศษแห่งองค์จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มาทำสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ซึ่งประจวบเหมาะกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระทัยไว้ว่าอยากติดต่อฝรั่งเศสเพื่อมาคานอำนาจของอังกฤษอยู่พอดี สำหรับการเป็นตัวแทนชาติฝรั่งเศสครั้งนี้ ชาร์ล เดอ มงติญี ยึดหลักการว่า “อังกฤษได้อะไร ฝรั่งเศสต้องได้เท่ากับหรือมากกว่า” จึงเกิดเป็นสนธิสัญญาที่มีรายละเอียดสำคัญของแต่ละมาตรา ดังนี้

มาตราที่ 1 ว่าด้วยสันติภาพระหว่างสยามและฝรั่งเศส พร้อมกำหนดภาระหน้าที่ของกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ มาตรานี้ประกันความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของคนฝรั่งเศสซึ่งพำนักในสยาม รวมถึงคนสยามที่พำนักในฝรั่งเศส

กงสุลที่กรุงเทพฯ มีหน้าที่สำคัญด้านกฎหมาย จดทะเบียนชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรสยาม ผู้ซึ่งมีอาคารบ้านเรือนซึ่งจำเป็นต่อการประกอบการค้ากับชาวสยาม รวมถึงการออกหนังสือเดินทาง

มาตราที่ 2 เพื่อให้คนฝรั่งเศสไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของศาลสยาม สัญญาจึงยอมเคารพสิทธิ์และเอกสิทธิ์บางประการ แต่ยังคงยึดแนวทางไม่พึ่งอำนาจศาลสยาม แต่ใช้อำนาจกฎหมายของสถานกงสุลซึ่งเป็นตัวแทนประเทศฝรั่งเศสแทน

มาตรที่ 3 เกี่ยวกับบาทหลวงสอนศาสนา บุคคลเหล่านี้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเทศน์/สั่งสอน สร้างโบสถ์และโรงเรียนบนผืนแผ่นดินสยาม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายของสยาม

มาตรา 4 และ 5 ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่พำนักอยู่ในสยามจะต้องจดทะเบียนที่สถานกงสุล บุคคลเหล่านี้จะพำนักอย่างถาวรเพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น และในรัศมีเทียบได้กับระยะทางเรือแจวหรือเรือพายจากกรุงเทพฯ สามารถแล่นได้ถึงภายใน 24 ชั่วโมง หากพ้นขอบเขตนี้ไปแล้วจะต้องมีหนังสือเดินทาง มิฉะนั้นต้องมีโทษถึงขั้นจับกุม

ความในมาตราที่ 5 ยังระบุว่า คนฝรั่งเศสมีเสรีภาพทางการค้า การผูกขาด หรือเอกสิทธิ์เฉพาะ มิอาจขัดขวางการค้าขายของบุคคลเหล่านี้ได้ สำหรับการซื้อที่ดินจำกัดขอบเขตอยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตร โดยรอบกรุงเทพฯ ที่ดินที่ซื้อจะต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี มิฉะนั้นจะมีโทษหรือล้มเลิกสัญญาซื้อนั้น

มาตรา 15 และ 16 เรือฝรั่งเศสเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเสรี สินค้าที่บรรทุกมาสามารถลำเลียงไปยังดินแดนต่าง ๆ ในสยามได้อย่างเสรี แตกต่างจากสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ หรือ สนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ระบุว่าเรืออังกฤษทุกลำจะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสยามเพื่อจะผ่านเข้าปากน้ำ ข้อตกลงนี้จึงเอื้อประโยชน์ต่อฝรั่งเศสเป็นพิเศษ

มาตรา 15 ยังระบุว่า เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามายังแม่น้ำได้และทอดสมอได้ที่เมืองปากน้ำ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องแจ้งทางการสยามล่วงหน้าก่อนเข้ามายังกรุงเทพฯ และต้องทำการตกลงกับทางการในเรื่องตำแหน่งที่จะจอดทอดสมอ ยิ่งกว่านั้น เรือที่ประสบภัยไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้าหรือเรือรบสามารถเข้าอู่เรือของไทยได้เพื่อทำการซ่อมแซมตามความจำเป็น ยามฝั่งทั้งหลายจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่เรือฝรั่งเศสที่กำลังประสบอันตราย

