แผนที่กรุงศรีอยุธยาของหมอแกมป์เฟอร์ เผยจุดปลงศพแม่นมโกษาปาน!

ภาพประกอบ - พระยาพระคลัง หรือโกษาปาน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หมอแกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์และนักสำรวจชาวเยอรมันในคณะทูตของฮอลันดาที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่มีโอกาสแวะพัก ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ใน พ.ศ. 2233 ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระเพทราชา ระหว่างนั้น เขาออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาและเขียนบันทึกสิ่งที่พบเห็นและร่างแผนที่กรุงสยามไว้ด้วย หมอแกมป์เฟอร์ยังบันทึกเกี่ยวกับพิธีศพของชนชนสูงซึ่งเป็นที่ทราบว่าคือ แม่นมของโกษาปาน โดยบรรยายสภาพพิธีและวัดที่ประกอบพิธีปลงศพด้วย

อชิรวิทย์ อันธพันธ์ ผู้เขียนบทความ “แกะรอย สถานที่ปลงศพแม่นมพระยาคลัง (โกษาปาน) จากแผนที่กรุงศรีอยุธยาของหมอแกมป์เฟอร์” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2563) ได้ใช้หลักฐานจากบันทึกและแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ ประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ เช่น ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยาฯ เพื่อตามหาสถานที่ปลงศพที่อยู่ในบันทึก ทั้งลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจังก่อนเสนอข้อมูลดังนี้


 

บันทึกของหมอแกมป์เฟร์ลงวันที่ 12 มิถุนายน เวลา 14 นาฬิกา ท่านได้บรรยายว่า ในวันนี้ท่านได้มางานศพแม่นมของ “พระยาพระคลัง” ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของกรุงสยามและเป็นผู้ว่าการต่างประเทศ พระยาพระคลังผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากท่าน “โกษาปาน” หมอแกมป์เฟอร์ยังบรรยายต่อว่า งานศพนี้เป็นงานศพของแม่นมท่านพระยาพระคลัง เพราะว่ามารดาแท้ของท่านเสียชีวิตและทำพิธีปลงศพไปเมื่อ 15 เดือนก่อนหน้านั้นแล้ว

นอกจากนี้หมอแกมป์เฟอร์ยังได้บรรยายถึงพิธีศพของผู้สูงศักดิ์ที่มีความหรูหราเหลือที่จะพรรณนา ขบวนเรือแห่ศพนั้นประดับประดาไปด้วยตาดและดิ้นทองทั่วทุกลำ มีมโหรี ปี่พาทย์ ฆ้อง กลอง ประโคมไปตลอดทาง พิธีปลงศพแม่นมของท่านพระยาพระคลังนี้ จัดขึ้นตรงระหว่างสาขาแม่น้ำตรงข้ามกับตัวเมือง เป็นรูปรั้วล้อมรอบด้วยธงทิวและเครื่องประดับอย่างอื่น ๆ ตรงกลางสถานที่ทำศพมีหอสูงประดับประดาอย่างงดงาม และพระเจ้าแผ่นดิน คือสมเด็จพระเพทราคา ได้เสด็จฯ มาพระราชทานเพลิงด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นเกียรติยศอย่างสูงแก่พระยาพระคลัง

สถานที่ปลงศพในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่มักจะทำในเขตวัด จึงเป็นที่น่าสนใจว่า บริเวณวัดที่จัดพิธีปลงศพแม่นมของท่านพระยาพระคลังนั้นคือวัดใด?

ภาพประกอบ – แผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับร่างของหมอแกมป์เฟอร์ แสดงสถานที่สำคัญในพระนคร

…จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม เรากลับพบร่องรอยบางอย่างที่หมอแกมป์เฟอร์ทิ้งไว้ให้เรารู้ตำแหน่งของพิธีปลงศพแม่นมของพระยาพระคลัง ซึ่งไม่ใช่บันทึกจากเล่มใด แต่เป็นแผนที่ฉบับหนึ่งที่คณะของหมอแกมป์เฟอร์ได้วาดไว้นั่นเอง

