เปิดเนื้อหา เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่ง “พระมหาอุปราช”

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้าย รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช พระธิดาวังหน้ารัชกาลที่ 5
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เราพอทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือ “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต จากนั้นทรงประกาศสถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทตามแบบอย่างตะวันตก แต่เราอาจไม่ค่อยทราบกันว่า เนื้อหาที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช มีรายละเอียดว่าอย่างไร

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2381 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม

แรกประสูติ พระองค์ทรงอยู่ในที่ “หม่อมเจ้ายอด” ซึ่งพระนามนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็น “เจ้าฟ้าจุฑามณี” ทรงตั้งตามนาม “จอร์จ วอชิงตัน” ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขุนนางวังหน้า วังหน้าองค์สุดท้าย รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เมื่อ “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” ทรงลาสิกขาและขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาหม่อมเจ้ายอดขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ

จากนั้นใน พ.ศ. 2404 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศขึ้นทรงกรมที่ “กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ”

หลังจากรัชกาลที่ 4 สวรรคต และ “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” ทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยเหล่าขุนนางเสนาบดี ได้เลือกกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ด้วยเหตุผลเพื่อ “สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้เป็นความยินดีของพวกวังหน้าด้วย”

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทิวงคตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 จากนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว พระองค์จึงทรงเป็นวังหน้าองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เปิดเนื้อหา รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช

สมัยรัชกาลที่ 5 สยามต้องเผชิญปัจจัยท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก ขณะที่ปัจจัยภายในเองก็มีหลายเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ และบางเรื่องก็ไปเกี่ยวพันกับปัจจัยภายนอกด้วย อาทิ วิกฤตการณ์วังหน้า พ.ศ. 2417 ที่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชในท้ายที่สุด

วิกฤตการณ์วังหน้า เริ่มขึ้นจากเหตุไฟไหม้ในพระบรมมหาราชวัง ในคืนวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2417 ทหารวังหน้าพร้อมอาวุธเตรียมเข้าไปช่วยดับไฟ แต่ทหารวังหลวงขัดขวาง ความขัดแย้งลุกลามบานปลายถึงขั้นวันที่ 2 มกราคม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จไปประทับยังสถานกงสุลอังกฤษ และประทับอยู่ที่นั่นนานถึงเกือบ 2 เดือน อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด

รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

แม้สุดท้ายสถานการณ์จะคลี่คลาย มีการประนีประนอมระหว่างวังหลวงกับวังหน้า แต่ก็เป็นเสมือนบาดแผลที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้

ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2428 หรือ 7 วันหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ก็มี “ประกาศในการกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต” ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยผู้เขียนบทความ)

“ในครั้งนี้ได้ทรงปฤกษาพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และท่านเสนาบดี ข้าราชการ ผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นพร้อมกันว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น การเปลี่ยนแปลงมาหลายชั้น จนถึงกรุงสยามได้ผูกพันทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งมีธรรมเนียมบ้านเมืองผิดกันกับกรุงสยาม ก็ก่อให้เกิดเป็นที่เข้าใจผิดไปต่างๆ ด้วยตำแหน่งข้างในกรุงสยามนั้น ก็เคลื่อนคลายมาทีละน้อยๆ ไม่ยืนอยู่เหมือนอย่างแบบเมื่อแรกตั้ง

ฝ่ายผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็ไม่อาจจะเข้าใจตำแหน่งนั้นได้ชัดเจน จึงให้เกิดเป็นที่ฉงนสงสัยต่างๆ การบ้านการเมืองซึ่งจะเป็นการเรียบร้อย เป็นคุณแก่แผ่นดินอย่างใด ก็เป็นที่ขัดข้องไปหาสะดวกไม่ เป็นตำแหน่งลอยอยู่ มิได้มีคุณต่อแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่ต้องใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งจะต้องใช้รักษาตำแหน่งยศพระมหาอุปราชอยู่เปล่าๆ โดยมาก

จึงได้เห็นชอบพร้อมกันว่า ควรจะยกตำแหน่งที่พระมหาอุปราชนี้ไว้ ไม่ตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดขึ้นนั้นชอบแล้ว”

ถ้อยความที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช จึงมีดังข้างต้นนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558.

วุฒิชัย มูลศิลป์. “มหาชนนิกรสโมสรสมมุต” : พระราชประเพณีการสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๒๙” ใน, วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2567