ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่เดินทางมาเยือนสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงต้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา ก่อนจะเดินทางต่อไปยังญี่ปุ่น ได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ซึ่งหลายส่วนเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาสภาพสังคมไทยสมัยอยุธยา หนึ่งในนั้นคือลำดับชั้นพระสงฆ์ไทยในอดีต
ลำดับชั้นพระสงฆ์ไทยในอดีต
ในหนังสือ ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ที่กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้เรียบเรียง และแปลเป็นภาษาไทยเอาไว้ แกมป์เฟอร์บันทึกเกี่ยวกับฐานานุกรม ลำดับชั้นพระสงฆ์ไทยสมัยอยุธยาว่ามีอยู่ 5 ระดับด้วยกัน ดังนี้
1. เจ้าเณร (Dsiaunce) หรือสามเณร ลำดับอ่อนสุด เสมอนักเรียนสงฆ์ เมื่ออายุบรรลุ 20 ปี จึงได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็น “เจ้ากู” มีพิธีฉลองใหญ่โต หรือที่เรียกว่า “อุปสมบท”
2. เจ้ากู (Dsiakus) หรือพระภิกษุสงฆ์สามัญ แกมป์เฟอร์อธิบายว่า เจ้ากูจะอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ อาศัยในบ้านคล้ายคอนแวนต์ (สำนัก/ชุมชนนักบวช) เป็นหลัง ๆ ใกล้ ๆ กับตัวโบสถ์ วิหาร พระในแต่ละคอนแวนต์ จะมี “หลวงวัด” เป็นผู้ปกครอง
3. หลวงวัด (Luangwad) หรือสมภาร (Sompan) เป็นผู้ปกครองวัด (เจ้าอาวาส) โดยวัดทั้งหมดในจังหวัด หรือเมืองจะขึ้นกับ “พระครู”
4. พระครู (Prahkhru) หรือพระราชาคณะ แกมป์เฟอร์ให้ทัศนะว่าพระครูมีศักดิ์คล้าย “บิชอป” หรือมุขนายกของฝั่งตะวันตก ซึ่งพระครูและคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรจะอยู่ใต้บังคับบัญชาของ “พระสังฆราช” อีกที
5. พระสังฆราช (Prah Sankaraj) อยู่ในราชธานีอยุธยา ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินสยาม แกมป์เฟอร์ระบุว่าพระสังฆราชนับว่าทรงสังฆานุภาพสูงสุดในราชอาณาจักร เพราะแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องถวายคารวะสักการ
แกมป์เฟอร์เล่าด้วยว่า พระสงฆ์สยามนั้นมิได้เป็นชนชาติใดชนชาติหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะใครที่มีจิตศรัทธาก็สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ รวมถึงผู้ที่มีครอบครัวแล้ว ก็สามารถละทิ้งชีวิตคฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) มาบวชอยู่วัดได้เช่นกัน
นอกจากนี้ พระสงฆ์ยังมีสถานะพิเศษในสังคมไทย คือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักร ตราบใดที่ยังเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ อาณาจักร (รัฐบาล) จะยื่นมือเข้าไปลงโทษทัณฑ์ในสถานใดก็ตามไม่ได้ เว้นแต่จะทำผิดทางโลก จึงจะถูกจับสึกเสียก่อน แล้วค่อยโดนลงอาญา
แต่แม้จะไม่เป็นที่เลื่อมใสนับถืออย่างแต่ก่อนแล้ว การลงทัณฑ์พระที่ถูกจับสึกก็ยังถือว่าเบากว่าฆราวาสอยู่ดี
จะเห็นว่าลำดับชั้นและสถานภาพพระสงฆ์สมัยอยุธยาไม่ได้ต่างจากสมัยปัจจุบันมากนัก เพียงสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยสมัยใหม่จะมี “ชั้น” และ “อันดับ” ละเอียดยิบย่อยมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระสงฆ์” ไทย กับคิ้วที่หายไป พระสงฆ์ (ไทย) เริ่มโกนคิ้วตั้งแต่เมื่อไหร่?
- แผนที่กรุงศรีอยุธยาของหมอแกมป์เฟอร์ เผยจุดปลงศพแม่นมโกษาปาน!
- แกมป์เฟอร์ เล่าสภาพเกาะเมืองอยุธยา คล้าย “ฝ่าเท้า” ถนน-บ้านขุนนางล้วน “สกปรก”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อัมพร สายสุวรรณ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร. (2545). ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : อาทิตย์ คอมมูนิเคชั่น.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2567