แผนที่ฉบับนี้มีจุดเด่นตรงที่ผู้วาดได้ใส่รายละเอียดของเส้นทางสัญจรภายในพระนคร นอกจากนี้ยังใส่รายละเอียดของสถานที่อย่างพระราชวัง วัดวาอาราม ประตูเมือง และป้อมปืนริมแม่น้ำรอบพระนคร ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความแม่นยำสูงมาก…

เส้นแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของเกาะเมืองในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ ตรงกึ่งกลางเราจะเห็นตำแหน่งของลำคลองแยกที่ลงไปทางทิศใต้ ลำคลองนี้คือ “คลองคูจาม” คลองเส้นสำคัญในชุมชนใหญ่ที่เรียกกันว่า “ปท่าคูจาม”

ปากคลองคูจามที่ปรากฏในแผนที่จะเห็นเรือหลายลำจอดอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรมระบุว่า

“อนึ่ง ลูกแขกชวามลายูบันทุกหมากเกาะแลหวายตะค้ากระแชงเตย สรรพเครื่องสินค้าปากใต้บันทุกเรือปากกว้างสิบศอกสามวา มาทอดสมอฃายอยู่ที่ตรงปากน้ำคูจาม”

จุดสำคัญที่เป็นไฮไลท์ของเรื่องนี้อยู่ที่ภาพในแผนที่ตรงตำแหน่งที่ถัดจากปากคลองคูจามฝั่งตะวันออก ปรากฏวัดแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ถัดจากวัดนั้นไปก็เป็นพื้นที่กำแพงสี่เหลี่ยม มีเจดีย์หรือหอสูงชะลูดตั้งอยู่ตรงกลาง ถัดจากเจดีย์หรือหอสูงเป็นอาคารวิหารหลังใหญ่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามเกาะเมือง

ภาพประกอบ – เรือบรรทุกฉัตรและเครื่องสูงในงานพิธีปลงศพตรงปากครองคูจาม

ความโดดเด่นของภาพวัดแห่งนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่าจุดนั้นต้องมีความพิเศษอะไรบางอย่างที่ผู้วาดพยายามเน้นให้ดูเด่นชัดกว่าวัดอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน อย่างเช่น ตำแหน่งของวัดพุทไธศวรรย์ ถูดวาดเหลือเพียงแค่อาคารเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ตรงข้ามปากครองฉะไกรใหญ่ ทั้ง ๆ ที่วัดนี้เป็นวัดที่ใหญ่โตและโดดเด่นมากกว่าวัดใด ๆ ในแถบนี้

ไม่เพียงแต่ขนาดของวัดที่ถูกวาดขึ้นให้มีความชัดเจนอย่างตั้งใจแล้ว ยังมีภาพเรือขนาดใหญ่จำนวน 5 ลำ (นับจากเสาสูงบนเรือ) จอดเทียบท่าริมแม่น้ำของวัด เรือทั้ง 5 ลำนี้มีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่สูงชะลูดอยู่ภายในเรือ เมื่อขยายภาพเข้าไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โครงสร้างสูง ๆ ที่อยู่บนเรือนั้นมีทั้ง “ฉัตร” และโครงสร้างไม้ที่สูงชะลูดดูแปลกไปจากขบวนเรือในจุดอื่น ๆ ที่วาดไว้

ภาพเรือที่มีลักษณะพิเศษนี้คล้ายกับภาพวาดที่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นพร้อมคำบรรยายว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม ค.ศ. 1690-1692 ของหมอแกมป์เฟอร์ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1727 (พ.ศ. 2270) ในบทที่กล่าวถึง “เส้นทางสู่กรุงสยาม (The Voyage to Siam)” ปรากฏภาพประกอบ 2 ภาพ เป็นภาพเรือ 2 ลำภาพหนึ่งเป็นเรือบรรทุกเสาฉัตรและอีกภาพหนึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องสูงเป็นโครงไม้มีฉัตรปักอยู่บนยอด พร้อมทั้งคำอธิบายภาษาอังกฤษว่า “A prow, or boat, such as the Siamites use at their funerals.” ซึ่งแปลออกมาได้ความว่า “หัวเรือ หรือเรือที่ชาวสยามใช้ในงานพิธีปลงศพ”

