ทำไม “พระราชวังบวรสถานมงคล” ที่ประทับวังหน้า รัชกาลที่ 4 ถึงเรียก “พระบวรราชวัง”?

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชุด ทหารเรือ ทรง สนับสนุน ยกเลิก การอยู่ไฟ ประทับ พระบวรราชวัง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้าจุฑามณี)

ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า “พระบรมมหาราชวัง” ส่วนที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราช หรือวังหน้า เรียกว่า “พระราชวังบวรสถานมงคล” แต่เหตุใดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นวังหน้า ถึงได้เรียกว่า “พระบวรราชวัง”

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล พระบวรราชวัง
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ภาพเมื่อราว พ.ศ. 2433 (ภาพ : Wikimedia Commons)

วังหน้า 6 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นตำแหน่งโดยนัยของว่าที่พระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ มีทั้งหมด 6 พระองค์ ดังนี้

วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้แก่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ

วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง

วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นวังหน้าพระองค์สุดท้าย คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เมื่อพระองค์ทิวงคตแล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงสถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นแทน เพื่อความชัดเจนในการสืบราชสมบัติ

พระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า พระบวรราชวัง
ภาพถ่ายทางเครื่องบิน บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำไมที่ประทับของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงเรียกว่า “พระบวรราชวัง”?

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องแผ่นดินรัชกาลที่ 4 มีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ ไว้ใน “นิทานโบราณคดี/นิทานที่ ๑๙ เรื่อง เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์” โดยอิงจากที่พระองค์ทรงได้ยินจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) อีกต่อหนึ่งว่า

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ [สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บิดาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ] ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่า จะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า ‘ท่านฟากข้างโน้น’ ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชาตาแรงนัก

ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้งสองพระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล”

เหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง

แต่เดิม การสถาปนาพระมหาอุปราชจะใช้ว่า “อุปราชาภิเษก” เช่น เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1-3 ทรงสถาปนาวังหน้า ก็ทรงเรียกว่าพิธีอุปราชาภิเษก

มาถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2494 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช และโปรดให้ยกพระยศขึ้นเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อทรงยกพระยศขึ้นแล้ว ก็เท่ากับว่าทรงศักดิ์สูงกว่าพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่ก่อน จึงเปลี่ยนการพิธีอุปราชาภิเษกเป็น “บวรราชาภิเษก” คือเอาแบบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปทำ ลดแต่พระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐ และมีการแก้ไขระเบียบการบางอย่าง

แม้จะเป็นพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคลเหมือนเดิม แต่ในรัชกาลที่ 4 ที่แห่งนี้เรียกว่า “พระบวรราชวัง” เนื่องด้วยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ถึงเปลี่ยนกลับไปเรียกเช่นเดิมคือ “พระราชวังบวรสถานมงคล” โดยมีกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้าพระองค์สุดท้ายที่เสด็จมาประทับ 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2567