ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ นักธรรมชาติวิทยา นักสำรวจ และนักเขียนชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอแลนด์ (VOC) จากปัตตาเวีย (Batavia หรือจาการ์ตาในปัจจุบัน) ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2233 เพื่อถวายสาส์นต่อสมเด็จพระเพทราชา ก่อนไปยังจุดหมายปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่น แม้เขาจะมีช่วงเวลาได้พักอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามเพียงระยะเวลาไม่นาน (ประมาณ 23 วัน) แต่ได้บันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาในมุมมองของชาวต่างชาติอย่างน่าสนใจและตรงไปตรงมา
เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ มีความสนใจกรุงศรีอยุธยามาก เขาออกเดินเท้าสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ เขียนบันทึกไว้อย่างละเอียด ร่วมถึงร่างแผนที่กรุงสยามไว้ด้วย บันทึกนี้จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพกรุงศรีอยุธยาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคอยุธยาตอนกลาง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชวงศ์ปราสาททอง มาสู่ยุคอยุธยาตอนปลาย สมัยสมเด็จพระเพทราชา ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
หนังสือ “ไทยในจดหมายเหตุแกมเฟอร์” ตีพิมพ์โดยกรมศิลปากรโดยแปลจากบันทึกการเดินทางของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ กลายเป็นบันทึกจดหมายเหตุที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ บันทึกเกี่ยวกับเกาะเมืองอยุธยาในเวลานั้นได้อย่างครอบคลุมและละเอียดยิ่ง แผนที่พระนครที่เขาเขียนขึ้นใกล้เคียงความจริงและมีความคลาดเคลื่อนน้อยมาก ทั้งระยะห่างกับตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ มีข้อเท็จจริงของสภาพเกาะเมืองอยุธยา เขาบรรยายว่า เกาะเมืองมีสันฐานคล้าย “ฝ่าเท้า” มีแม่น้ำล้อมรอบทุกทิศทาง สภาพเป็นเกาะ รอบเกาะเมืองมีกำแพงอิฐและหอรบแน่นหนา แต่บางจุดขาดการทำนุบำรุง

บันทึกยังเล่าถึงความหนาแน่นของประชากรในเกาะเมืองว่า ฝั่งตะวันออกมีผู้คนหนาแน่นกว่าฝั่งตะวันตกซึ่งมักเป็นป่ารก มีหนองบึง สภาพบ้านเมืองที่เขาบรรยายยังสะท้อนความเป็นสังคมนานาชาติที่หลงเหลือตกทอดมาจากยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากการกล่าวถึงชุมชนต่างชาติที่กระจายตัวทั่วทั้งเกาะเมืองและดินแดนรอบนอก
ด้วยความเป็นนายแพทย์ เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ จึงอดไม่ได้จะติเตียนเรื่องสุขอนามัยของศูนย์กลางอาณาจักรสยาม เขาบอกว่า ถนนแทบทุกสายในพระนครล้วน “เลวและสกปรก” แม้แต่บ้านขุนนางในราชสำนักที่ใหญ่โตโอ่อ่าก็ “สกปรกมาก” ถือเป็นความตรงไปตรงมาที่เหมาะสมดี ดังปรากฏในหนังสือ “ไทยในจดหมายเหตุแกมเฟอร์” ดังนี้
“…มีคลองใหญ่ขุดจากแม่น้ำผ่านเข้าไปในเมือง จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกบ้าง จากทิศเหนือไปทิศใต้บ้าง และยังมีคลองเล็ก ๆ น้อย ๆ ซอยจากคลองใหญ่อีกเป็นอันมาก เรืออาจแล่นจากแม่น้ำเข้าไปในเมืองและจอดเทียบท่าพระราชวังและตำหนักสำคัญ ๆ ได้ ถนนก็แล่นเป็นสายตรงขนานไปตามคลอง บางสายใหญ่พอดู แต่ส่วนมาทีเดียวนั้นแคบ พูดโดยทั่วไปแล้ว เลวและสกปรกทุกสาย ลางสายในเวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมเสียอีก
…บ้านคนธรรมดานั้นเป็นทับกระท่อมเสียเป็นพื้น ปลูกด้วยไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้กลวง หนาราว ๆ 2-3 ฝ่ามือ พื้นปูกระดาน หลังคามุงจากอย่างลวก ๆ พวกขุนนางหรือเสนาบดีและข้าราชบริพารในราชสำนักมีวังหรือตำหนักอยู่ต่างหาก มีลานกว้างขวาง แต่สกปรกมาก ตึกทั่ว ๆ ไปแม้สร้างด้วยหินและปูน ก็ดูไม่สง่าผ่าเผยอะไร ห้องหับไม่สู้สะอาดหรือตกแต่งกันดีนัก ร้านโรงในเมืองเตี้ย และเป็นแบบธรรมดา ๆ ดาด ๆ แต่ว่าตั้งอยู่เป็นระเบียบเป็นแถวเป็นแนวตรงอย่างแนวถนน…”
เขายังเล่าถึงพื้นที่รอบกรุงอันเป็นบ้านเรือนของผู้คน ทั้งบนบกและเรือนแพที่ลอยอยู่ในน้ำ เล่าว่า คลองและแม่น้ำมากมายทำการสัญจรหลักของชาวสยามคือทางเรือ และวิถีชีวิตผู้คนก็ผูกพันกับแม่น้ำลำคลองพอสมควร
นอกจากสภาพถนนหนทางและชุมชนทั่วไปแล้ว เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ ยังบันทึกเกี่ยวกับพระราชวังและวัดวาอาราม มีการศึกษาและทำความเข้าใจก่อนเขียนบรรยาย เห็นได้จากเขาสามารถแบ่งพระราชวังในกรุงศรีอยุธยาเป็น 3 แห่ง ได้แก่ พระราชวังหลวง วังรัชทายาท และวังเจ้ากรมช้าง ซึ่งก็คือ วังหลวง วังหน้า และวังหลัง นั่นเอง เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ ชื่นชอบความงดงามทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของวัง วัด และพระพุทธรูปที่พบเห็นในพระนครอย่างมาก โดยเฉพาะวัดภูเขาทอง ถึงขั้นที่ร่างสำเนา แบบแปลนและรายละเอียดของเจดีย์ภูเขาทองไว้อย่างดี

บันทึกนี้ยังมีข้อมูลบางส่วนที่เป็นกล่าวถึงเหตุกาณ์จากการบอกเล่า ข้อมูลจึงอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ความโดดเด่นของบันทึกของ เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ คือ เขาแวะมาที่กรุงศรีอยุธยาในฐานะนักเดินทาง ถือแผ่นดินสยามเป็นทางผ่าน จึงพบความคิดเห็นส่วนตัวผสมกับความรู้ร่วมอยู่ไม่น้อย แตกต่างจากบันทึกชาวต่างชาติคนอื่น ๆ เช่น เดอ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับไทยด้วยผลประโยชน์บางประการ ไม่ทางศาสนาก็ทางการเมือง
อ้างอิง :
อัมพร สายสุวรรณ. (2545) ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. กองวรรณากรรมและประววัติศาสตร์ กรมศิลปกร: อาทิตย์ คอมมูนิเคชั่น.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2565