ภาพประกอบ – ภาพสเก๊ตช์เรือบรรทุกฉัตรและเครื่องสูงสำหรับงานพิธีศพ ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นพร้อมคำบรรยายว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม ค.ศ. 1690-1692” ของหมอแกมป์เฟอร์

นั่นแสดงว่า ภาพขบวนเรือบรรทุกฉัตรและเรือบรรทุกเครือสูงที่ปรากฏในแผนที่ฉบับนี้ คือสิ่งที่หมอแกมป์เฟอร์ได้เห็นและวาดภาพไว้อย่างสังเขปในแผนที่ของเขา หอสูงที่อยู่ภายในกำแพงสี่เหลี่ยมนั้น ต้องเป็นพระเมรุ และภาพเรือบรรทุกฉัตรและเครื่องสูงที่จอดริมตลิ่งนั้น ก็สอดคล้องกับสิ่งที่หมอแกมป์เฟอร์บันทึกไว้ว่า

“หีบสมบัตินั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าละม้ายหีบศพของเยอรมัน ปิดทองหรือปิดด้วยกระดาษทองตั้งไว้ใต้โครงอันโอ่อ่า มีเพดาน ซึ่งปิดทองเช่นกัน และประดับประดาด้วยเสาและบัวหัวเสาที่ค้ำยันบรรดาหลังคาซึ่งโค้งแอ่นมีลักษระเป็นซุ้ม โดยแตกต่างไปตามยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้วายชนม์ เคียงเรือศพมีเรืออีกลำหนึ่งขนาดยาวเท่า ๆ กัน แล่นคู่ขนานไปกับเรือศพ เรือลำนี้มีสิ่งก่อสร้างทรงพีระมิดรูปร่างเหมือนหอคอยสูงนี้ประดับทองอย่างงดงาม นอกจากนี้ก็มีเรืออื่น ๆ อีกหลายลำแล่นเป็นขบวนไปข้างหน้าและข้างหลัง ตรงกลางลำเรือปักไม้สูงสวมมงกุฎกระดาษปิดทองประมาณแปดหรือสิบชั้น ขบวนเรือทั้งหมดนี้จอดเรียงรายอยู่ตามริมตลิ่งจนกว่าพิธีจะเสร็จ”

นี่จึงเป็นภาพสำคัญที่หมอแกมป์เฟอร์ (หรือบุคคลในคณะ…?) ได้วาดไว้ในแผนที่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับเรื่องราวของงานพิธีปลงศพแม่นมของพระยายพระคลังที่ถูกบันทึกไว้ทุกประการ…

…จากแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับเก่าสุดในสมัยรัตนโกสินทร์ คือแผนที่กรุงเก่าที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 รวมทั้งแผนที่วัดร้างในสมัยอยุธยาฉบับอื่น ๆ ระบุตำแหน่งวัดที่ปากคลองคูจามไว้เหมือนกันว่าเป็น “วัดทอง” …หนึ่งในวัดที่ถูกขุดเอาอิฐไปขายจนหมดก่อนจะถูกแปรสภาพเป็นหมู่บ้านของชาวมุสลิม

ภาพประกอบ – ตำแหน่งวัดทอง ปากคลองคูจาม ในแผนที่กรุงเก่าสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4

เมื่อลงพื้นที่สำรวจสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของวัดทองก็พบว่า วัดนี้อยู่ตรงปากคลองคูจามอย่างที่แผนที่ว่าไว้จริง ๆ โดยเหลือเพียงโคกเล็ก ๆ กลางชุมชน บนโคกมีเศษอิฐวัดเก่าวางกระจัดกระจาย พอให้รู้ว่าที่นี่เคยเป็นวัดมาก่อน…

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แผนที่กรุงศรีอยุธยาของหมอแกมป์เฟอร์เป็นผลงานอันล้ำค่า ที่ได้ซุกซ่อนความลับของเรื่องราวได้อย่างมีชั้นเชิง ทำให้เราได้ไขปริศนาของสถานที่ต่าง ๆ ให้เกิดความกระจ่าง เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในอีกแง่มุมหนึ่งได้มากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2565