ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 125 ยืนยันสิทธิสยามเหนือ “เกาะกูด” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จวบถึงปัจจุบัน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาที่สยามเผชิญหน้ากับฝรั่งเศสเรื่องดินแดน นำสู่การเจรจาและการลงนามระหว่างกัน ที่คนไทยอาจพอคุ้นกันก็คือ หนังสือสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ลงนามกันที่กรุงเทพมหานคร ที่ยืนยันสิทธิของสยามเหนือ “เกาะกูด” พร้อมเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมสิงห์ลงมาจนเกาะกูด
สัญญาฉบับเดียวกันนี้ยังยืนยันการแลก “มณฑลบูรพา” ได้แก่ เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฏ และเมืองศรีโสภณ ของสยามให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกกับดินแดนข้างต้น
ฝรั่งเศสทำพิธีส่งมอบคืนเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะต่าง ๆ ให้สยาม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450
สนธิสัญญาข้างต้นนี้ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (ขณะนั้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ) ร่วมลงนามกับผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส คือ วี. คอลแลง เดอ ปลังซี (V. Collin De Plancy) อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีเนื้อหาบางส่วน ดังนี้
“ข้อ ๑ รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ กับเมืองศรีโสภณ ให้แก่กรุงฝรั่งเศส
ข้อ ๒ รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดกับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม
ข้อ ๓ การที่จะส่งมอบดินแดนเหล่านี้ซึ่งกันและกันนั้น จะได้จัดให้สำเร็จภายในยี่สิบวัน ตั้งแต่วันที่ได้แลกเปลี่ยนรติไฟสัญญานี้แล้ว”
มณฑลบูรพา อันประกอบด้วย 3 จังหวัด ที่สยามยอมยกให้ฝรั่งเศสในครั้งนั้น ทิศเหนือติดต่อมณฑลนครราชสีมา ทิศตะวันตกติดต่อมณฑลปราจีนบุรี ทิศใต้ติดต่อมณฑลจันทบุรี ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ มีโตนเลสาบที่อุดมไปด้วยปลาน้ำจืด และโบราณสถานขนาดมหึมาอย่างนครวัด นครธม และปราสาทอีกหลายแห่ง แต่พลเมืองเป็นชาวเขมร
ดินแดนที่ไทยแลกคืนคือเมืองด่านซ้าย อำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย ในมณฑลอุดร พลเมืองเป็นชาวลาว ส่วนเมืองตราดที่มีสถานะเป็นจังหวัดและอยู่ติดกับมณฑลจันทบุรี พลเมืองเป็นคนไทย
เกาะทั้งหลายที่รัฐบาลสยามได้คืนจากสัญญาครั้งนั้น สยามไม่ยกหรือให้รัฐบาลชาติใดเช่าต่อ
ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2496 เขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสจึงกลายเป็นเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งอ้างอิงเส้นเขตแดนกันตามหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวเสมอมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนแต่อย่างใด
“เกาะกูด” จึงเป็นของไทยตลอดมา ไม่เคยเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ที่ต้องถกเถียงกันให้วุ่นวาย
อ่านเพิ่มเติม :
- สัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ไม่ได้มีแต่เรื่อง ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสเคยเป็นเพื่อนแท้ที่ไทยวางใจ
- พระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสยอมทำสัญญา คืน “ตราด” ให้สยาม
- สนธิสัญญาปี 1909 สยามยกดินแดนมลายูให้อังกฤษเพื่อผลประโยชน์ของสองฝ่าย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125. (2550). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 24, ตอน 14.
หลวงสาครคชเขตต์, (ประทวน สาคริกานนท์). (2478). จดหมายเหตุ สมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี (พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2447. ราชบุรี. พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานปลงศพ นางขาว ศุภจตุรัส, วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2478.
พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รวบรวม. (2516). ประมวลหนังสือสัญญาใหม่และอนุสัญญาระหว่างกรุงสยามกับประเทศฝรั่งเศสกับคำอธิบายประกอบ และ หนังสือสัญญาโบราณครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์ตรี ผิน เอี่ยมสุนธา, วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2516.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567