มาตรา 17 กล่าวถึงการไม่เก็บภาษีใด ๆ เกี่ยวกับระวางเรือ การนำร่อง การทอดสมอ และร่องน้ำ มาตรา 18 เพียงแต่กำหนดภาษีตายตัวร้อยละ 3 ของสินค้า ส่วนมาตรา 19 กำหนดว่าการส่งออกหรือการค้าอาวุธเป็นสิ่งต้องห้าม ฝรั่งเศสขายอาวุธให้ทางการสยามเท่านั้น

มาตรา 20 ให้ฝรั่งเศสมีเสรีภาพทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า ยกเว้นสินค้าที่ทางการห้าม หรือที่ผูกขาดเป็นพิเศษ

มีข้อยกเว้นสำหรับผลผลิตจากกิจการของพระเจ้าแผ่นดิน คือ ฝิ่นและอ้อย ซึ่งยังคงเป็นสินค้าผูกขาดของพระเจ้าแผ่นดินหรือของเจ้าภาษีนายอากรที่ได้รับพระราชทานสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผลผลิตบางอย่างของเหล่าเสนาบดีหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เช่น เกลือ ข้าวเจ้า และปลา ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามยามขาดแคลน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งมีเสรีภาพในการซื้อผลผลิตเหล่านี้ในยามปกติ ทูตฝรั่งเศสจึงพยายามกำจัดสิทธิในการหวงห้ามนี้โดยระบุว่า “ข้อห้ามนี้จะต้องพิมพ์ล่วงหน้าหนึ่งเดือนและจะต้องไม่มีผลย้อนหลังไม่ว่าในกรณีใด ๆ”

ฝรั่งเศสยังพยายามทำให้เหล้าองุ่นของฝรั่งเศส สุราประเภทบรั่นดี แอลกอฮอล์จากองุ่น และบรรดาเหล้าหวานคอนยัคเป็นสินค้าปลอดภาษีทุกชนิด เสียเฉพาะภาษีขาเข้าร้อยละ 3 เท่านั้น จากนั้นสามารถนำออกขายได้โดยเสรี ไม่ต้องเสียภาษีหรืออากรใด ๆ เพิ่มเติม

แม้สนธิสนญาจะมีพื้นฐานเกี่ยวกับการดำรงสันติภาพของสยามและฝรั่งเศส แต่เงื่อนไขต่าง ๆ กับข้อตกลงมักเป็นเหตุแห่งความไม่เข้าใจกันระหว่างสองประเทศบ่อยครั้ง สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้การค้าของสยามเติบโตขึ้นจริง แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักตกอยู่กับฝรั่งเศส ทั้งการให้สัตยาบันยังกระทำบนเรือสินค้าลำหนึ่งชื่อ L’Aigle จากมาร์เซย์ ซึ่งแวะพักที่กรุงเทพฯ ก่อนมอบสนธิสัญญาที่ได้รับสัตยาบันแล้วแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามโดยปราศจากพิธีรีตอง เมื่อเทียบกับพิธีของอังกฤษซึ่งสุภาพและเคารพธรรมเนียมสยามอย่างยิ่งตอนทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ด้วยเหตุนี้ราชสำนักสยามจึงมองว่าฝรั่งเศสลบลู่พระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดินสยามอย่างมาก

ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติหลังสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1856 จึงไม่แน่นแฟ้นอย่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระทัยเอาไว้ และสภาวการณ์ต่าง ๆ ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งยิ่งขึ้นเมื่อเกิดกรณีข้อพิพาทเหนือดินแดนเขมรระหว่างสยามและฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ไกรฤกษ์ นานา. (2547). พระจอมเกล้ารู้เท่าทันตะวันตก “มิตรภาพอาบยาพิษ”. กรุงเทพฯ : มติชน.

ไกรฤกษ์ นานา. (2560). ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก. กรุงเทพฯ : มติชน.

เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2539). ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับประเทศฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตามเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2565