ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงอยู่ในตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือ “วังหน้า” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งช่วงนั้นมีเหตุการณ์ “วิกฤตการณ์วังหน้า” อันเป็นความขัดแย้งระหว่างวังหลวง-วังหน้า หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตใน พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ก็ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว แล้วเส้นทางชีวิตของเหล่าพระโอรสในวังหน้ารัชกาลที่ 5 ต่อจากนั้นเป็นอย่างไร?
เส้นทางชีวิตพระโอรส หลังวังหน้ารัชกาลที่ 5 ทิวงคต
ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5” ว่า
พ.ศ. 2428 ซึ่งเป็นปีที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ยังมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหน้า ที่สืบเชื้อสายตระกูล “พระปิ่นเกล้า” วังหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่หลายสิบพระองค์
ฉัตรดาวอิงข้อมูลจากหนังสือ “ตำนานวังหน้า” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบว่า ยังมีพระราชโอรสในพระปิ่นเกล้า ที่ยังทรงมีพระชนม์แน่ชัด 12 พระองค์ และมีพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่ยังทรงมีพระชนม์แน่ชัด 11 พระองค์ รวม 23 พระองค์
ทว่ามีเพียง 8 พระองค์เท่านั้น ที่รับราชการสร้างผลงานเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน กระทั่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ทรงกรม
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพระราชโอรสในพระปิ่นเกล้า 5 พระองค์ โดยทรงกรมในช่วงที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงดำรงพระชนม์ 3 พระองค์ และหลังจากที่ทิวงคตไปแล้ว 2 พระองค์
พระราชโอรสในพระปิ่นเกล้าทั้ง 5 พระองค์ ล้วนทรงกรมในตำแหน่ง “กรมหมื่น” และมักได้รับราชการในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง เช่น กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ พระอนุชาร่วมพระมารดากับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการพระราชพิธีของวังหน้า กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ทรงเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น
ส่วนพระโอรสในวังหน้ารัชกาลที่ 5 ที่ได้รับราชการทำความดีความชอบ จนได้รับพระราชทานให้ทรงกรมมี 3 พระองค์ ทุกพระองค์ล้วนแต่ได้ทรงกรมหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตไปแล้ว โดยพระองค์หนึ่งทรงกรมสมัยรัชกาลที่ 5 และอีก 2 พระองค์ทรงกรมสมัยรัชกาลที่ 6
พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทุกพระองค์ ล้วนทรงกรมในตำแหน่งกรมหมื่นเช่นกัน เช่น กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และข้าหลวงตรวจการกรมสรรพากรนอก กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
ฉัตรดาววิเคราะห์ว่า การที่เจ้านายฝ่ายวังหน้า ทั้งพระราชโอรสในพระปิ่นเกล้า และพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงกรมในตำแหน่งกรมหมื่น ซึ่งเป็นลำดับชั้นแรกของตำแหน่งกรมเจ้านาย อาจเพราะทุกพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เนื่องจากล้วนประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทั้งสิ้น การสถาปนากรมจึงเริ่มต้นเพียงระดับกรมหมื่น
นอกจากนี้ การสถาปนาให้ทรงกรมสูงขึ้นก็เป็นไปได้ยาก ทั้งจากสาเหตุของพระยศเริ่มแรก และการที่ไม่ได้ทรงดำรงตำแหน่งทางราชการในตำแหน่งสำคัญมากนัก ทำให้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้ยาก
แม้จะมีเหตุความขัดแย้งระหว่างวังหลวง-วังหน้า มาก่อน แต่รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก พระโอรสหลายพระองค์ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถในสายงานของแต่ละพระองค์
อ่านเพิ่มเติม :
- “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ มีกี่พระองค์ ใครบ้าง?
- พระราชโอรส “วังหน้า” รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นต้นราชสกุลใดบ้าง?
- ทำไม “พระราชวังบวรสถานมงคล” ที่ประทับวังหน้า รัชกาลที่ 4 ถึงเรียก “พระบวรราชวัง”?
- เปิดเนื้อหา เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่ง “พระมหาอุปราช”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2567